เปลี่ยนความชอบเป็นสิ่งที่ใช่ “ครู” ผู้สร้างแรงบันดาลในการเรียนภาษาอังกฤษ

ปิยวรรณ เกาะแก้ว

“พัชราภรณ์ อินภู่” ศิษย์เก่าจากหลักสูตรศิลปศาสตร มหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม วิชาเอกการสอนภาษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรม เอเชีย ผู้มากประสบการณ์ทั้งในฐานะอาจารย์ผู้สอนหลักสูตร ครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ครูสอน ภาษาอังกฤษ ล่ามแปลภาษา มัคคุเทศก์ภาษาต่างประเทศ และเป็นอาจารย์พิเศษให้แก่หลายมหาวิทยาลัย โดยได้รับ รางวัล “พระกินรี” คนดีของแผ่นดิน 2565 สาขาผู้ส่งเสริม การศึกษาดีเด่น ภายใต้โครงการปณิธานความดี แทนคุณ แผ่นดิน คนดี คิดดี สังคมดี (คนดีของแผ่นดิน) จากสมัชชา นักจัดรายการข่าววิทยุโทรทัศน์หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นจากเรื่อง “การใช้ละครพื้นบ้าน อีสานเพื่อลดความกังวลในชั้นเรียนภาษาอังกฤษของผู้เรียน ในระดับชั้นมัธยมศึกษา” โดยมี “รองศาสตราจารย์ ดร. สิงหนาท น้อมเนียน” เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก

จากหัวข้อวิทยานิพนธ์  “การลดความกังวลใจของผู้เรียนช่วยผู้เรียนในการเรียนภาษาอังกฤษได้อย่างไรบ้าง

การใช้ละครพื้นบ้านอีสานในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ มีส่วนช่วยให้ผู้เรียนลดความกังวลใจลง โดยเฉพาะการพูด เพื่อสื่อสาร เนื่องจากตัวคำศัพท์และประโยคสนทนาเป็นบริบท เดียวกันกับที่ใช้อยู่ในท้องถิ่น ผู้เรียนสามารถมองเห็นภาพว่า เป็นสถานที่ใด และเข้าใจความหมายว่าหมายถึงอะไร สามารถ นำไปใช้ในบริบทใดได้บ้าง ซึ่งนอกจากช่วยลดความกังวลใจของ ผู้เรียนได้แล้ว ยังนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทที่หลากหลายได้อีกด้วย ดังคอนเซ็ปต์ที่ว่า “เมื่อเข้าใจก็จะเกิดความมั่นใจ เมื่อเกิด ความมั่นใจก็จะนำไปสู่การลดความกังวลในการใช้ภาษาอังกฤษ” 

จากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องและประสบการณ์การสอน ภาษาอังกฤษของตัวเองพบว่า โอกาสการใช้ภาษาอังกฤษของ ผู้เรียนแตกต่างกัน โดยผู้เรียนที่แทบจะไม่มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อการสื่อสารในชีวิตจริงเลย จะใช้อยู่ก็ภายในห้องเรียนเท่านั้น และการนำไปใช้ก็เป็นคนละบริบทกัน ด้วยเนื้อหาที่เรียนในชั้นเรียน เป็นแบบ Western Culture ซึ่งผู้เรียนยังไม่มีโอกาสไปเห็นจึง ทำให้มองภาพไม่ออก ดังนั้น การดึงเอาวัฒนธรรม เรื่องราวทาง ประวัติศาสตร์ หรือจากการสื่อสารที่เห็นได้ทั่วไปมาใช้ในการจัด การเรียนการสอน จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจว่าจะใช้อย่างไร

การที่ใครสักคนจะเก่งภาษาได้มาจากอะไรและปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้นักเรียนไทยไม่สนุกกับการเรียนมาจากปัจจัยใดโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ

“การเก่งภาษา” หรือมีทักษะเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัย หลาย ๆ อย่าง  จากประสบการณ์ในการเป็นครูสอนภาษา และทำวิจัย อันดับแรกที่ต้องมีคือ “แรงจูงใจ” ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันให้เราขวนขวายและพยายามที่จะฝึกฝนและพัฒนาตัวเอง ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ โดยแรงจูงใจของคนที่ต้องการพัฒนาภาษาจะ แตกต่างกัน บางคนต้องการนำไปใช้เพื่อท่องเที่ยวต่างประเทศ ไปทำงาน หรือสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ ต่อมาคือ “โอกาส” แต่ละคนมีโอกาสในการใช้ภาษาไม่เท่ากัน แต่ทุกคนก็ สามารถสร้างโอกาสในการเรียนรู้ได้ โดยสร้างบรรยากาศในการเรียน ภาษาจากสิ่งที่เราชอบที่เราสนใจ เช่น การดูหนังหรือฟังเพลง ภาษาอังกฤษ พูดบ่อย ๆ ฟังบ่อย ๆ ผ่านสื่อเทคโนโลยีและสื่อสังคม ออนไลน์ต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความคุ้นเคยและเคยชิน เข้าใจ และนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้นักเรียนไทยไม่สนุกกับการเรียน ภาษาเป็นเพราะผู้เรียนขาดความมั่นใจ โดยมีสาเหตุจากบรรยากาศ ในการเรียนไม่น่าสนใจและมีความเครียด เช่น ถูกครูผู้สอนดุ ถูกตำหนิ กังวลว่าจะถูกทำโทษ และถูกมองจากคนรอบข้างหรือ คนใกล้ตัว ว่าผู้เรียนแสดงออกในการใช้ภาษาอังกฤษเกินควร หรือเป็นความทรงจำวัยเด็กที่ทำให้ผู้เรียนฝังใจ

คนส่วนใหญ่มีมุมมองว่าหากอยากพูดหรือเก่งภาษาต้องไปอยู่หรือเรียนที่ต่างประเทศอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร

จากประสบการณ์ของตัวเองมองว่า การเก่งภาษา ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ก็สามารถเก่งภาษาได้  หากมีแรงจูงใจ มีการฝึกฝน พัฒนา และ หาโอกาสอยู่เสมอ สำหรับตนเองเริ่มต้นจาก “ความชอบ” กับ “แรงจูงใจ” ในสมัยเรียนชั้นประถมศึกษามีความคิดว่า อยากช่วย คนต่างชาติให้สื่อสารกับคนไทยได้ หรือช่วยคนไทยให้ขายของกับ ชาวต่างชาติได้ ประกอบกับความชอบในภาพยนตร์เรื่อง “แฮรี่ พอตเตอร์” จึงสร้างจินตนาการว่า หากตัวละครที่ชอบได้เดินทาง มายังประเทศไทย เราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถสื่อสารกับ พวกเขาได้ จึงเริ่มหาวิธีฝึกพูดภาษาอังกฤษโดยการเข้าร่วมชมรม “ยุวมัคคุเทศก์” ที่โรงเรียนพิมายวิทยา จังหวัดนครราชสีมา โดยทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์นำชมปราสาทหินพิมายในทุกวันหยุด สุดสัปดาห์ จุดนี้เองทำให้ได้ฝึกฝนทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาไทยในการนำชม รวมถึงได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น และเข้าใจประวัติศาสตร์ไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากภาษาไม่สามารถ แยกออกจากวัฒนธรรมได้ มีภาษาก็ต้องมีวัฒนธรรม มีวัฒนธรรม ก็จำเป็นต้องมีภาษา การทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์นี้จึงถือเป็น จุดเริ่มต้นในการหาประสบการณ์การใช้ภาษาอังกฤษนอกห้องเรียน ดังนั้น แม้จะไม่ได้ไปต่างประเทศเราก็สามารถเก่งภาษาได้

อาจารย์มีแนวทางการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของผู้เรียนได้อย่างไร

“หากชอบอะไร เราจะทำสิ่งนั้นได้ดี แม้สิ่งนั้นจะยากหรือมีอุปสรรค” สำหรับตัวเองเห็นว่ามีหลายแนวทางที่จะช่วยพัฒนาทักษะของ เราได้ โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวก่อน เช่น หากชอบดูภาพยนตร์หรือ ชอบฟังเพลงก็ให้ฝึกภาษาอังกฤษโดยดูภาพยนตร์หรือฟังเพลง ที่มีการใช้ Subtitle เป็นภาษาอังกฤษ  ก็จะได้เรียนรู้การใช้ คำศัพท์หรือการใช้ Tense ต่าง ๆ หากชอบพบปะผู้คนก็สามารถ เลือกแอปพลิเคชันที่ช่วยให้เรามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ เพื่อนชาวต่างชาติได้ เป็นการฝึกทักษะภาษาอังกฤษที่เราเป็น ผู้สร้างสถานการณ์ขึ้นมาเอง แต่หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรก็ให้ เข้าร่วมกิจกรรมในชมรมต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้เรียนระดับมัธยม ศึกษาและอุดมศึกษา จะมีชมรมหรือกิจกรรมให้เลือกมากมาย เช่น การโต้วาทีภาษาอังกฤษ การนำพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เรา อยากจะเป็นหรือชอบ สิ่งแวดล้อมจะหล่อหลอมสิ่งนั้นให้กับเรา

จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของอาจารย์อะไรคือสิ่งที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้

ในการทำงานที่ผ่านมาในทุกสายอาชีพมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ ภาษาและวัฒนธรรมทั้งสิ้น เริ่มจากเป็นอาจารย์ ทำให้รู้จักปรับตัว และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัย เราต้องปรับให้เข้ากับ ทุกบริบท ต้องเปลี่ยนไปตามลักษณะของผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน ความแตกต่างจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการออกแบบการเรียนการสอน และการทำความเข้าใจผู้เรียนจะช่วยให้เราสามารถพัฒนาวิธีการ สอนได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายการเป็นล่าม การแปลภาษา เป็นการทำงานที่ทำให้ได้รู้จักผู้คน มากมายจากหลากหลายประเทศ ได้เรียนรู้ผู้คนจากทุกมุมโลก ได้เรียนรู้ทัศนคติของผู้คนต่างถิ่นที่ไม่อาจจะศึกษาได้จากหนังสือ โดยส่วนตัวมีมุมมองของการทำงานล่ามและการแปลภาษา ในเรื่องของการได้เผยแพร่วัฒนธรรมของเราให้ต่างชาติได้รับรู้ ขณะเดียวกันเราเองก็ได้มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมของชนต่างชาติ เช่นกัน ซึ่งการใช้ภาษาอังกฤษต้องคำนึงถึงบริบทและวัฒนธรรม ในประเทศนั้น ๆ ด้วยเสมอ

ความรู้ที่ได้เรียนในสาขาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมวิชาเอกการสอนสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียมีส่วนช่วยอย่างไรกับการทำงาน

การเรียนในระดับปริญญาโทในสาขาวิชาเอกการสอนภาษาทำให้ มีความรู้และทักษะในการทำวิจัยอย่างแท้จริง เป็นการเปิดมุมมอง ให้ตัวเองในการทำวิจัยด้านการเรียนการสอน ซึ่งตนเองจบการศึกษา จากคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ความรู้ในสาขา การสอนภาษาช่วยต่อยอดในการออกแบบและการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม สามารถช่วย แก้ปัญหาได้อย่างหลากหลาย นอกจากเรื่องการเรียนรู้ด้าน การสอนภาษาแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องของวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย 

ในส่วนของการเป็นล่ามและมัคคุเทศก์ ทำให้เข้าใจผู้คนจาก หลากหลายประเทศในเรื่องของวัฒนธรรมที่ต่างกัน ช่วยเรื่องการวางตัว ให้ถูกต้องตามกาลเทศะ และเสริมทักษะการแปลที่ทำให้เข้าใจ ความคิดและวัฒนธรรมของผู้คนในแบบที่เขาเป็น ทำให้ใช้ภาษา ได้อย่างมั่นใจ เช่น การนำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สามารถ อธิบายได้ตรงจุดว่า ในบริบทภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไร เป็นการใช้ ภาษาอังกฤษอธิบายเรื่องของวัฒนธรรมได้อย่างเห็นภาพชัดเจน

อยากฝากอะไรถึงผู้ที่สนใจหรืออยากก้าวมาเป็นครูสอนภาษา

การเป็น “Teacher Role Models” จะต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ สิ่งต่าง ๆ ให้แก่ผู้เรียน ต้องช่วยนำทางให้ผู้เรียนเดินทางไปสู่ ความสำเร็จได้เช่นเดียวกับเรา ซึ่งแบบอย่างของครูที่ดีคือ ต้องเป็น ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียน เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติแก่ผู้เรียน ต้องฝึกฝนอย่างไรจึงสำเร็จ ต้องแสดง Passion กับการใช้ ภาษาอังกฤษที่สามารถถ่ายทอดไปยังผู้เรียน ต้องมีการเรียนรู้และ พัฒนาตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รวมถึงทักษะต่าง ๆ ที่ครูผู้สอน ภาษาควรมี เช่น การออกเสียงต้องให้ชัดเจน ความมั่นใจในการ พูดสื่อสาร เป็นต้น 

การทำสิ่งใดก็ตามต้องเริ่มจากความชอบให้เป็นสิ่งที่ใช่ และให้สิ่ง ที่ใช่เป็นทักษะของเรา การสร้างแรงบันดาลใจ เช่น การไป ต่างประเทศเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ย่อมชักจูงเราให้หาวิธีการ เดินก้าวไปสู่ความสำเร็จ ด้วยการขวนขวายที่จะเรียนรู้และ พัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอและเปิดรับการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งจะทำให้เราพบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้