ในปีพุทธศักราช 2558 กลุ่มประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือ อาเซียน (ASEAN) ได้มีมติร่วมกันว่า จะผนึกศักยภาพของมวลหมู่สมาชิกให้เกิดความเป็นปึกแผ่น ด้วยแนวคิดสร้างเป็นคำขวัญไว้ว่า "หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม" (one vision, one identity, one community) ซึ่งนั่นก็หมายความว่า จะเกิดการเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ทั้งในรูปของเศรษฐกิจการค้า การลงทุน สังคม และวัฒนธรรมกันครั้งมโหฬาร
ประเทศไทย เป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีภาษาไทยเป็นภาษาราชการ ซึ่งการจะเผยความรู้สึกนึกคิดให้แก่คนต่างชาติต่างภาษาได้เข้าใจความเป็นไทยนั้น ส่วนหนึ่งยังต้องประกอบด้วย "การเข้าใจภาษาไทย"
ความต้องการรู้ภาษาไทยของชาวต่างชาตินั้น มีเป็นจำนวนมาก (ทั้งนี้ ยังมิได้มีการสำรวจ หรือระบุข้อมูลไว้อย่างเป็นทางการ เป็นการประเมินจากข้อมูลที่มีผู้ประสงค์จะเรียนรู้ภาษาไทยที่ติดต่อมาทางหน่วยงาน สถาบันวิจัยภาษาฯ มหาวิทยาลัยมหิดล) และมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ต้องการรู้เพียงเพื่อสื่อความกับชาวไทย ต้องการรู้ระบบเขียนเพื่อสืบค้นหาความรู้ และรู้เพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพเป็น "ครูภาษาไทย" ก็มี
แต่ความจริงในระบบภาษาคือ "คนที่พูดได้ ใช่จะสอนภาษาเป็น" หมายความว่า คนที่พูดภาษาอังกฤษทุกคนเป็น ก็ใช่ว่าจะสอนภาษาอังกฤษได้ เช่นเดียวกับชาวไทยที่พูดภาษาไทยได้ ก็มิได้หมายความว่าจะสอนภาษาไทยเป็นทุกคน
ครูที่สอนภาษานั้น เปรียบกับเจ้าของร้านขายของชำ ที่ "ต้องรู้" ว่าสินค้าในร้านของตนเองวางอยู่ชั้นใด เช่น ไม้ขีด ผงชูรส มะขามเปียก ฯลฯ เมื่อลูกค้ามาถามซื้อสินค้า คนขายในร้านชำย่อมที่จะฉวยเอาสินค้ามาบริการแก่ลูกค้าได้โดยพลัน ทักษะเช่นนี้มิใช่มีมาแต่กำเนิด หากแต่เกิดจากการคลุกคลีกับสินค้า มีการจัดเรียงให้เป็นที่เป็นทาง เมื่อทำซ้ำๆ บ่อยๆ ก็จะเกิดการจำได้หมายรู้ กลายเป็น "ทักษะการขายสินค้าในร้านชำ" ไปโดยปริยาย
ดังนั้น การจะเป็นครูสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาตินั้น ก็สามารถที่จะเรียนรู้และฝึกได้ อย่างน้อย คนไทยซึ่งเป็นเจ้าของภาษา ถือว่ามีพื้นฐานของภาษาไทยอยู่แล้ว หากมาทำความเข้าใจภาษาไทยอย่างเป็นระบบ และจัดเรียงเนื้อหาที่จะสอนอย่างเป็นแบบแผน ประกอบการนำความรู้ทางจิตวิทยาการเรียนรู้ พร้อมกับสื่อการสอนที่ครูผู้สอนได้ผลิตขึ้นด้วยความตั้งใจ จะทำให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์ และบรรลุสู่การใช้ภาษาไทยได้โดยไม่ยาก
งานบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นความสำคัญของการเผยแพร่ภาษาไทยสู่ชาวต่างชาติ จึงได้จัดโครงการอบรมเทคนิคการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ ให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป
|