Mahidol University     |     Webmail     |     RILCA Intranet     |     Contact     ||     EN     |     TH     |           
 
RILCA SUSTAINABLE DEVELOPMENT GOALS (SDGS)
เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 

KEY TOPICS
OTHERS      
     

ชื่องานวิจัย :
คลังข้อมูลดิจิทัลของกลุ่มชาติพันธุ์: ส่งเสริม การปกป้อง และดำรงรักษาความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมในประเทศไทย
คณะ/สาขาวิชา :

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย

ที่มาและความสาคัญ :

โครงการวิจัยนี้ให้ความสำคัญในเรื่อง การสูญเสียความหลากหลายทางภาษาและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีผลทำให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์เล็กๆสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการนี้มุ่งเน้นที่จะพัฒนาวิธีการอนุรักษ์ความหลากหลายทางภาษาและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยปราชญ์และคนในชุมชนเองรวมทั้งพัฒนาศักยภาพคนในระดับท้องถิ่น มีการพัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัลที่ชุมชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงได้ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยในระดับนักวิชาการ ทำให้เกิดผลกระทบระดับสังคม โดยพื้นที่ชุมชนของกลุ่มภาษาในภาวะวิกฤตจะอยู่ในเป้าหมายของการพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยังยืน เพื่อให้มีความเสมอภาค และเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

ผลกระทบของภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและการเจริญเติบโตของเมือง ทำให้มองข้ามความสำคัญของชุมชนคนกลุ่มน้อยที่สูญเสียวิถีชีวิตแบบเดิม และพยายามที่จะเข้าถึงแหล่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจในเมือง ความกดดันดังกล่าวทำให้ประชาชนดิ้นรนเคลื่อนย้ายแหล่งที่อยู่อาศัย เพื่อเข้าสู่สังคมเมือง ทำให้คนเหล่านั้นเปลี่ยนมาใช้ภาษาหลักที่มีความสำคัญกว่าภาษาของตนเอง เช่น ไม่มีการส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพราะรุ่นผู้อาวุโสต้องแยกกันอยู่กับคนรุ่นลูกหลาน หากภาษาหายความรู้ที่สืบบทอดกันมายาวนานก็หายไปด้วย เพราะภาษาเป็นสิ่งที่ใช้ถ่ายทอดวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์เล็กๆมักไม่เคยมีการบันทึกองค์ความรู้มาก่อน ปัจจุบันชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในโลกจำนวนมากพยายามหาวิธีการที่จะธำรงรักษาภาษาและความรู้ทางวัฒนธรรมเหล่านั้นไว้

ประเทศไทยมีกลุ่มภาษาทั้งสิ้นประมาณ 70 กลุ่ม ในจำนวนนี้มีภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤตถึง 15 กลุ่ม โครงการนี้จึงมุ่งเน้นความร่วมมือการวิจัยหลัก 2 ประเด็น ได้แก่
1) การสร้างคลังข้อมูลดิจิทัล โดยออกแบบคลังข้อมูลดิจิทัลสำหรับชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงข้อมูล เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ท้องถิ่นได้ด้วยตัวเอง เป็นการส่งเสริมการดูแลรักษา และอนุรักษ์มรดกทางภาษาวัฒนธรรมของกลุ่มภาษาในภาวะวิกฤต
2) ในระดับวิชาการและเผยแพร่สู่สาธารณะ มีการฝึกอบรมนักวิจัยท้องถิ่นและคนในชุมชนในการบันทึกองค์ความรู้และทำคลังข้อมูลดิจิทัล และจัดประชุมเพื่อเผยแพร่ผลงานทั้งระดับท้องถิ่นและนานาชาติ

ขอบเขต/พื้นที่ศึกษา :
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในประเทศไทย
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อจัดทำระบบคลังข้อมูลดิจิทัลให้เป็นมาตรฐาน และมีโครงสร้างที่เหมาะสมเพื่อรองรับการศึกษาวิจัยและรวบรวมองค์ความรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤต โดยผ่านเว็บไซต์ http://www.mukurtu.org
2. จัดทำมาตรฐานการเก็บรักษาข้อมูลด้านภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย (โดยรวบรวมจากผลงานที่ทำงานร่วมกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มากว่า 20 ปี) ให้พร้อมเผยแพร่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์เอง และนักวิชาการทุกสาขาวิชาสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้
3. สร้างบุคลากรให้สามารถจัดทำคลังข้อมูลดิจิทัล มีความรู้ด้านการดูแลรักษาข้อมูลให้สามารถใช้งานได้ในระยะยาว และมีความรู้ด้านการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ
4. สร้างเครือข่ายการทำงานด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมกับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ
5. ฝึกอบรมและจัดการประชุมระดับชุมชนและระดับนานาชาติเผยแพร่การจัดทำคลังข้อมูล เพื่อให้ตระหนักถึงองค์ความรู้ที่หลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย และคุณค่าที่กำลังจะสูญหายไปพร้อมกับกลุ่มคน รวมทั้งคุณค่าของการเก็บรักษาข้อมูลเหล่านี้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ในการส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
แหล่งทุนสนับสนุน :
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) / Newton Fund Institutional Links, British Council
หน่วยงานที่ร่วมมือ :
ELAR, SOAS University of London, University of Hawi'i
ผู้มีส่วนได้เสีย : 1. ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในประเทศไทย, สถานศึกษาตามภูมิภาคต่างที่ทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์
2. นักวิชาการสาขาต่างๆที่สนใจ และผู้สนใจทั่วไป
3. บุคลากรของสถาบันฯ ที่ทำงานเกี่ยวกับการบันทึกความรู้ทางภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ และทำคลังข้อมูลฯ
4. กระทรวง และหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบเชิงนโยบาย และส่งเสริมนโยบายภาษาแห่งชาติ
ระดับความร่วมมือ : นานาชาติและชุมชน
ผลลัพธ์ที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อ :

ผลลัพธ์ของโครงการคลังข้อมูลดิจิทัลของกลุ่มชาติพันธุ์ฯ นั้นได้รับการนำไปใช้ประโยชน์หลายด้าน ได้แก่ ด้านสาธารณะ ด้านชุมชนและพื้นที่ และด้านวิชาการ
เว็บไซต์คลังข้อมูลดิจิทัลของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย LangArchive-TH มีประโยชน์ในด้านสาธารณะ เนื่องจากเป็นเว็บไซต์ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย จึงมีการเข้าใช้งานโดยสมาชิกจากชุมชนเจ้าของภาษาซึ่งมีส่วนร่วมตั้งแต่การบันทึกข้อมูลภาษาและวัฒนธรรม เพื่อการเก็บรักษาความรู้ท้องถิ่นเอาไว้เพื่อถ่ายทอดสู่ลูกหลานต่อไป นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการและบุคคลทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อเรียนรู้หรือนำไปศึกษาต่อ สามารถเข้ามาหาข้อมูลได้

ในด้านชุมชนและพื้นที่นั้น ส่งผลมาจากการที่คณะวิจัยได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ Language documentation and archiving สำหรับนักวิชาการ อาจารย์ นักศึกษา และเจ้าของภาษาในหลายพื้นที่เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจัดทำคลังข้อมูลดิจิทัลทางภาษาและวัฒนธรรม ผลจากการจัดอบรบนั้นทำให้โครงการฯ ได้ผลิตบุคลากรซึ่งเป็นนักวิชาการและเจ้าของภาษาที่มีความรู้ความสามารถในการบันทึกและบรรจุข้อมูล เช่น ชุมชนมลายูปาตานี และชุมชนตากใบ นักวิชาการในสถาบันการศึกษาท้องถิ่น 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ทีมวิจัยได้วางแผนจัดอบรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ครบทุกภูมิภาค แต่เกิดการระบาดของ COVID-19 เสียก่อน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเดินทาง จึงได้ยกเลิกการอบรมไป

สุดท้ายคือการนำประโยชน์ไปใช้ในด้านวิชาการ คณะวิจัยได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการทำโครงการฯ มาผลิตผลงานด้านวิชาการ ได้แก่ หนังสือ "การจัดทำคลังข้อมูลดิจิทัลด้านภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย" ที่ได้รวบรวมองค์ความรู้สำคัญในการจัดทำคลังข้อมูลออนไลน์เพื่อเป็นแนวทางให้บุคคลหรือองค์กรที่สนใจจัดทำคลังข้อมูลด้วยตนเองในอนาคต รวมทั้งได้นำหนังสือไปมอบให้แก่ผู้ที่เคยเข้าร่วมการอบรมการจัดทำคลังข้อมูลฯ อีกด้วย นอกจากนี้ คณะวิจัยได้เขียนต้นฉบับของบทความเรื่อง "Community Archiving of Ethnic Groups in Thailand" เพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ สาขาวิชา Language documentation และ Archiving ต่อไป

Web link : https://langarchive-th.org/
SDG Goal ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ :
รูปภาพประกอบ :
 

Research Institute for Languages and Cultures of Asia, Mahidol University
999 Budhamonthon Sai 4, Salaya, Budhamonthon, Nakhon Pathom 73170, Thailand. Tel. (662) 8002308-14 Fax. (662) 8002332