ผสานภาษาศาสตร์กับอักษรโบราณเพื่องานบริการสังคม

ดร.ยุทธพร นาคสุข

อาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุข ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ เป็นผู้มี ความเชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ ภาษาตระกูลไท และอักษรโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ไท ผลงานวิจัยส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับภาษา วัฒนธรรม และอักษรโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ไททั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังมีความเชี่ยวชาญด้านภาษา วรรณกรรม และประวัติศาสตร์ล้านนาอีกด้วย 

ในด้านการสอน อาจารย์ ดร.ยุทธพรรับผิดชอบสอนในรายวิชาอักษรไท วิทยาภาษาถิ่น ภาษาศาสตร์ เชิงประวัติ และภาษาศาสตร์ภาษาพม่าของหลักสูตรภาษาศาสตร์ ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และยังเป็น อาจารย์พิเศษให้อีกหลายมหาวิทยาลัย ในปี 2563 อาจารย์ ดร.ยุทธพรได้รับการเชิดชูเกียรติจากกรมส่งเสริม วัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย นับเป็นรางวัลที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง

ทราบว่าอาจารย์จบปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์แล้วข้ามสายมาเป็นนักภาษาศาสตร์ได้อย่างไรคะ

ใช่ครับ ผมจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสา โรงเรียนประจำอำเภอเล็ก ๆ ที่จังหวัดน่าน ค่านิยม ของคนที่นั่น ถ้าใครเรียนดีหน่อยก็ไม่พ้นต้องเรียน สายวิทย์ ค่านิยมของผมสมัยนั้นก็เช่นกัน หลังจาก จบชั้นมัธยมแล้ว ผมสอบเข้าเรียนได้ที่ภาควิชา คณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่ออยู่ชั้นปีที่ 2 ผมก็เริ่มรู้ตัวเองว่ารักทางด้านภาษา มากกว่า พอขึ้นปี 3 ผมจึงเริ่มลงทะเบียนเรียน รายวิชาภาษาไทยในฐานะวิชาเลือกสะสมเอาไว้ เมื่อจบปริญญาตรี สาขาวิชาคณิตศาสตร์แล้ว ผมก็มา ตรองดูว่าถ้าเราจะเป็นอาจารย์ทางภาษา พื้นความรู้ จะต้องแน่น ไม่เช่นนั้นก็จะไม่รู้จริงสักอย่าง สุดท้าย ผมจึงตัดสินใจเรียนปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาไทย ที่คณะมนุษยศาสตร์อีกใบหนึ่ง เรียนเพียง 2 ปี ก็จบ เพราะเคยเก็บหน่วยกิตสะสมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว 

จากคำถามที่ว่าผมมาเป็นนักภาษาศาสตร์ ได้อย่างไร จริง ๆ แล้วผมไม่ได้ตั้งใจจะเป็น นักภาษาศาสตร์ตั้งแต่แรก ความตั้งใจเดิมผมอยาก จะเป็นอาจารย์สายภาษาไทยหรือนักภาษาโบราณ ถึงได้เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนสาขาจารึกภาษาไทยที่ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อมาสถาบัน วิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบทเปิดรับ สมัครอาจารย์สาขาขาดแคลน (ภาษาพม่า) ผมจึง มาสมัคร เพราะตอนเรียนที่คณะมนุษยศาสตร์ ผม เรียนภาษาพม่าเป็นวิชาโท ในครั้งนั้นผมได้รับคัดเลือก ให้รับทุนพัฒนาอาจารย์ จึงได้เข้ามาทำงานที่สถาบันฯ อย่างทุกวันนี้ แม้ว่าจะมาเป็นนักภาษาศาสตร์โดย ไม่ได้ตั้งใจ แต่ผมก็มีความสุขกับเส้นทางสายนี้และ พอใจกับโชคชะตาครั้งนี้อย่างยิ่งครับ

ด้วยเหตุที่อาจารย์จบปริญญาโททางด้านจารึกภาษาไทยเพราะเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้อาจารย์ดำเนินโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณของชาวไทยยวนในเขตภาคกลางและอาจารย์มีแนวคิดในการดำเนินโครงการนี้อย่างไรคะ

ใช่ครับ ด้วยเหตุที่ผมเป็นคนไทยยวนประการ หนึ่ง ผมเชี่ยวชาญอักษรของกลุ่มชาติพันธุ์ไทประการ หนึ่ง และผมทำงานในมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในจังหวัด นครปฐมประการหนึ่ง ผมจึงคิดว่า ควรจะได้ทำ ประโยชน์ให้แก่ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยบนพื้นฐาน ความถนัดและความเชี่ยวชาญของผมเอง จึงได้เสนอ โครงการนี้ขึ้น พื้นที่ดำเนินโครงการของผมคือ หมู่บ้านท่าเสา ตำบลห้วยม่วง อำเภอกำแพงแสน ต้องขอขอบคุณผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่จัดสรรทุน สนับสนุนจากเงินรายได้ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2564 ให้ดำเนินโครงการนี้ 

โครงการดังกล่าวออกแบบการทำงานร่วมกับชุมชน เนื่องจากต้องการให้คน ในชุมชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของเอกสารโบราณที่มีอยู่ และร่วมกันอนุรักษ์ภาษาและ วัฒนธรรมของตน แต่การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น คนในชุมชนจำเป็นต้องมี ความรู้เกี่ยวกับอักษรท้องถิ่นและสามารถอ่านอักษรท้องถิ่นของตนให้ได้เสียก่อนครับ

ผลการดำเนินโครงการเป็นอย่างไรบ้างคะ

โครงการนี้มีการวางแผนกิจกรรมเป็นขั้นเป็นตอน บางกิจกรรมก็บรรลุตาม เป้าหมายเป็นอย่างดี แต่บางกิจกรรมก็ยังไม่เป็นที่พอใจครับ 

กิจกรรมแรก ผมต้องการให้คนในชุมชนมีความรู้เรื่องตัวอักษรที่ใช้ภายในชุมชน ของตัวเองก่อน จึงได้จัดการอบรม “อักษรธรรมล้านนาเพื่อการอนุรักษ์เอกสารต้นฉบับ” ให้แก่ชาวไทยยวนบ้านท่าเสาและบุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การอบรม ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวน 30 คน จาก 10 จังหวัดทั่วประเทศ ผลการประเมินหลัง การอบรมพบว่า ผู้เข้าอบรมเกือบทั้งหมดมีความพึงพอใจในระดับสูง ผู้เข้าอบรมท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยประเมินว่า “เป็นการอบรมที่ประทับใจที่สุดในชีวิตที่ เคยอบรมวิชาการมา” ผลการประเมินนี้ทำให้ผมปลื้มใจและมีกำลังใจเพิ่มขึ้นมากทีเดียว 

กิจกรรมที่ 2 หลังจากที่ผู้ร่วมโครงการผ่านการอบรมอักษรธรรมล้านนาแล้ว ผมและภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัย ศิลปากร และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จึงได้ร่วมกันจัดทำวีดิทัศน์ ให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์เอกสารโบราณจำนวน 5 เรื่อง เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ผู้ร่วม โครงการสามารถสำรวจ ทำความสะอาด ซ่อมแซม จัดทำทะเบียน และทำสำเนาดิจิทัล เอกสารโบราณเบื้องต้น 

กิจกรรมที่ 3 เมื่อผู้เข้าร่วมอบรมสามารถอ่านอักษรธรรมล้านนาได้ และรู้จัก วิธีการอนุรักษ์เอกสารโบราณเบื้องต้นแล้ว ขั้นต่อไปก็จะให้ผู้เข้าอบรมได้ลงมือปฏิบัติจริง แต่ขั้นตอนนี้มีอุปสรรคที่ไม่สามารถทำให้ผู้เข้าอบรมและคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม กับกิจกรรมนี้ได้

อุปสรรคนั้นคืออะไรแล้วอาจารย์แก้ปัญหานี้อย่างไรคะ

อุปสรรคก็เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั่นเองครับ ผมกำหนดวันเวลา ดำเนินกิจกรรมไว้อย่างดี มีการเตรียมงานอย่างพร้อมสรรพ แต่ก็มีเหตุให้งดถึงสองครั้ง สองครา เพราะสถานการณ์การระบาดระลอกที่ 3 และระลอกที่ 5 

โชคดีที่ผมมีเครือข่ายจากภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัย ศิลปากรคือ อาจารย์ ดร.ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง และอาจารย์พอพล สุกใส อาจารย์ ทั้งสองท่านได้นำคณะนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่เรียนในรายวิชาเกี่ยวกับ การอนุรักษ์เอกสารโบราณมาช่วยดำเนินการกิจกรรมที่ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่าง การดำเนินการ คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน 2565 น่าจะแล้วเสร็จครับ

ผลผลิตจากโครงการนี้มีอะไรบ้างคะ

ผลผลิตของโครงการ ได้แก่ 1. การจัดอบรมอักษรธรรมล้านนา 2 ครั้ง 2. วีดิทัศน์ให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์เอกสารโบราณจำนวน 5 เรื่อง 3. หนังสือ 2 เล่ม เล่มแรก เรื่องตำนานพญากาเผือก ได้พิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 และเล่มที่ 2 เรื่องไทยยวนบ้านท่าเสา : เอกสาร เก่าและภาษา ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำต้นฉบับ คาดว่าจะพิมพ์เผยแพร่ ได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ และผลผลิตที่สำคัญที่สุดคือ เอกสารโบราณของ ชาวไทยยวนบ้านท่าเสาที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างเป็นระบบจำนวน 300 ผูกครับ

อาจารย์มีแผนอย่างไรในอนาคตเกี่ยวกับโครงการนี้คะ

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลได้เล็งเห็นถึง ความสำคัญของโครงการ จึงได้จัดสรรงบประมาณให้ดำเนินโครงการต่อ ในปีงบประมาณ 2565 โครงการปีที่สองนี้ ผมได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการ จัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลเอกสารโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตภาคกลาง เพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน” เพื่อขยายขอบเขตการอนุรักษ์ให้กว้างกว่า การอนุรักษ์เอกสารของชาวไทยยวน เพราะจากโครงการที่ทำในปี 2564 ยังพบอักษรของกลุ่มชาติพันธุ์อี่น ๆ นอกเหนือจากอักษรธรรมล้านนาของ ชาวไทยยวนอีกหลายชนิด ได้แก่ อักษรธรรมลาว อักษรไทยน้อย อักษรไทย และอักษรขอมไทย จุดหมายปลายทางของโครงการนี้คือ การสร้างฐาน ข้อมูลดิจิทัลเอกสารโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตภาคกลาง เพื่อให้ บุคคลที่สนใจสามารถสืบค้นและดาวน์โหลดไปใช้ประโยชน์ได้

อาจารย์ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทยปี 2563 อาจารย์คิดว่าผลงานอะไรที่ทำให้อาจารย์ได้รับรางวัลในครั้งนี้คะ

จริง ๆ แล้วรางวัลผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทยหมายรวมถึง ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทยถิ่นด้วย ซึ่งตัวผมเองได้มีบทบาทในการ ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยและภาษาไทยถิ่นหลายระดับ ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา นอกจากนั้นก็ยังทำงานบริการวิชาการ ให้แก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยและภาษาไทยถิ่นหลาย หน่วยงานด้วยครับ

สุดท้ายนี้อยากให้อาจารย์ฝากอะไรถึงเยาวชนรุ่นใหม่เกี่ยวกับใช้ภาษาไทยในปัจจุบันเพื่อสร้างความตระหนักในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องและเหมาะสม

ภาษาก็เหมือนกับทุกสรรพสิ่ง ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตาม กาลเวลา เราไม่อาจบังคับให้ภาษาอยู่คงทนถาวรตลอดไปได้ ภาษาของ เยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ย่อมไม่เหมือนกับรุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย เราควรมอง ภาษาอย่างเป็นกลาง ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรหงุดหงิดกับการใช้ภาษาของคนรุ่นใหม่ หรือเอามาเป็นอารมณ์จนเกินเหตุ สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่เองก็ต้องรู้จัก กาลเทศะในการใช้ภาษา หากพูดแบบกันเองหรือใช้ภาษาแบบไม่เป็นทางการ เช่น เวลาคุยกับเพื่อนฝูง เราจะพูด จะเขียน หรือจะพิมพ์อย่างไรก็ได้ แต่เมื่อใช้ในสถานการณ์ที่เป็นทางการหรือในที่สาธารณะ เราก็ต้องพูด เขียน หรือพิมพ์ให้ถูกต้องตามแบบแผน สิ่งที่ควรตระหนักก็มีเท่านี้เองครับ