From Local to Global: การฟื้นฟูภาษาอูรักลาโวยจ จากชุมชน สู่โรงเรียน และก้าวไกลสู่สากล

ดร.มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์
Share on :

ในอดีตมีเพียงเหล่าชนชั้นขุนนาง ราชวงศ์ หรือแวดวงราชบัณฑิตแห่งอาณาจักรต่าง ๆ ที่มีสิทธิ์ในการสร้างอักษร ขึ้นใช้เพื่อบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ด้วยภาษาของชนชาติต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันกลุ่มเจ้าของภาษาชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยต่างก็ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในการออกแบบและสร้างระบบเขียนในภาษาของตนเองขึ้น ดังเช่น “กลุ่มภาษาอูรักลาโวยจ” ในพื้นที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ของประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 15 กลุ่มภาษาที่ ตกอยู่ในภาวะวิกฤตใกล้สูญ (Endangered languages)1

ปราชญ์ท้องถิ่นอูรักลาโวยจ ผู้แทนชุมชนและตัวแทนเยาวชนชาวอูรักลาโวยจ ได้เข้ามาร่วมทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น กับนักวิจัยของศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรม ในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อหาแนวทาง ในการรักษาภาษาและวัฒนธรรมของตนเองให้คงอยู่ ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา จนกระทั่ง ในปี 2563 หนังสือคู่มือระบบเขียนภาษาอูรักลาโวยจได้ดำเนินการพัฒนา ปรับแก้ ทดลองใช้ และปรับปรุงล่าสุดเพื่อนำเข้าสู่การใช้เป็นเอกสารตั้งต้นในโครงการการจัดการ ศึกษาแบบทวิ-พหุภาษา (MTBMLE) สำหรับนักเรียนอูรักลาโวยจ ในโรงเรียนบ้านสังกาอู้ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยได้สร้างสรรค์สื่อการสอนภาษาอูรักลาโวยจและ ภาษาไทยจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบหนังสือเล่มยักษ์ หนังสือเล่มเล็ก แบบเรียนอ่าน- เขียนภาษาอูรักลาโวยจและภาษาไทยนิทานภาพ ฉากภาพวัฒนธรรม เพลงอูรักลาโวยจ สำหรับเด็ก และไอซีอีเกมที่ส่งเสริมความรู้วัฒนธรรมอูรักลาโวยจและวัฒนธรรมอื่นใน เกาะลันตา

การฟื้นฟูภาษาอูรักลาโวยจในโรงเรียนโดย ความร่วมมือของชุมชนและสถานศึกษาในเกาะลันตา ได้เป็นจุดสนใจของนานาชาติ โดยสำนักข่าวจาก ประเทศญี่ปุ่นหรือหนังสือพิมพ์ Hokkaido Shimbun ได้ทราบข้อมูลอันมีความใกล้เคียงกับการฟื้นฟูภาษา ในญี่ปุ่น จึงเดินทางลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์เจ้าของ ภาษาอูรักลาโวยจ นักเรียนที่ได้เรียนรู้ภาษาอูรักลาโวยจ และผู้บริหารในโรงเรียน และตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2021

ทั้งนี้ การวางแผนการใช้ภาษาอูรักลาโวยจ ในการพัฒนาการเรียนรู้และยกระดับคุณภาพการศึกษา ของเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ได้มีความสอดคล้องกับ “นโยบายภาษาแห่งชาติ” (National Language Policy) ที่ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมและ เสมอภาคทางการศึกษาสำหรับเยาวชนกลุ่มพื้นเมือง กลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ในการได้รับ โอกาสที่จะเรียนรู้ภาษาและวิถีชีวิตของตนเองใน ระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ การส่งเสริมภาษาอูรักลาโวยจใน โรงเรียนและชุมชนยังสอดคล้องกับนโยบายระดับ สากลขององค์การยูเนสโกในเป้าหมายการพัฒนา อย่างยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ในตัวชี้วัด SDG 4: การศึกษาที่มีคุณภาพ, SDG 10: การลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาค ในสังคม, SDG 11 การพัฒนาเมือง/ชุมชนที่ยั่งยืนใน ด้านการปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมของโลก

ยิ่งไปกว่านั้น ในปีหน้า ปี 2565 เป็นการเริ่มต้น ทศวรรษแห่งการเฉลิมฉลองภาษาพื้นเมืองในระดับ สากล (2022 – 2032 International Decade of Indigenous Languages) ซึ่งการส่งเสริมและ การพัฒนาภาษาอูรักลาโวยจให้คงอยู่ในครอบครัว ชุมชน และใช้ในระบบการศึกษาท้องถิ่น รวมทั้ง การส่งเสริมภาษาแม่/ชาติพันธุ์ให้คงอยู่ในวิถีชีวิต และสังคมของประชากรทุกกลุ่มเป็นหน้าที่ของ บุคลากรศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมใน ภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนที่สำคัญใน ประเทศไทย ที่จะแสดงให้นานาประเทศเห็นถึง การทำงานที่เข้มแข็งอันก่อกำเนิดจากคนในชุมชน สู่การขับเคลื่อนและตอบสนองต่อนโยบายสากล (Local to Global)

อ้างอิง
1ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ภาษาในภาวะวิกฤตใกล้สูญ” (Endangered languages) ได้ที่เว็บไซต์ https://langrevival.mahidol.ac.th/