ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต

หน้าแรก > เกี่ยวกับเรา > ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต

ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต


ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ภาวะของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจ สังคม การเมืองระหว่างประเทศ และวัฒนธรรมสมัยใหม่มีอิทธิพลอย่างมาก การสื่อสารมีพลังไร้พรมแดนเข้าถึงแม้ในพื้นที่ห่างไกล ภาษาและวัฒนธรรมพื้นบ้านของชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยกำลังตกอยู่ในภาวะอันตรายและเสี่ยงต่อการสูญสลาย สภาวการณ์เช่นนี้เป็นภัยคุกคามความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาจกล่าวได้ว่า เป็นปัญหาคล้ายคลึงกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพตามความสนใจของนักวิทยาศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ได้คาดการณ์ทางสถิติไว้ว่าภายในศตวรรษนี้ร้อยละ 90 ของภาษาในโลกซึ่งมีกว่า 6,000 ภาษาจะต้องหายไปจากโลกนี้ เหลือเพียงเฉพาะภาษาใหญ่ ๆ เช่น ภาษาระดับนานาชาติและภาษาประจำชาติที่มีผู้พูดจำนวนมากและมีการธำรงรักษาอย่างเข้มแข็งเท่านั้น จึงจะรอดปลอดภัย

และที่สำคัญ ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับภาษายังมีความตระหนักไม่มากเพียงพอถึงความร้ายแรงของปัญหาภาวะวิกฤติทางภาษาและชาติพันธุ์ รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งจะทำลายความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมซึ่งเป็นแหล่งเก็บภูมิปัญญาของมนุษยชาติที่ติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน ส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านอัตลักษณ์ของกลุ่มชนต่าง ๆ ต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ ทำให้สังคมอ่อนแอขาดความเชื่อมั่น ความมั่นคง ซึ่งเป็นรากฐานของการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ

ในสภาวการณ์เช่นนี้ สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนประการหนึ่ง คือ การเร่งสร้างองค์ความรู้ในการจัดการกับปัญหา กล่าวคือ การศึกษาและวิธีการฟื้นฟูธำรงรักษาภาษาในภาวะวิกฤต ซึ่งยังนับว่าขาดแคลนอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างองค์ความรู้ที่สังเคราะห์ขึ้นจากประสบการณ์การศึกษาและฟื้นฟูภาษาในบริบทของภูมิภาคเอเชียและประเทศไทย ทั้งนี้ เพราะองค์ความรู้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันล้วนมาจากประสบการณ์ในกิจกรรมฟื้นฟูภาษานอกภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียจึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต” (ศฟภว.) (The Resource Center for Revitalization and Maintenance of Language and Cultures) เพื่อเป็นแหล่งของการศึกษา เรียนรู้ ฟื้นฟู และแลกเปลี่ยนวิธีการในการศึกษาและวิธีการในการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่าง ๆ ในลักษณะสหวิทยาการ สำหรับนักวิชาการทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งชุมชนต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์ขั้นต้น คือ การศึกษาและบันทึกภาษาและวัฒนธรรม อาทิ การวิจัยและอธิบายระบบภาษา การศึกษานอกสถานภาพของภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชนในพื้นที่ต่าง ๆ และในกลุ่มอายุต่าง ๆ การสร้างพจนานุกรม การศึกษารวบรวมนิทานพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน ฯลฯ เพื่อให้ได้องค์ความรู้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนที่จะเสื่อมสลายไป และวัตถุประสงค์ขั้นถัดมา คือ การร่วมมือกับชุมชนในการดำเนินกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมตามความสนใจและความพร้อมของแต่ละชุมชน โดยจัดประชุมปฏิบัติการ ฝึกอบรม และดำเนินกิจกรรมด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดพิมพ์เผยแพร่ผลงานจัดประชุมระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านวิธีการศึกษาและวิธีการฟื้นฟูภาษาแก่ชุมชนที่สนใจการจัดทำตัวเขียน การฝึกเขียน การจัดทำหนังสือในภาษาพื้นบ้าน การจัดหลักสูตรท้องถิ่น การจัดศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เป็นต้น

สถานที่ตั้ง :
ชั้น 2 อาคารภาษาและวัฒนธรรมสยามบรมราชกุมารี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

เวลาทำการ :
09.30 – 16.00 น. (วันจันทร์ – ศุกร์)

ติดต่อ :
อาจารย์ ดร.มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์
โทร. 0-2800-2308-14 ต่อ 3116, 3215, 3217, 3218

เว็บไซต์ :
https://langrevival.mahidol.ac.th