ศูนย์ภารตะศึกษา


ศูนย์ภารตะศึกษาเริ่มต้นมาจากการพัฒนาหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต วิชาเอกอินเดียศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในหกวิชาเอกของหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมและการพัฒนา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยหลักสูตรอินเดียศึกษาเริ่มเปิดหลักสูตรในปีการศึกษา 2550 ถือเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย และเริ่มรับนักศึกษาครั้งแรกในปี 2551

ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ได้จัดกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ ด้านภารตะศึกษาหรืออินเดียศึกษา อาทิ การเริ่มจัดสัมมนาวิชาการประจำปี เรียกว่า “แนวคิดและภูมิปัญญาของอินเดีย” (Annual seminar on “Indian Ideas and Thoughts”) เป็นปีแรก อันเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียกับสถานเอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย และเดือนเมษายน 2552 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียร่วมกับ International Summer School for Jain Studies (ISSJS) & Bangkok Jain Community จัดการอบรมภาคฤดูร้อน เรื่อง “Jain Philosophy” (ปรัชญาในศาสนาเชน) เป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันได้ส่งนักศึกษาหลักสูตรอินเดียศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับอินเดีย ทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในประเทศไทยและประเทศอินเดีย เช่น ในปีการศึกษา 2551 นักศึกษาหลักสูตรอินเดียศึกษาและนักศึกษาปริญญาเอกได้รับทุนทัศนศึกษาที่ประเทศอินเดียจากรัฐบาลอินเดีย และนอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ อีกหลายกิจกรรม ซึ่งได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายอินเดีย

จากการดำเนินงานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมและเป็นต้นทุนที่สร้างความมั่นใจให้กับคณะทำงานที่เริ่มต้นบุกเบิกงานหลักสูตรอินเดียศึกษาและกิจกรรมทางวิชาการ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายทางวิชาการกับนักวิชาการชาวอินเดียในประเทศอินเดีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ แล้วในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 คณะกรรมการประจำส่วนงาน สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล พิจารณาอนุมัติให้จัดตั้งศูนย์ภารตะศึกษาขึ้นในสังกัดของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาวิจัยด้านอินเดีย เพื่อสร้างความรู้และนำความรู้มาใช้ในการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต

เมื่อได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้ว ในปี 2553 ศูนย์ภารตะศึกษาได้เริ่มจัดกิจกรรมทางวิชาการ เช่น การบรรยายชุด “ภารตะศึกษาฟอรั่ม” (Bharat Studies Forum) โดยเชิญวิทยากรชาวไทยที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านอินเดียในมิติต่าง ๆ มาบรรยาย จากนั้นได้นำสาระจากการบรรยายนั้นมาเรียบเรียงทำเป็นหนังสือชุด “ภารตะศึกษาฟอรั่ม” และได้เริ่มจัดพิมพ์จดหมายข่าวสองภาษา (ภาษาไทย-อังกฤษ) คือ “India Calling” เพื่อเผยแพร่ทั้งภายในประเทศไทยและนานาชาติ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการชาวไทย อินเดีย และจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN)

นอกจากนี้ ยังได้จัดงานบริการวิชาการเพื่อสังคมในมิติต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น การบรรยายภาคภาษาอังกฤษชุด “India Talk” ได้เชิญวิทยากรชาวอินเดียที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ มาบรรยาย การบรรยายชุด “ภารตะศึกษาเสวนา” ได้เชิญคณะวิทยากรชาวไทยร่วมเสวนาในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจและประเด็นที่จะนำไปศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต รวมถึงการบรรยายพิเศษที่เน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น กลุ่มผู้ชมภาพยนตร์ กลุ่มผู้สนใจฝึกโยคะ กลุ่มครูโรงเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจต่อกลุ่มต่าง ๆ และเป็นการสร้างเครือข่ายด้วย

ในการจัดพิมพ์สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ หลายรายการ เช่น จดหมายข่าว “India Calling” หนังสือชุดภารตะศึกษาฟอรั่ม ตลอดจนหนังสือวิชาการและกึ่งวิชาการต่าง ๆ ศูนย์ภารตะศึกษายังได้มอบสิ่งพิมพ์เป็นอภินันทนาการ (จัดส่งทางไปรษณีย์) ให้กับหอสมุดมหาวิทยาลัยและคณะ หอสมุดแห่งชาติและห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศกว่า 500 แห่ง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าด้านอินเดียศึกษาในกลุ่มเป้าหมายระดับต่าง ๆ ในสังคมไทยอย่างแพร่หลาย และสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่ได้จัดทำเป็นฉบับอิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถเปิดอ่านได้ที่เว็บไซต์ https://bharatlc.mahidol.ac.th/

สถานที่ตั้ง :
ชั้น 5 อาคารภาษาและวัฒนธรรมสยามบรมราชกุมารี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม

เวลาทำการ :
08.30 – 16.00 น. (วันจันทร์ – ศุกร์)

ติดต่อ :
คุณอภิรัฐ คำวัง
โทร. 0-2800-2308-14 ต่อ 3505

Web site:
https://bharatlc.mahidol.ac.th/