การสร้างการรู้เท่าทันสื่อผู้สูงอายุไทยด้วยกลไกเชิงบูรณาการ

รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ
Share on :

จากจุดเริ่มต้นของการทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้ผู้สูงอายุไทย ในปี 2561 ทำให้คณะนักวิจัยจากกลุ่มวิจัยการสื่อสารเพื่อการพัฒนา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล มองเห็นช่องว่างทั้งในเชิงองค์ความรู้และการปฏิบัติการขับเคลื่อนงานด้านการรู้เท่าทันสื่อในกลุ่มผู้สูงอายุไทย จึงได้ทำงานวิจัย เพื่อเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจวบจนถึงปัจจุบัน ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ผลงานในเชิงวิชาการได้นำเสนอโมเดลการรู้เท่าทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” ที่นำหลักการใช้ “สติ” (mindfulness) ที่เป็น แนวทางในการดำเนินชีวิตของคนไทย บูรณาการเข้ากับทักษะ “การคิดเชิงวิเคราะห์” (Critical Thinking) ตามหลักการรู้เท่าทันสื่อ ของ UNESCO และนักวิชาการจากซีกโลกตะวันตก ซึ่งโมเดลนี้มี ลักษณะเป็นทั้งกรอบคิดและกรอบปฏิบัติในการใช้สื่อและเปิดรับข้อมูลข่าวสารในชีวิตประจำวันที่เป็นรูปธรรม เข้าใจและจดจำได้ง่าย เหมาะสมกับกลุ่มประชากรสูงวัย

โมเดลการรู้เท่าทันสื่อฯ ยังถูกพัฒนาให้เข้าถึงและสอดรับ กับลักษณะทางวัฒนธรรมของผู้สูงอายุไทย ในรูปแบบคาถารู้ทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” ที่มีนัยของการทำหน้าที่เป็นเครื่องคุ้มภัย จากการใช้สื่อ

หยุด – ยับยั้งตั้งสติ ดูอารมณ์ตัวเอง อย่าด่วนเชื่อ อย่าด่วนตัดสินใจ
คิด – คำนึงถึงความจำเป็น และผลกระทบที่จะตามมา
ถาม – หาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และเชื่อถือได้
ทำ – ตัดสินใจอย่างรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น และใช้สื่ออย่างความปลอดภัย

คณะนักวิจัยยังได้นำโมเดลการรู้เท่าทันสื่อฯ มาประยุกต์ และต่อยอดเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ หลักสูตรอบรม เสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อผู้สูงอายุ 2 หลักสูตร (หลักสูตรวัยเพชร รู้ทันสื่อและหลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ) การผลิตนักสื่อสารสุขภาวะ สูงวัยเพื่อเป็นผู้สอน (นสส. ครู ก) แอปพลิเคชันเกมออนไลน์เพื่อ การรู้เท่าทันสื่อ “STAAS” วีดิทัศน์และสปอตวิทยุรณรงค์เสริมสร้าง การรู้ทันสื่อในกลุ่มผู้สูงอายุไทย

ในขณะเดียวกัน คณะนักวิจัยก็ตระหนักถึงความสำคัญ ในการสร้างผลกระทบจากนวัตกรรมทางสังคมที่สร้างขึ้นในวงกว้าง และอย่างยั่งยืน ในปี 2564 จึงได้จัดตั้งศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อ ของผู้สูงอายุ (Intelligence Center for Elderly Media Literacy – ICEML) ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายสำคัญ ในการ “สร้าง” และ “เผยแพร่” องค์ความรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ ของผู้สูงอายุไทยที่ได้จากงานวิจัยและการสกัดองค์ความรู้ของคณะ นักวิจัย รวมถึงการวิเคราะห์และถอดบทเรียนเชิงวิชาการทั้งในและ ต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ผ่านเว็บไซต์ https://www.iceml.org

การดำเนินงานของศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของ ผู้สูงอายุ ใช้ทั้งงานเชิงวิชาการ เชิงปฏิบัติ และเชิงเครือข่ายสนับสนุน ซึ่งกันและกัน โดยมีเครือข่ายทางวิชาการที่เป็นสถาบันการศึกษา ภาคีในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สมาคม และโรงเรียนผู้สูงอายุ ที่ร่วมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสื่อและผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการสร้างสังคม สูงวัยที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายที่ 4 ของ SDGs ที่เน้น สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในปี 2566 ทางคณะนักวิจัยจึงยกระดับการทำงาน โดยมุ่งเน้นการทำงานกับ เครือข่ายในรูปแบบบูรณาการที่ชัดเจนขึ้น ภายใต้โครงการและแนวคิด “การสร้างการรู้เท่าทันสื่อให้ผู้สูงอายุไทยด้วยกลไกเชิงบูรณาการ” โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนด นโยบายเชิงสังคมเพื่อคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ คือ “กรมกิจการผู้สูงอายุ” กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และภาคประชาสังคม ที่ทำงานขับเคลื่อนขยายผลการสร้างการรู้เท่าทันสื่อให้ผู้สูงอายุใน พื้นที่ต่าง ๆ  อย่างกว้างขวางคือ “กลุ่มคนตัว D”  นำมาสู่การพัฒนา “หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ” ร่วมกัน และที่สำคัญ กรมกิจการผู้สูงอายุได้ กำหนดเป็นนโยบายในการใช้หลักสูตรนี้ในโรงเรียนผู้สูงอายุทั่วประเทศ การขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงปฏิบัติการให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ต่อสังคมในวงกว้างอย่างยั่งยืน เป็นเป้าหมายหลักในการทำงาน สร้างสมรรถนะการรู้เท่าทันสื่อให้ผู้สูงอายุของคณะนักวิจัย โดยได้ใช้ กลไกการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่หลากหลาย ตั้งแต่ตัวผู้สูงอายุ องค์กรส่วนท้องถิ่นที่ดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ สถาบัน การศึกษาที่มีบทบาทต่อการพัฒนาชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม ที่ทำงานในประเด็นเดียวกัน และองค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่กำหนด นโยบายและขับเคลื่อนงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุระดับประเทศ ทั้งนี้ นักวิจัยมีบทบาทสำคัญในการ “สร้างและใช้” องค์ความรู้ เชิงวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์ ตลอดจนผสานพลังกับเครือข่าย เพื่อพัฒนาขับเคลื่อนงานการสร้างเสริมรู้เท่าทันสื่อในกลุ่มผู้สูงอายุ จนนำไปสู่การกำหนดนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน เปิดโอกาสให้ ผู้สูงอายุไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต