มั่นคงใน ‘จุดยืน’ เชื่อมั่นในการทำงาน เพื่อประโยชน์ของ ‘สังคม’

ปิยวรรณ เกาะแก้ว

รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากคณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาเอก (Ph.D. in Journalism studies) จาก School of Journalism, Media and Cultural Studies, Cardiff University, UK และได้เริ่มต้นชีวิตในเส้นทางวิชาชีพครู มากว่า 20 ปี โดยได้มาทำงานที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล 10 ปี

การที่มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งสนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัยเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างผลกระทบต่อสังคม ทำให้รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ได้มีโอกาสทำงานวิจัยที่สร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาได้ทำวิจัยพัฒนาวิธีการสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้ผู้สูงอายุไทยที่สร้างการเปลี่ยนแปลงผู้สูงอายุไทยในเชิงประจักษ์ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อ เกมออนไลน์ฝึกทักษะการรู้เท่าทันสื่อสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังนำความรู้ที่ได้มาจากการทำงานวิจัยมาใช้พัฒนาการสอนนักศึกษา จนทำให้ในปี 2565 ได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างสาขาสังคมศาสตร์ของสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับคัดเลือกให้เป็นบุคลากรดีเด่นระดับส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งรางวัลที่ได้รับมาเป็นความภาคภูมิใจในการทำหน้าที่อาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

จุดเริ่มต้นของการเข้ามาเป็น “นักวิจัย” ที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล แห่งนี้

เป็นอาจารย์มากว่า 20 ปีค่ะ โดยเริ่มทำงานเป็นนักประชาสัมพันธ์ก่อน แต่ด้วยเป็นคนทำงานที่ไม่ชอบออกหน้า แต่ชอบคิดชอบวางแผนและทำงานเบื้องหลัง งานนักประชาสัมพันธ์จึงไม่ใช่อาชีพที่ถูกกับจริตตัวเอง แต่เลือกเป็นอาจารย์เพื่อสอนหนังสือค่ะ โดยมีหลักคิดในการทำงานว่าจะทำให้ดีที่สุดในทุกวันในอาชีพและในฐานะที่เป็นบุคลากรขององค์กร ซึ่งรางวัลที่ได้รับมาเกิดจากผู้อื่นเห็นว่าเราเหมาะสม ด้วยอาจเป็นเพราะเราทำงานมาก และงานที่ทำก็เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมมากกว่าจะทำความสำเร็จให้ตัวเอง ลักษณะงานก็เป็นงานวิจัยแบบ “Action Research” เป็นงานเล็ก ๆ ที่ทำจากคนตัวเล็ก ๆ แต่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน และช่วยให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งมากขึ้น

ทำไมจึงเลือกทำในกลุ่มผู้สูงอายุ

เพราะมองเห็นช่องว่างเห็นจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นและมีอายุยืนยาวขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเหงา ประกอบกับการเพิ่มของจำนวนสื่อทำให้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเปิดรับสื่อได้ง่ายและมากขึ้นนี่เอง จึงได้พูดคุยร่วมกับทีมวิจัยและเห็นว่าการศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุก็มีความน่าสนใจ โดยแต่ก่อนนักวิจัยส่วนใหญ่ทั้งในเมืองไทยและรอบโลกให้ความสำคัญกับเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ โดยเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนเท่านั้น ส่วนการศึกษาในประเด็นการรู้เท่าทันสื่อของกลุ่มผู้สูงอายุในขณะนั้นยังไม่อยู่ในความสนใจเหมือนในปัจจุบัน

อาจารย์มีความคิดเห็นว่า “สื่อสร้างสังคม” กับ “สังคม สร้างสื่อ” สังคมไทยมีความเอนเอียงไปในทิศทางใด และจะก่อให้เกิดผลกระทบกับสังคมหรือผู้คนอย่างไร

เป็นไปได้ทั้ง 2 ด้านเท่า ๆ กันค่ะ โดยเฉพาะด้านสื่อที่มีส่วนสร้างสังคม สื่อได้ทำหน้าที่ในการหล่อหลอมสังคม ชี้นำสังคมและความสนใจของผู้คนว่าควรสนใจเรื่องอะไร ใครทำอะไร และด้วยเหตุที่สื่อมีจำนวนเพิ่มขึ้นและเข้าถึงได้ง่าย ความรวดเร็วของการสร้างกระแสโดยสื่อ บวกด้วยผู้คนที่ลงมาเล่นกับสื่อ ภาพการทำงานของสื่อที่มีมากมายและหลากหลาย จึงเป็นตัวกำหนดบทบาทและอิทธิพลต่อสังคมไปโดยปริยาย แต่อีกด้าน สังคมก็เป็นตัวสร้างสื่อด้วยเช่นกัน เนื่องจากคุณภาพทางความคิดและมุมมองของคนในสังคมได้ปั้นสื่อให้เป็นแบบเดียวกับที่สังคมนั้นเป็น นั่นคือ “สังคม เป็นเช่นไร สื่อก็เป็นแบบนั้น” และ “สื่อเป็นแบบไหน ก็มาจากสังคมนั่นเอง” เช่นสังคมที่รอรับความช่วยเหลือ ก็มาจากวิธีคิดของคนในสังคมนั้น สื่อจึงฉายภาพและเรื่องราวที่สังคมนั้นเป็น ดังนั้นสื่อและสังคมจึงสลับกันทำหน้าที่ไปมาเป็น “สังคมสร้างสื่อ” และเป็น “สื่อสร้างสังคม” ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคมหรือผู้คนจำต้องปรับไปด้วยกันและในฐานะที่เป็นอาจารย์ด้านการสื่อสาร มองว่าสื่อมีความสำคัญและสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้หากได้รับข้อมูลที่เพียงพอและสมดุล ไม่หนักหรือเอนเอียงในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันเราจะพบว่าการนำเสนอข่าวสารส่วนใหญ่ยังขาดการคัดกรอง แต่เน้นนำเสนอข่าวตามกระแสหรือประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้คนมากกว่าจะเน้นที่คุณภาพและประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ

อาจารย์เห็นอะไรเกี่ยวกับการใช้สื่อของผู้สูงอายุทั้งด้านดีและด้านที่ควรระวัง และท่ามกลางสังคมสื่อที่รายล้อมและหลากหลาย อาจารย์เห็นว่าผู้สูงอายุควรใช้สื่ออย่างไรให้ปลอดภัย ทั้งที่เป็นความบันเทิงและความสะดวกในการใช้ชีวิต

จากงานวิจัยพบว่าผู้สูงอายุใช้สื่อมากขึ้นที่มากที่สุดคือ สื่อบุคคล โทรทัศน์ และวิทยุ ซึ่งถือว่าเป็น Top Three ของผู้สูงอายุ และสิ่งที่น่าประหลาดใจคือการใช้สื่อทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกถึง 4 ด้านคือ กาย ใจ สังคม และปัญญา โดยกายคือ การเปิดรับสื่อ ทำให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองมากขึ้น ด้านจิตใจทำให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่น และเรื่องปัญญา ทำให้มองเห็นคุณค่าในการใช้ชีวิตของตนเองมากขึ้น ส่วนในด้านเศรษฐกิจไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

นั่นคือข้อดีของสื่อที่มีต่อผู้สูงอายุที่เปิดรับสื่อ แต่ยังมีข้อควรระวังซึ่งผลสำรวจบอกว่ามิจฉาชีพและกลุ่มสื่อมองผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักทางการตลาด เป็นเหยื่อหลักของมิจฉาชีพเลยก็ว่าได้ ซึ่งข้อมูลที่ผ่านทางกลไกเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่หวังผลจะเสนอแต่ข้อดี ดังนั้นผู้สูงอายุจึงควรมีสติ ต้องคิดว่านี่คือการขายของ อย่าหลงเชื่อกับคำโฆษณา การอยู่ท่ามกลางสื่อที่มากมายการมีสติจึงเป็นสิ่งสำคัญ หมายถึง อย่าเพิ่งรีบเชื่อหรือรีบตัดสินใจ และเมื่อเปิดรับข้อมูลข่าวสารอะไร หรือใช้สื่อใหม่ ๆ ควรศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อน ให้เวลาตัวเองในการทำความรู้จักกับสิ่งใหม่ ๆ ถามตัวเองซ้ำ ๆ ว่าอยากทำแบบนั้นจริงหรือ อยากใช้สื่อนั้นจริงหรือ ซึ่งจุดอ่อนของผู้สูงอายุไทย คือ ขี้เกรงใจ มีเมตตา ซึ่งอาจเป็นผลเสียต่อตัวเองได้ในภายหลัง

ในอนาคตจะมีจำนวนประชากรกลุ่มนี้สูงมาก อาจารย์มีข้อแนะนำอย่างไรให้คนที่กำลังก้าวสู่ “การเป็นผู้สูงวัย” ให้มีชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุขทั้งกายและใจ

คำถามคือเราจะอยู่อย่างไรเมื่อต้องเป็นผู้สูงอายุ คำตอบแรกทางกายต้องมีแผน ต้องวางแผนว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขและพึ่งพาตัวเองได้ เพราะจะทำให้เรามีอิสระในการใช้ชีวิต โดยไม่หวังให้ใครมาช่วยเหลือหรือเลี้ยงดู ซึ่งเงินเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องเตรียมตั้งแต่วันนี้ ก่อนถึงวันที่เราจะก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุ ต่อมาคือทางใจ ต้องมีความสบายใจ หมายถึงอยู่คนเดียวได้โดยไม่เหงา เพราะเมื่อเหงาก็จะเปิดรับสื่อ เมื่อเปิดรับสื่อก็ถูกสื่อหลอก ความสบายใจจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องค้นหาตัวเองให้พบว่าชอบอะไรให้เลือกทำสิ่งนั้น ทำแล้วต้องมีความสุข ทำแล้วไม่เครียด เป็นงานอดิเรก เลี้ยงหมา หรืออะไรก็ได้ที่เป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตที่นำมาซึ่งความไม่เหงาและไม่เครียด

ในโลกปัจจุบันที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ซึ่งพบว่าผู้สูงอายุจำนวนมากที่ไม่รู้เท่าทันสิ่งที่มาพร้อมกับสื่อจนทำให้ต้องประสบปัญหา หรือเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อาจารย์มีข้อเตือนภัยหรือเตือนใจอย่างใรเพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ

ให้ใช้คาถา “รู้ทันสื่อ” นำทางชีวิต คือ “หยุด คิด ถาม ทำ” “หยุด” คือไม่ต้องรีบ รับข้อมูลอะไรมาก็อย่าเพิ่งรีบเชื่อ ให้เวลาในการศึกษาและ “คิด” ว่าจำเป็นหรือไม่ หรือแค่อยากได้ โดย พิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ถ้าไม่แน่ใจก็ “ถาม” หาข้อมูลเพิ่มเพื่อประกอบการตัดสินใจ ส่วนจะ “ทำ” หรือไม่ก็ได้ จะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ แต่ขอให้ผ่านกระบวนการ “หยุด คิด ถาม ทำ” เสียก่อน ซึ่งคาถานี้สามารถใช้ได้กับทุกเรื่องไม่ใช่เพียงเรื่องสื่อเท่านั้น และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากบอกกับผู้สูงอายุคือ “ไม่มีของดี ราคาถูก” “ไม่มีของฟรีในโลก” “ไม่มีคนใจดีที่หยิบยื่นความช่วยเหลือให้โดยเราไม่รู้จัก” เพราะเชื่อเสมอว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง การอยู่บนความพร้อมที่จะป้องกันตัวเอง ไม่เอาความอยากได้ อยากดี อยากเป็น เป็นตัวนำทางความรู้สึก จะทำให้เราหลุดพ้นจากกิเลสคือความโลภได้ และก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อลวงหรือข่าวลวง

ทราบว่าอาจารย์ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันชุดที่ 2 ของนวัตกรรมเกมออนไลน์ “หยุด คิด ถาม ทำ” หรือ STAAS (สต๊าซ) อยากให้อาจารย์เล่าความแตกต่างระหว่างชุดแรกกับชุดที่ 2 และเหตุใดจึงเลือกทำในรูปแบบนี้

อย่างที่ทราบว่าเกมเป็นหนทางที่จะช่วยให้ผู้สูงวัยคลายเหงาได้ หากเกมจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันสื่อ ช่วยกระตุกเตือนความคิดได้ด้วยจะยิ่งดี ซึ่งฐานคิดหลักของการสร้างเกมชุดที่สองต่างกับชุดที่หนึ่ง ตรงที่ชุดที่ 1 เกิดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทีมวิจัยไม่สามารถลงพื้นที่ได้ แต่การมีความรู้เท่าทันสื่อก็เป็นเรื่องที่หยุดรอไม่ได้ ต้องฝึกเพราะสื่อไม่ได้หยุดทำงาน ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเกมเพื่อให้ผู้สูงอายุฝึกทักษะรู้ทันสื่อด้วยตนเอง ส่วนเกมที่สองแตกต่างจากชุดแรกตรงที่บุคลิกตัวละครและสถานที่ ซึ่งชุดแรกตัวละครเป็นชายวัยเกษียณชื่อ “ครูชุบ” อยู่ต่างจังหวัด ส่วนชุดที่สองเป็นหญิงสมัยใหม่ ชื่อ “น้าแมว” เป็นคนกรุงที่เกษียณจากบริษัทเอกชน มีคาแรคเตอร์ที่ทันสมัย และอีกจุดต่างคือสถานการณ์ในชุดสองมีความหลากหลายมากกว่า คือ เป็นบุคคลที่มาชักชวน โดยมี “Scenario” ใกล้กับสิ่งที่เราต้องเจอในชีวิตประจำวัน เช่น บริเวณหน้าวัด ตลาดนัด รวมถึงการชักชวนให้ทำงานจิตอาสาทางโทรศัพท์ ดังนั้น เกมชุดที่สองจึงจำลองสถานการณ์ที่หลากหลายที่มีทั้งการใช้สื่อบุคคล สื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุประสบในชีวิตประจำวัน

อาจารย์ใช้หลักธรรมหรือแนวทางการใช้ชีวิตอย่างไร จึงทำให้มีความสุขและประสบความสำเร็จดังเช่นทุกวันนี้

หลักคิดในการใช้ชีวิตคือ “เป็นคนรู้ตัวและวิเคราะห์ตัวเองอยู่เสมอ” แบบไม่เข้าข้างตัวเอง ทั้งทางบวกและลบ เพราะการเข้าข้างตัวเองทำให้เราไม่พัฒนา ยอมรับว่าบางเวลาตัวเองยังมีนิสัยไม่ดี การรู้ตัวจะทำให้เราปรับปรุงและพัฒนาอยู่เสมอ คำถามต่อมาที่ว่าทำอย่างไรให้มีความสุข การได้ทำงานที่เป็นประโยชน์แม้เพียงแค่คนสองคนก็ทำให้เป็นสุขแล้ว มีหลายครั้งที่รู้สึกเครียดและเบื่อที่จะเตรียมสอน แต่เมื่อความรู้ที่เราได้เพียรพยายามค้นคว้ามาถ่ายทอด สามารถจุดประกายทางความคิดให้กับนักศึกษาได้ เท่านี้ก็เป็นความสุข ส่วนทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ คำตอบคือ “ไม่หยุดทำ” “ไม่เกี่ยงงาน” เป็นคนไม่ปฏิเสธงาน เพราะการทำงานคือการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งพร้อมที่จะทำเสมอ นี่จึงอาจเป็นเหตุที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

สุดท้ายอยากบอกอะไรกับ “คนวัยทำงาน” ที่วันหนึ่งจะต้องเปลี่ยนสถานะเป็น “คนสูงวัย” ด้วย

ต้องเตรียมตัวก่อนเกษียณ คือ “เตรียมกาย เตรียมใจ เตรียมเงิน” โดยวางแผนการใช้ชีวิตว่าในวันหนึ่งที่เราหลุด จากวงจรงานประจำ เรื่องกายเราจะเตรียมดูแลกายอย่างไร เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ความเสื่อมและโรคที่จะเข้ามา การเตรียมที่อยู่อาศัย เราต้องเตรียมความพร้อมให้รองรับความเป็นอยู่ให้สะดวกและปลอดภัย เรื่องเงินเราจะอยู่ได้ก็ต้องมีเงินเป็น “Fact of Life” และสุดท้ายคือเรื่องใจ เราต้องวางแผนเรื่องใจคือบอกตัวเองให้ช้าลงโดยเฉพาะการเดิน เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้ทุกสิ่งไม่เหมือนเดิม การตอบสนองช้าลงก็ต้องปรับวิธีคิด โดยสรุปคือ การเตรียมตัวไม่สำคัญเท่าลงมือทำ จึงจะทำให้ชีวิตในบั้นปลายพบกับความสุข