7 สัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปัทมา พัฒน์พงษ์ และมุทิตา เจริญศักดิ์
Share on :

“เป็นภาระ…ไม่เป็นส่วนหนึ่ง…ความสามารถในการฆ่าตัวตาย…ไร้ค่า…ว่างเปล่า…สิ้นหวังการเข้าถึงอาวุธ คือสัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย”

การฆ่าตัวตายเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ปี พ.ศ.2563 เกิดการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด 19 ทำให้อัตราฆ่าตัวตายสำเร็จสูงถึง 7.37 คนต่อประชากร หนึ่งแสนคน กล่าวคืือ มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จเกือบ 4,900 ราย (กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2563)

อัตราการฆ่าตัวตายดังกล่าวเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สาเหตุการฆ่าตัวตายไม่ได้มาจาก ปัจจัยด้านเศรษฐกิจหรือปัจจัยด้านโรคระบาดเท่านั้น การฆ่าตัวตายยังมีสาเหตุมาจากปัญหาการใช้สุรา โรคทางกาย รวมทั้งโรคจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคบุคลิกภาพผิดปกติ ไม่ว่าสถานการณ์การฆ่าตัวตายนี้เกิดจาก สาเหตุใด ก็นับเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะปัญหาการฆ่าตัวตายส่งผลกระทบหลายมิติ ทั้งต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว คนรอบข้าง และนำไปสู่ปัญหาสังคมไทยในระยะยาว

ผลการวิจัยโครงการวิจัย ภาษา การสื่อสาร และบริบทสังคมวัฒนธรรม : สัมพันธสารวิเคราะห์การใช้ภาษาของผู้มี ประสบการณ์โรคซึมเศร้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อการเฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ปีงบประมาณ 2563 พบรูปแบบการสื่อสารฆ่าตัวตายที่บุคคลใกล้ชิด ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถสังเกตสัญญาณเตือนการฆ่าตัวตายจากคำพูดและพฤติกรรมได้ เพื่อประเมินสถานการณ์และแนวโน้มในการ ฆ่าตัวตายเพื่อนำไปสู่การรับมือและป้องกันการฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ หนึ่งในผลผลิตโครงการวิจัย 1 รายการ “คู่มือรูปแบบการสื่อสาร การฆ่าตัวตาย (Suicide communication)” ได้รับการจดลิขสิทธิ์ไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทะเบียนข้อมูลเลขที่ ว. 050041

ผลการวิจัยสอดคล้องกับทฤษฎีสัมพันธภาพระหว่างบุคคลของการฆ่าตัวตาย (Interpersonal Theory of Suicide) โดย โทมัส จอยเนอร์ (2005) แวน โอเดน และคณะ (2011) ผู้ที่กระทำการฆ่าตัวตายมีแนวคิดหลัก ๆ 3 แนวคิด คือ ความรู้สึกว่าตนเป็นภาระ ความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม (รวมทั้งครอบครัวและเพื่อน) และความสามารถในการฆ่าตัวตาย  ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวสะท้อนผ่าน ภาษา รูปแบบภาษาที่แสดงสัญญาณการทำร้ายตัวเองและการฆ่าตัวตาย 3 รูปแบบ คือ

รูปแบบภาษาที่สื่อความรู้สึกเป็นภาระ

  • เราอยากตายให้มันพ้น ๆ ไป จะได้ไม่เป็นภาระ
  • ฉันเป็นตัวปัญหาที่ไม่จบไม่สิ้นเสียที ทุกคนเบื่อฉันแล้ว

รูปแบบภาษาที่สื่อความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

  • แม้ว่าจะมีผู้คนมากมาย เราก็รู้สึกโดดเดี่ยว
  • ทำไมต้องเป็นฉันที่รู้สึกเดียวดาย

รูปแบบภาษาที่สื่อความสามารถในการฆ่าตัวตาย

  • การคิดฆ่าตัวตายของฉันมันมากขึ้นทุกวัน จนฉันเคยคิดฆ่าตัวตายมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ
  • ความไร้ค่าแบบที่คิดว่าหายใจก็ยังไร้ค่า เสียเวลาตายไปซะ จบ ๆ เรื่องไป

นอกจากรูปแบบภาษาสื่อความรู้สึกที่นำไปสู่การทำร้ายตัวเองและการฆ่าตัวตาย ผลการวิจัยยังพบว่า ผู้มีความคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายยังส่งสัญญาณความคิดในการฆ่าตัวตายอีก 4 รูปแบบ คือ

รูปแบบภาษาที่สื่อความคิดที่อาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย

  • ฉันมองยาพวกนั้นที่อยู่ในมือ และแล้วฉันก็ตัดสินใจกินมันเข้าไปพร้อมกันครั้งเดียว
  • เราเริ่มกรีดข้อมือครั้งแรก เราแค่อยากให้ทุกอย่างจบลง

รูปแบบภาษาที่สื่อความคิดไร้ค่า

  • มีแต่ความรู้สึกเศร้าและไร้ค่าเต็มไปหมด
  • ทำงานไม่ได้ก็ยิ่งรู้สึกไร้ค่า รู้สึกว่าชีวิตตัวเองไร้ประโยชน์

รูปแบบภาษาที่สื่อความคิดว่างเปล่า

  • มันแค่รู้สึกว่ามันว่างเปล่าไปหมดเลย
  • ไม่ได้ทุกข์นะ แต่ทำไมไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่มีความรู้สึกต่อสิ่งใด ๆ ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่อยาก ไม่หวัง … ไม่รู้สึกอะไรเลย

รูปแบบภาษาที่สื่อความคิดสิ้นหวัง

  • ในท้ายที่สุดพวกเราเลือกที่จะหยุดขอความช่วยเหลือ ไม่ใช่เพราะพวกเราดีขึ้นหรอก พวกเราแค่สิ้นหวัง …สิ้นหวังเหมือนชีวิตจะจบสิ้น

การเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถจับสัญญาณได้จากพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงการแสดงออกผ่าน ภาษา เพราะนอกเหนือจากข้อความที่กล่าวถึงความคิดความรู้สึกอยากตาย เช่น อยากตาย หรือไม่อยากอยู่บนโลกใบนี้ แล้วนั้น เรายัง สามารถสังเกตรูปแบบภาษาอื่น ๆ ที่แสดงถึงการทำร้ายตัวเองและสื่อถึงแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายได้เช่นกัน โดยรูปแบบภาษา เหล่านี้อาจดูเป็นเพียงข้อความเชิงลบทั่ว ๆ ไป แต่หากเราพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว รูปแบบภาษาดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้สำคัญถึงแนวโน้ม ในการทำร้ายตนเองและการฆ่าตัวตายได้

หากบุคคลที่ท่านรักมีความคิดหรือกระทำการฆ่าตัวตาย ท่านจะทำอย่างไร คำถามนี้เป็นคำถามสำคัญที่ต้องหาคำตอบ รวมทั้งหาแนวทางในการดูแลผู้ที่มีความคิดฆ่าตัวตาย โดยพยายามทำให้เขาออกจาก “หลุมดำ” หรือ “กับดักชีวิต” ที่เขากำลังเผชิญอยู่ วิธีการในการช่วยให้ผู้ที่มีความคิดฆ่าตายออกจากหลุมดำนี้ จะนำเสนอในจดหมายข่าวฉบับหน้า