พหุวัฒนธรรมสมดุล

รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์
Share on :

พหุวัฒนธรรมสมดุล : การสร้างสมรรถนะระหว่างวัฒนธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยกับแรงงานต่างชาติจากประเทศเมียนมา กัมพูชา และลาว

ความท้าทายของ “การอยู่ร่วมกัน” ในยุคที่การย้ายถิ่นกลายเป็น “Megatrend”

ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ มีลักษณะเป็นสังคมพหุชาติพันธุ์จากการย้ายถิ่น มากขึ้น การย้ายถิ่นข้ามชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบ ในวงกว้างและซับซ้อนยิ่งขึ้น การย้ายถิ่นข้ามพรมแดนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี การอยู่ ร่วมกันของผู้อพยพต่างชาติไม่ว่าถาวรหรือชั่วคราวก็ย่อมมีการปะทะกันของความต่าง ทางวัฒนธรรม และสามารถส่งผลกระทบได้ทั้งในด้านบวกและลบต่อ “เจ้าบ้าน” (Hosts) และ “ผู้ย้ายถิ่น” (Immigrants) ในทุกรูปแบบและทุกระดับ ประสบการณ์ จากต่างประเทศสะท้อนให้เห็นแง่มุมของความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ซึ่งปรากฏใน หลาย ๆ สังคมในทวีปยุโรปและอเมริกา การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุชาติพันธุ์และ พหุวัฒนธรรมจึงเป็นความท้าทายใหม่ของยุคปัจจุบัน

จากกระแสการย้ายถิ่นทั่วโลกและนโยบายสนับสนุนการย้ายถิ่นระดับ ภูมิภาค รวมทั้งเงื่อนไขภายในประเทศทำให้ประเทศไทยต้องตื่นตัวในการรองรับ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่จะทวีขึ้นเรื่อย ๆ การส่งเสริมให้คนในสังคมไทย มีทักษะในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคโลกไร้พรมแดน โครงการวิจัยที่จัดทำขึ้นจึงเสนอการสร้าง “สมรรถนะระหว่างวัฒนธรรม” ให้คน ในสังคมไทยผ่านแนวคิด “พหุวัฒนธรรมสมดุล” เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้คนไทย และแรงงานต่างชาติมีสมรรถนะที่จำเป็น สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสร้างสรรค์ และนำไปสู่การสร้างสังคมสมานฉันท์ (A Cohesive Society) โดยงานวิจัยนี้ มุ่งเติมเต็มช่องว่างองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย จากการย้ายถิ่น ที่ให้ภาพครอบคลุมความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เกิดจาก การเข้ามาของแรงงานต่างชาติกลุ่มหลัก ๆ จากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้ง สถานการณ์การอยู่ร่วมกันในสังคม ที่เผยให้เห็นแง่มุมของทัศนคติที่มีต่อกันและ ความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งในเชิงบวกและลบ รวมทั้งรูปแบบของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้จะนำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาแนวทางการสร้าง สมรรถนะระหว่างวัฒนธรรม เพื่อการอยู่ร่วมกันในยุคโลกใหม่ไร้พรมแดน

การดำเนินโครงการ

การวิจัยนี้เป็นโครงการ 3 ปี (2565-2567) ดำเนินการในพื้นที่ที่มีแรงงาน ต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่สูงที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ โดยกลุ่มเป้าหมายที่ศึกษาเป็นแรงงาน ต่างชาติจากประเทศเมียนมา กัมพูชา และลาว ซึ่งการวิจัยทั้งโครงการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยการวิจัยในปีแรกเริ่มด้วยการศึกษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมใน สังคมไทยจากการย้ายถิ่นเข้ามาของแรงงานต่างชาติ ดำเนินการเก็บข้อมูลด้วย การทำแผนที่ชุมชนแรงงานต่างชาติใน 4 จังหวัด จำนวน 30 ชุมชน และการสำรวจ ประเด็นทางสังคม-วัฒนธรรมด้วยแบบสอบถามในกลุ่มแรงงานต่างชาติ 618 ครัวเรือน รวมสมาชิกในครัวเรือน 1,336 คน นอกจากนี้ยังมีการสัมภาษณ์ระดับลึกในกลุ่ม แรงงานต่างชาติ คนไทยในชุมชน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่น ร่วมกับ การสังเกตวิถีชีวิต กิจกรรมทางวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย เพื่อให้ ภาพและรายละเอียดความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทยที่เกิดจากการย้ายถิ่น ของแรงงานต่างชาติ

ผลการศึกษาในปีแรกของโครงการ

การวิเคราะห์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากการย้ายถิ่นของ แรงงานต่างชาติจากประเทศเมียนมา กัมพูชา และลาว ผ่านแนวคิด “สนามสังคม ข้ามพรมแดน” (Transnationalism) สะท้อนให้เห็นลักษณะของการข้ามชาติ (Transnational Characteristics) ค่อนข้างชัดเจนในมิติของการเคลื่อนย้าย อัตลักษณ์ เครือข่ายทางสังคม ปฏิบัติการทางวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ในช่วงกว่า 3 ทศวรรษ ที่ประเทศไทยมีการใช้แรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากจำนวนแรงงาน ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว สัดส่วนของแรงงานหญิงก็เพิ่มขึ้นอย่างมากจนใกล้เคียง กับแรงงานชาย และในปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติรุ่นที่สองที่ “โตในไทย” และ “เกิดในไทย” ซึ่งมีความเป็นตัวตนในลักษณะของ Dual Identity ที่เด่นชัด ทัศนคติ และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แตกต่างจากแรงงานรุ่นแรก ๆ นอกจากนี้ รูปแบบในการทำงานก็ได้ขยายจากงาน 3D ไปสู่งานภาคบริการมากขึ้น จนไปถึงงาน บนแพลตฟอร์มออนไลน์

การเชื่อมและถ่ายเทวัฒนธรรมระหว่างประเทศบ้านเกิดและประเทศไทย ยังทำให้เกิดเป็น “ชุมชนข้ามพรมแดน” (Transnational Community) ซึ่งพบใน กลุ่มแรงงานจากเมียนมาที่อยู่รวมกันบนฐานการมีอัตลักษณ์ร่วมชาติพันธุ์ และยัง คงไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองอย่างเหนียวแน่น มีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยแรงงาน ที่เดือดร้อนจากประเทศเดียวกัน ในขณะที่แรงงานจากกัมพูชาและลาวอาศัยกระจัด กระจาย ไม่มีการรวมกลุ่มที่ชัดเจน ในทางเศรษฐกิจพบการเกิดขึ้นของ “ธุรกิจเชิง ชาติพันธุ์” (Ethnic Business) ซึ่งมีสินค้าและอาหารพม่านำเข้าจำหน่ายทั่วไปใน ร้านค้าหรือตลาดนัดในละแวกชุมชนแรงงานต่างชาติ และยังเกิดธุรกิจที่ผู้ประกอบการ ไทยพัฒนาบริการให้แรงงานต่างชาติสามารถเข้าถึงด้วยภาษาของตนเอง ซึ่งนอกจาก แรงงานต่างชาติได้เข้ามาเป็นกำลังแรงงานในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังช่วย กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งวัฒนธรรมที่แรงงานต่างชาติส่งผ่านจาก บ้านเกิดตัวเองมาสู่สังคมปลายทางไทยได้นั้น ผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจทั้งใน ระดับมหภาคและจุลภาคนับเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ

บทส่งท้าย การวิจัยครั้งนี้สะท้อนให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มาพร้อมกับ การย้ายถิ่นของแรงงานต่างชาติจากประเทศเมียนมา กัมพูชา และลาว ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เปิดให้เห็นปฏิบัติการทางวัฒนธรรมรูปแบบใหม่และรูปแบบผสมผสาน จากการเผชิญหน้าระหว่างวัฒนธรรม (Intercultural Encounters) ซึ่งในอนาคต ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และ ในปีที่สองจะเป็นการศึกษาสถานการณ์ของการอยู่ร่วมกันในสังคม (Co-existence) ระหว่างแรงงานต่างชาติกับคนไทยในท้องถิ่น ในด้านทัศนคติที่มีต่อกันและความสัมพันธ์ ทางสังคม และรูปแบบของการอยู่ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่แนวทางการจัดการความหลากหลาย ทางวัฒนธรรมที่อยู่บนฐานของการส่งเสริมโอกาสที่เป็นธรรมและสนับสนุน ความสามัคคีทางสังคมที่จะช่วยให้พัฒนาด้านบวกของความหลากหลายทาง วัฒนธรรมให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของทั้งประเทศต้นทาง และปลายทางอย่างสร้างสรรค์