วิถีดนตรีไทย “กตัญญู” และ “ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ความสำเร็จ”

ปิยวรรณ เกาะแก้ว

ศราวุฒิ เกตุยา สังกัดงานบริการวิชาการและศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักวิชาการดนตรีไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2555 จบการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร ได้รับรางวัลนริศรานุวัดติวงศ์ ประจำปี พ.ศ.2550 ณ วังบ้านปลายเนิน ปัจจุบันปฏิบัติงานที่ศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรม ดนตรี (ประสิทธิ์ ถาวร) มีหน้าที่จัดการฐานข้อมูลทางด้านดนตรีไทยของศูนย์ฯ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านดนตรีไทย ให้กับนักเรียน นักศึกษา โรงเรียน หน่วยงานทางการศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ผ่านโครงการและกิจกรรมด้านดนตรีไทย ตลอดจนโครงการที่ส่งเสริมงานด้านศิลปวัฒนธรรมของสถาบันฯ ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการดนตรีไทย (ผู้ชำนาญการพิเศษ) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565

ศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรมดนตรีมีจุดเริ่มต้นและความเป็นมาอย่างไร และอะไรคือบทบาทสำคัญที่มีต่อสังคม

ด้วยความกรุณาของคุณครูประสิทธิ์ ถาวร (ศิลปินแห่งชาติ) ที่มอบ ลิขสิทธิ์ผลงานการบันทึกเสียงเพลงไทยให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล ในวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดีของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ ที่ให้ความอนุเคราะห์ทุนสนับสนุน ในการก่อตั้งศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรมดนตรีไทย โดยสถาบันวิจัยภาษา และวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท (เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันวิจัยภาษาและ วัฒนธรรมเอเชีย เมื่อปี 2552) เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ให้บริการทางวิชาการ และส่งเสริมการทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรมไทยที่ทันสมัยและเป็นสากลด้วยระบบเทคโนโลยี สารสนเทศ โดยจารึกชื่อเพื่อเป็นเกียรติและเป็นที่ระลึกว่า ศูนย์ข้อมูล วัฒนธรรมดนตรีไทย “ประสิทธิ์ ถาวร ศิลปินแห่งชาติ”

สำหรับภารกิจของศูนย์ฯ คือ การเป็นศูนย์กลางการผลิตและเผยแพร่ โครงการด้านศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เช่น โครงการพิธีไหว้ครูดนตรีไทย โครงการร้องรำทำเพลงที่เรือนไทย โครงการผลิตและเผยแพร่การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมสำหรับ นักศึกษาต่างชาติ ในโครงการเครือข่ายอาเซียน โครงการพัฒนา ห้องบันทึกเสียง โครงการค่ายวัฒนธรรมสำหรับเด็ก การผลิตและ เผยแพร่ผลงานของครูประสิทธิ์ ถาวร เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม (www.artslc.mahidol.ac.th) ฯลฯ  นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ เครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ศิษย์เก่าสาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา ในการจัดเสวนาวิชาการด้านดุริยางคศิลป์ และอบรมเชิงปฏิบัติการ ด้านดนตรีไทย ศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรมดนตรีแห่งนี้จึงเป็นแหล่งข้อมูล ที่สำคัญสำหรับการค้นคว้าวิจัย การให้บริการทางวิชาการและทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรมไทย ตลอดจนนำผลงานการบันทึกเสียงของคุณครู ประสิทธิ์ ถาวร มาผลิตเพื่อเผยแพร่สู่สังคมอย่างต่อเนื่อง

ชนใดไม่มีดนตรีกาล…ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถ อัปลักษณ์ฯ” จากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในฐานะที่ท่านเป็นคนดนตรีไทย คิดอย่างไรกับคำว่า “ใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ”

การฟังดนตรีน่าจะหมายถึงดนตรีทุกประเภททั่วโลก ซึ่งทุกชนชาติ ทุกภาษาย่อมมีดนตรีเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ที่แม้แต่การตีเกราะ เคาะไม้ก็นับเป็นดนตรีประเภทหนึ่ง ดังนั้น “ใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ” จึงคิดว่าไม่น่าจะมี เพราะความไพเราะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของ การฟังดนตรีของแต่ละบุคคล ผู้ที่ไม่ได้เรียนหรือศึกษาทางด้าน ดนตรีไทยก็อาจจะฟังไม่ไพเราะเท่ากับผู้ที่ศึกษาทางดนตรีไทย นั่นเป็นเพราะว่าบุคคลนั้นไม่ได้ศึกษาประวัติ ทฤษฎี ความหมาย ของเพลง หรือมีประสบการณ์ทางด้านดนตรีไทย แต่เขาอาจจะชื่นชอบ ในแนวเพลงหรือดนตรีอื่น ๆ ซึ่งพอเมื่อเกิดความชื่นชอบก็จะเข้าไป ศึกษาในเรื่องราวต่าง ๆ ของเพลงประเภทนั้น ๆ จึงกลายเป็นบทเพลง ที่ไพเราะสำหรับบุคคลนั้น

คนเราทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงดนตรีไทยได้ 

การที่จะเข้าถึงดนตรีไทยนั้น เบื้องต้นอาจจะต้องศึกษาประวัติ ความเป็นมาและพัฒนาการของมรดกวัฒนธรรมทางดนตรีไทย เพื่อให้เริ่มเข้าใจในศาสตร์ของดนตรีไทย พยายามหมั่นรับฟังดนตรีไทย บ่อย ๆ เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องของทำนองเพลง ทดลอง ฝึกหัดเล่นดนตรีไทย เปิดใจกว้าง และมีทัศนคติที่ดีต่อดนตรีไทย สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณเกิดความรู้สึกซาบซึ้งและเข้าถึงดนตรีไทย อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีไทย และ “ได้เห็น ดนตรีที่เป็นมากกว่าดนตรี”

ท่านคิดว่าจุดมุ่งหมายของการเรียนดนตรีไทย ในปัจจุบันและอดีตแตกต่างเพราะเหตุใด และสังคมที่เปลี่ยนไปมีผลต่อการเรียนดนตรีไทยอย่างไร

จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทำให้จุดประสงค์ของการเรียน ดนตรีไทยแตกต่างไปจากเดิม สมัยก่อนนั้นการเรียนดนตรีไทยเป็น การศึกษาดนตรีอย่างถ่องแท้ การเรียนแบบมุขปาฐะ (เรียนแบบ ตัวต่อตัวกับครู) เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาชีพ สามารถนำไปประกอบ อาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ครั้นเมื่อถึงเวลาประชันความสามารถ ก็สามารถบรรเลงอวดฝีมือกันได้ สร้างชื่อเสียงให้กับตนเองและคณะ ของตนเอง แต่ปัจจุบันการเรียนดนตรีไทยนั้น รูปแบบและวิธีการเรียน จะเป็นลักษณะผสมผสาน คือกึ่งอดีตและปัจจุบัน เราจะเริ่มเห็นว่ามี การเขียนตัวโน้ตลงบนเครื่องดนตรีไทยแต่ละชิ้น ซึ่งจะต่างกับสมัยก่อน ที่ครูจะเป็นผู้ใช้ปากบอกเป็นเสียงทำนองเพลง แล้วให้เราบรรเลงให้ได้ ตามเสียงและทำนองเพลงที่ครูได้เปล่งเสียงออกมา ทั้งนี้ก็เพื่อให้รู้จัก ทักษะการฟัง ฝึกสมาธิในการเรียน และฝึกการจำเพลงให้แม่นยำมากขึ้น

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้จุดมุ่งหมายของการเรียนดนตรีไทยเปลี่ยนไปคือ ในสมัยก่อนเป็นการเรียนดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันผู้เรียนต้องเรียนวิชาสามัญด้วย โรงเรียนบางแห่งก็อาจจะ เป็นในลักษณะของชมรมดนตรีไทย มากกว่าเป็นวิชาชีพเฉพาะ อย่างไรก็ตาม สังคมไทยก็ยังให้ความสำคัญกับการเรียนดนตรีไทย โดยยังมีหน่วยงานที่เป็นสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ยังคงให้ความสำคัญกับดนตรีไทยและมีเจตจำนงที่จะอนุรักษ์ ดนตรีไทยไว้ แม้ว่าวัตถุประสงค์ของการเรียนจะเปลี่ยนไปบ้างก็ตาม

(ต่อ) และท่านคิดว่าดนตรีไทยจะสร้างความมั่นคงในวิชาชีพแก่ผู้เรียนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

อาชีพนักดนตรีไทยถือเป็นอาชีพหนึ่งที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี มี ความมั่นคงและยั่งยืน เพราะถือว่าเป็นอาชีพที่รับบทบาทเป็นผู้ถ่ายทอด และดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ ดังที่เราจะเห็นได้ว่า มีการเรียนการสอนด้านดนตรีไทยในทุกหน่วยงานการศึกษา มีหน่วยงาน ของภาครัฐและเอกชนที่ยังคงส่งเสริม อนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้อยู่อย่าง แพร่หลาย และตราบใดที่สถาบันหลักของชาติยังมั่นคงและยังให้ ความสำคัญ ดนตรีไทยก็จะยังมีลมหายใจและความสำคัญ เนื่องจาก การเรียนการสอนหรือแม้กระทั่งการผลิตผลงานในรูปแบบสร้างสรรค์ ก็ยังมีการพัฒนาและปรับตัวตามยุคและสมัยที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นั่นก็เป็นเพราะเราคนดนตรีช่วยกันดูแลและแสดงออกถึงความหวงแหน ที่จะไม่ให้ดนตรีไทยสูญหายไป

“คนดีต้องรู้คุณ ศิษย์ต้องรู้บุญคุณครู” ท่านเห็นว่า ความสำคัญของ “พิธีไหว้ครู” อยู่ที่เรื่องใด

แม้สภาพสังคมในปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าจิตใจ แต่ก็ ไม่ได้ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของ “พิธีไหว้ครูดนตรีไทย” ถูกลดทอน ความสำคัญลงแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม การเข้าร่วมพิธียังถือเป็นมงคลชีวิต เป็นการแสดงความกตัญญูของศิษย์ที่มีต่อครูดนตรี เป็นการเคารพครู ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาที่ให้ความรู้ ความสำคัญของพิธีไหว้ครูดนตรีไทย จึงอยู่ที่การจัดงาน ควรจัดด้วยความตั้งใจ ความพร้อม เมื่อมีความพร้อม และความตั้งใจ ผู้มาร่วมงานหรือผู้พบเห็นจะสัมผัสได้ และทำให้ พิธีกรรมเกิดความศักดิ์สิทธิ์และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้เข้าร่วมงาน โดยมี “พ่อแก่” เป็นสัญลักษณ์ของคนดนตรีไทย เป็นศูนย์กลางของ ความเคารพและศรัทธา ซึ่งคำกล่าวของครูที่บอกไว้ “ไม่ต้องจัดทุกปี อย่าให้ลำบาก หรือต้องกู้หนี้ยืมสิน แต่จงทำด้วยความพร้อมและตั้งใจ”

(ต่อ) และพิธีกรรมนี้ส่งผลอย่างไรบ้างทั้งในแง่จิตใจ การสร้างสรรค์ และถ่ายทอดวัฒนธรรมด้านดนตรี

เป็นพิธีกรรมที่ส่งผลต่อกำลังใจของศิษย์ ซึ่งมีความเชื่อว่า เรามี ครูบาอาจารย์ที่เป็นเทพยดา และครูอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ จะคอยปกปักรักษาคุ้มครองให้บรรดา เหล่าศิษย์มีความเจริญรุ่งเรืองในการดำเนินชีวิต ซึ่งผู้ที่เข้ารับการครอบ ประสิทธิ์ประสาทวิชาผ่านพิธีกรรมจะเกิดความรู้สึกมั่นใจ มี ความหนักแน่น และมีพลังกายและใจในการศึกษาบทเพลงตามลำดับขั้น ที่ได้รับการครอบมา และสบายใจว่าตนได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดและ จารีตประเพณีของบูรพาจารย์

อยากฝากบอกอะไรถึงศิลปินนักดนตรีไทยบ้าง ที่เห็นว่าเราคนไทยควรส่งเสริมวัฒนธรรมดนตรีไทยให้คงอยู่และเข้ากับยุคสมัย

ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ทรงเห็นว่าวิชาดนตรีไทยเป็นศิลปะที่สำคัญของชาติ ดังพระบรมราโชวาท ความว่า “ศิลปะของไทยเป็นพยาน อันหนึ่งที่แสดงว่าชาติไทยเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ การที่จะรักษาแบบแผนความเจริญรุ่งเรืองนี้ไว้ มิให้เสียรูป ควรที่จะได้รวบรวมศิลปะของไทยไว้มิให้เสื่อมสูญ เพราะในปัจจุบันนี้มีศิลปะของชาติอื่นเข้ามาปะปนอยู่เป็นอันมาก อาจทำให้ศิลปะของไทยเราซึ่งอยู่ในระดับที่ดีงามอยู่แล้ว ผันแปรไปได้” (พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน, 2504) จากพระบรมราโชวาทที่พระองค์ทรงตรัสไว้นั้นจะเห็นว่า ทรงมุ่งหมายให้คนไทยทุกคนช่วยกันรักษาสมบัติชาติไว้ ซึ่งในฐานะ ที่ตนเองเป็นคนดนตรีไทย เป็นคนไทย จึงอยากฝากถึงผู้เกี่ยวข้อง ทั้งศิลปิน ครูอาจารย์ และหน่วยงานที่มีหน้าที่สืบสานและ อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะด้านดนตรีไทยว่า “เราควรช่วยส่งเสริม สนับสนุน กิจกรรมที่ส่งเสริมงานด้านดนตรีไทย และศิลปวัฒนธรรมตามบทบาทและหน้าที่ของตนเอง แม้จะเป็นกิจกรรมเพียงเล็กน้อย ก็ถือว่าท่านได้มีส่วนร่วมในการช่วย ดูแลสิ่งที่เป็นรากเหง้าของเรา จงอย่ามองวัฒนธรรมเป็นเรื่องของมูลค่าหรือรายได้ เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องของคุณค่าและ ความงามที่มีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ไม่สามารถเทียบเป็นมูลค่าได้ แค่เราได้ดูแลก็เท่ากับว่าเราได้ช่วยรักษาและสืบทอด ศิลปวัฒนธรรมของชาติแล้ว”