ชีวิตและผลงาน ศ. (เกียรติคุณ) ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์

ผู้เรียบเรียง – ปิยวรรณ เกาะแก้ว

ย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 2547 “ศ. (เกียรติคุณ) ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์” หรือ “อาจารย์สุวิไล” ได้บุกเบิกงานใหม่หลังการเกษียณอายุราชการ โดยได้ก่อตั้ง “ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต” เพื่อช่วยเหลือเจ้าของภาษาในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้สามารถฟื้นฟู ภาษาและวัฒนธรรมของตนเองให้คงอยู่ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตทางภาษา ซึ่งเป็นการนำร่องการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษา โดยใช้ ภาษาแม่หรือภาษาท้องถิ่นเป็นฐานควบคู่ไปกับภาษาไทยที่เรียกว่า Mother Tongue-based Bi/Multilingual Education (MTB-MLE) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า งานทวิภาษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ภายใต้กรอบแนวคิด “การฟื้นฟูภาษามหิดลโมเดล” (Mahidol Model) เป็นการ ทำงานร่วมกันระหว่างคณะทำงานของมหาวิทยาลัยมหิดล  เจ้าของภาษาในพื้นที่ชายแดนใต้ หน่วยงานในประเทศ และองค์กรนานาชาติ กว่า 9 ปีตั้งแต่ปี 2550-2558 และขยายผลและแนวทางการทำงานเพื่อความยั่งยืนอีก 6 ปี นับเป็นการทำงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ ส่วนรวมและประเทศชาติในวงกว้าง เป็นการทำงานที่ทำให้เกิดอาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่ นักพัฒนาสังคม และพี่เลี้ยงนักวิจัย โดยเฉพาะนักวิจัย จากชุมชนเจ้าของภาษามากกว่า 900 คนจาก 30 กลุ่มชาติพันธุ์ และมากกว่า 130 โครงการ

ตัวอย่างรางวัลการได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติ

  • รางวัลนวัตกรรมการรู้หนังสือ หรือ UNESCO King Sejong Literacy Prize 2016 จากโครงการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษา “Patani Malay-Thai Bi/Multilingual Education Project (PMT-MLE)
  • รางวัลชนะเลิศด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาระดับสากล หรือ Winner of The Endangered Language Award 2008 จาก Comite International Permanent des Linguistes (CIPL prize)
  • รางวัล 100 ปีชาตกาล หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก ประเภทบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นที่ได้รับการยกย่องและมีผลงานสำเร็จดียิ่งทางด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชน จากมูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร
  • รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ปี 2555 รางวัลระดับดี เรื่อง “นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา (ภาษาไทย – มลายูถิ่น) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้” จาก สภาวิจัยแห่งชาติ
  • รางวัลวิจัยเด่นด้านวิจัยและพัฒนาประจำปี 2553 จากกองทุนสนับสนุนการวิจัย เรื่อง โครงการจัดการศึกษาแบบทวิภาษาฯ (ไทย-มลายูถิ่น) สำหรับเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา สภาวิจัยแห่งชาติ
  • รางวัลมหิดล: ผู้มีผลงานดีเด่น สาขาการวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล

ศ. (เกียรติคุณ) ดร.สุวิไล  เปรมศรีรัตน์ ได้จากพวกเราไปอย่างสงบในเย็นวันที่ 5 มีนาคม 2567 ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมา ท่านได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์กับส่วนรวมสูงสุด พวกเราชาวสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ขอกราบลา “อาจารย์สุวิไล” ด้วยความเคารพและอาลัย ด้วยอำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และบุญกุศลคุณงามความดีที่อาจารย์ได้ ปฏิบัติบำเพ็ญมา จงเป็นปัจจัยส่งให้อาจารย์ได้ไปสถิตเสวยอุดมสุข ในทิพยวิมานสุคติสถาน ในสัมปรายภพด้วยเทอญ

ความรู้สึกของอาจารย์ต่องานด้านการฟื้นฟูภาษา

ศ. (เกียรติคุณ) ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ได้ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ แนวคิดและหลักในการทำงาน ภายใต้โครงการ Digital KM Masterclass จัดทำโดย กองพัฒนาคุณภาพ ปีที่จัดทำ 2563

เหตุที่สนใจงานด้านภาษา

เพราะภาษามีความเกี่ยวพันกับชีวิตของผู้คนที่พูดภาษา รวมถึง วัฒนธรรม ความรู้ ปัญหา หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ของผู้พูดภาษานั้น สำหรับตัวเองได้เข้าเรียนในสาขาภาษาอังกฤษ และประวัติศาสตร์ในระดับปริญญาตรี และภาษาอังกฤษในระดับ ปริญญาโท ที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ ในความรู้สึกนั้นเห็นว่า ภาษาอังกฤษทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะมีผู้ศึกษาไว้เยอะแล้ว จะทำได้ก็แต่เพียงสอน Skill และการใช้ภาษาเท่านั้น ไม่อาจศึกษา ลงลึกไปได้ว่ามีที่มาอย่างไร หรือทำประโยชน์อะไรได้มากกว่านั้น เมื่อได้พบเพื่อนคือ คุณหญิงสุริยา รัตนกุล (ศ. (เกียรติคุณ) ดร.คุณหญิงสุริยา รัตนกุล) ซึ่งทำงานเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์จึง สนใจและเริ่มทำงานด้านภาษาอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะภาษาใน กลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่มีผู้สนใจมากนัก และเห็นว่างานที่น่าสนใจคือ งานที่ยังไม่มีใครศึกษา

การตายของภาษา

การตายของภาษาเกิดจากไม่มีผู้คนสนใจก็จะค่อย ๆ สูญหายและ ตายไปในที่สุด ในปัจจุบันพบว่ากว่า 7 พันภาษาบนโลก มากกว่าครึ่ง ไม่มีการเรียนหรือนำมาใช้แล้ว ขณะที่อีก 40% เป็นภาษาเล็ก ๆ ที่รอวันสูญหาย เหลือเพียง 10% ที่เป็นภาษาใหญ่ ภาษาประจำชาติ ภาษานานาชาติที่มีอำนาจทางการเมืองการปกครองทำให้ภาษายังคงอยู่ ซึ่งกว่าจะมีภาษาต้องใช้เวลานับร้อยนับพันปี ภาษาจึงมีความสำคัญ และมีคุณค่าในตัวเอง ที่มากกว่านั้นคือ ภาษาได้ทำหน้าที่เป็นตัวเก็บ ภูมิความรู้หลายเรื่องราวของชาติพันธุ์ อาทิ การรักษาโรค เป็น เครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ ดังนั้น การพยายามรักษาภาษาจึงเป็นการรักษาภูมิปัญญาทางความรู้ ความคิด จิตวิญญาณ และเมื่อใดที่ภาษาตายลงย่อมหมายถึงความรู้และ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มคนในเผ่าพันธุ์นั้นได้สูญสลายลงด้วย

นโยบายภาษาแห่งชาติ

ด้วยเหตุที่กล่าวมาจึงได้เกิด “นโยบายภาษาแห่งชาติ” ขึ้นที่ ราชบัณฑิตยสภา โดย ศ. ดร.อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ เป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งประกอบไปด้วย 6 นโยบายย่อย ได้แก่ นโยบายภาษาไทย นโยบาย ภาษาต่างประเทศ นโยบายภาษาท้องถิ่น นโยบายเกี่ยวกับภาษาคน พิการคือคนหูหนวกที่ต้องใช้ภาษามือหรือคนตาบอด นโยบายภาษา สำหรับแรงงานข้ามชาติ และนโยบายเกี่ยวกับการแปลและล่าม สำหรับตัวเองนั้นได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการโดยรับผิดชอบ  เกี่ยวกับภาษาท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นประธานของคณะอนุกรรมการ ย่อยเพื่อประชุมหารือเกี่ยวกับหลักแนวคิดนโยบาย ซึ่งได้มีการทำ แผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ทวิภาษา พหุภาษา  ซึ่งนำไปสู่การยอมรับในระดับโลก

นับเป็นเวลากว่า 10 ปีตั้งแต่พ.ศ. 2550 ที่เราทดลองจัดการศึกษา แบบทวิภาษา พหุภาษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับชั้นอนุบาล ด้วยการใช้ภาษาแม่เป็นฐานในการจัดการศึกษาแล้วเชื่อมโยงเข้ามาสู่ ภาษาไทย ภาษามาเลเซีย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น โดยมีครู ท้องถิ่นเป็นผู้สอน ซึ่งการใช้ภาษาในการสื่อสารที่เข้าใจช่วยขจัดปัญหา ความเครียดและไม่มีความสุขในการเรียนของเด็ก บรรยากาศ การเรียนการสอนดีขึ้น ครูมีความพอใจและมั่นใจในวิธีสอนแบบใหม่ ชุมชนและพ่อแม่ก็พอใจ ซึ่งเดิมเข้าใจว่าพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเรียน ภาษาไทย แต่ความเป็นจริงพ่อแม่ดีใจที่ลูกสามารถใช้ภาษาไทยได้และ เก่งภาษาไทย เห็นอนาคตของลูกที่มีโอกาสจะได้เรียนต่อ มีงานการทำ ดังนั้น จึงเป็นการเรียนการสอนที่ให้ผลลัพธ์ดีมากทั้งเรื่องการรักษา อัตลักษณ์ของตนเองคือ ไม่ทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิม และการมีอัตลักษณ์ ประจำชาติ เป็นที่มาของการได้รับรางวัลเกียรติยศจาก UNESCO King Sejong Literacy Prize 2016 ในปี 2558 จากโครงการ “Patani Malay-Thai Bi/Multilingual Education Project (PMT- MLE)”

บทบาทปัจจุบัน – ข้อคิดการทำงาน

แม้เกษียณราชการมากว่า 10 ปีแต่ก็ยังช่วยงานอยู่ที่ “ศูนย์ศึกษา และฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต” มีการสอนและบรรยาย บ้าง และทำหน้าที่พิจารณาผลงานในการขอตำแหน่งทางวิชาการของ อาจารย์ในสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทั้งในมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยอื่น รวมถึงเรื่องในเชิงนโยบาย ซึ่งการทำงานในสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องใช้เครื่องมือสมัยใหม่ ต้องมีการปรับตัว อย่างมาก ซึ่งเดิมก็มีความหลากหลายอยู่แล้ว แต่เมื่อมีมากขึ้น จึงส่งผลให้มีความหลากหลายทางความคิดตามมานั่นคือ สิ่งที่เรา ต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากมองในทางสนุกนี่คือ ฝึกทำงาน ท่ามกลางความหลากหลาย ฝึกบริหารจัดการความหลากหลาย ซึ่งจำเป็นที่เราต้องมีวินัยในการจัดการ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ช่วยคนอื่นเท่าที่จะช่วยได้ ตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองและทำสิ่งดี ๆ ให้กับคนอื่นเท่าที่เราทำได้

อาจารย์เป็นที่รักและเคารพของคนทุกระดับ ทั้งบุคลากร ภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย ทั้งยังเป็นผู้ที่มี ความโอบอ้อมอารี อาจารย์เป็นแบบอย่างในการทำงานแก่ ลูกศิษย์และนักวิจัยทั่วประเทศไทย เป็นแบบอย่างของ ผู้บริหารที่ดีทั้งในมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยอื่น รวมถึงนักวิจัยแกนนำและผู้ที่ได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ บนพื้นฐานที่จะช่วยเหลือและพัฒนากลุ่มคนที่เป็น กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ