เกมข้ามพรมแดน: การแปล เครือข่ายและอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทย


หัวหน้าโครงการ:

ดร.กรญาณ์ เตชะวงค์เสถียร

นักวิจัย:

ดร.กรญาณ์ เตชะวงค์เสถียร

ระยะเวลาดำเนินการ:

24 เดือน (มีนาคม 2565 – กุมภาพันธ์ 2567)

ที่มาและความสำคัญ

โครงการวิจัยนี้ สนใจศึกษาประเด็นเรื่องการแปลเกม (Game localization) ที่เกิดขึ้นในวงการเกมประเทศไทย ประกอบด้วยการสำรวจถึงลักษณะของเกมที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยที่อยู่ในวงการ ตลาดและอุตสาหกรรมเกมปัจจุบัน สาเหตุและปัจจัยที่ส่งผลให้เกมได้รับการแปล บทบาทของเกมที่ได้รับการแปลในประเทศไทย ทั้งยังศึกษาถึงบทบาทของผู้กระทำการแปลเกมในประเทศไทย รวมถึงศึกษาบทบาทของเครือข่ายผู้กระทำการแปลเหล่านั้นว่าสร้างอิทธิพลอย่างไรต่อการแปลเกมในประเทศไทย ในการวิจัยชิ้นนี้แบ่งการวิจัยเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนที่ 1 คือการศึกษาภาพรวมของการกระทำการแปลเกมในประเทศไทย ประกอบด้วย ลักษณะของเกมที่ได้รับการแปล และสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกมได้รับการแปลเป็นภาษาไทย รวมถึงบทบาทของผู้กระทำการแปลเกมในภาพรวม งานวิจัยนี้จึงจะพยายามขยายกรอบการศึกษาด้านการแปลในประเทศไทยให้มีความกว้างขวางมากยิ่งขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้จะเผยให้เห็นถึงลักษณะของเกมที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย รวมถึงสาเหตุและปัจจัยที่เกมเหล่านั้นได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งจะแสดงต่อไปให้เห็นถึงบทบาทของเกมที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยต่อเยาวชนและสังคมไทย นอกจากนั้นการศึกษานี้ยังจะเผยให้เห็นถึงบทบาทผู้กระทำการแปล รวมถึงเครือข่ายของผู้กระทำการเหล่านั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์และพื้นฐานความเข้าใจในการศึกษาทั้งด้านการแปลโดยภาพรวมและการแปลเกมในประเทศไทย ทั้งนี้ โครงการวิจัยจะจัดทำแหล่งจัดเก็บข้อมูลด้านการแปลเกมในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ และจัดทำสื่อที่ให้ความรู้กับเยาวชน และผู้สนใจด้านการแปลเกม นอกจากนั้น องค์ความรู้ต่าง ๆ ข้างต้น สามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นแนวทางในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแปลเกม เช่น การคัดเลือกเกมเพื่อแปล กระบวนการแปลเกม และการกระทำการแปลเกมเป็นภาษาไทย เป็นต้น

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสำรวจลักษณะของเกมที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย และเพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลให้เกมได้รับการแปลเป็นภาษาไทย อันสามารถต่อยอดเป็นแนวทางในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแปลเกม
  2. เพื่อศึกษาถึงบทบาทของผู้กระทำการแปลเกมในประเทศไทย รวมถึงศึกษาบทบาทและเครือข่ายของผู้กระทำการแปลเหล่านั้นว่าสร้างอิทธิพลอย่างไรต่อการแปลเกม
  3. เพื่อศึกษาถึงกระบวนการการแปล และการกระทำการแปลเกมในฐานะที่เป็นการกระทำทางสังคมผ่านกรณีศึกษา
  4. เพื่อศึกษาบทบาทของการแปลเกมเป็นภาษาไทยว่าสร้างอิทธิพลอย่างไรต่อผู้เล่นชาวไทย
  5. เพื่อสร้างแหล่งจัดเก็บข้อมูลด้านการแปลเกมในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ และจัดทำสื่อที่ให้ความรู้กับผู้สนใจ

ผลผลิต

  • การสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการศึกษาด้านการแปลเกมในประเทศไทย ผ่านบทความวิจัยที่นําเสนอความรู้และผลการวิเคราะห์จากการวิจัยในปีแรก
  • เผยแพร่องค์ความรู้ด้านการแปลเกมในเชิงวิชาการสู่ประชาชน และเยาวชนในรูปแบบที่เข้าใจง่าย
  • เป็นแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อทั้งผู้ที่มีความสนใจในวงการและอุตสาหกรรมเกม การแปลเกมทั้งในวงการวิชาการวงการภาครัฐและเอกชนที่มีความเกี่ยวข้อง
  • สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ทํางานด้านการแปลทั้งในเชิงวิชาการและวิชาชีพ
  • สร้างความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐและภาคเอกชน
  • จัดทําแนวทางข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการแปลเกม เช่น การคัดเลือกเกมในการแปล และกระบวนการแปล
  • การขยายกรอบการวิจัยด้านการแปลในบริบทของการศึกษาการแปลในประเทศไทย มีผลกระทบกับวงการการแปลศึกษา พัฒนาเป็นองค์ความรู้ในการเรียนการสอนได้ต่อไป