จับสัญญาณโรคซึมเศร้าผ่านภาษาบนสื่อสังคมออนไลน์
ปี พ.ศ. 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 7.37 ต่อประชากร 1 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2562 ถึงร้อยละ 0.73 เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด 66.2 ล้านคน มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จเกือบ 4,900 รายต่อปี (กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2563) อัตราการฆ่าตัวตายดังกล่าวเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สาเหตุการฆ่าตัวตายไม่ได้มาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจหรือปัจจัยด้านโรคระบาดเพียงเท่านั้น การฆ่าตัวตายยังมี สาเหตุมาจากปัญหาการใช้สุรา โรคทางกาย รวมทั้งโรคจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคบุคลิกภาพผิดปกติ ไม่ว่าสถานการณ์การฆ่าตัวตายนี้เกิดจากสาเหตุใด การฆ่าตัวตายนับเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะปัญหาการฆ่าตัวตาย ส่งผลกระทบหลายมิติ ทั้งต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว คนรอบข้าง และนำไปสู่ปัญหาสังคมไทยในระยะยาว
โรคซึมเศร้าเป็น “โรค” ความผิดปกติทางอารมณ์ มีสาเหตุ มีกลไกการเกิดโรค มีอาการและผลการตรวจร่างกายเฉพาะ และมีวิธีรักษา เฉพาะ “โรค” บ่งว่า เป็นความผิดปกติทางการแพทย์ จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้อาการทุเลา ผู้ป่วยโรคซึมเศร้านอกจากมีอารมณ์ซึมเศร้า ร่วมกับอาการต่าง ๆ แล้ว การทำงานหรือกิจวัตรประจำวันที่เคยชอบก็แย่ลงด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ใช่คนอ่อนแอ คิดมาก หรือเป็นคน หนีปัญหา แยกตัว ท้อแท้ ที่เขาเป็นเช่นนั้นเพราะตัวโรค ถ้าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้รับการบำบัดรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม หรือเข้ารับการรักษาด้วย จิตบำบัดโดยจิตแพทย์ โรคก็จะทุเลาลง เขาก็จะกลับมาเป็นผู้ที่มีจิตใจแจ่มใส พร้อมทำงานและกิจวัตรต่าง ๆ ได้เหมือนเดิม
“โครงการวิจัย ภาษา การสื่อสาร และ บริบทสังคมวัฒนธรรม : สัมพันธสารวิเคราะห์ การใช้ภาษาของผู้มีประสบการณ์โรคซึมเศร้าผ่าน สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการเฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย” ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม โดยหน่วยบริหาร และจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุน ด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและ การสร้างนวัตกรรม (บพค.) และมหาวิทยาลัย มหิดล ปีงบประมาณ 2563 ได้นำเสนอผล การศึกษารูปแบบการสื่อสารภาวะซึมเศร้า รูปแบบการสื่อสารการฆ่าตัวตาย รวมทั้ง แนวทางในการรับมือกับภาวะซึมเศร้าและ ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย โดยการนำเสนอ ผลการวิจัยในจดหมายข่าวนี้ประกอบด้วย 4 ตอน คือ 1. จับสัญญาณโรคซึมเศร้าผ่านภาษา บนสื่อสังคมออนไลน์ 2. เราควรอยู่กับผู้ป่วย โรคซึมเศร้าอย่างไร : การสื่อสารเพื่อสร้าง สัมพันธภาพและความไว้วางใจ 3. 7 สัญญาณ เตือนการฆ่าตัวตายผ่านภาษาบนสื่อสังคม ออนไลน์ และ 4. ออกจาก “หลุมดำ” – “กับดัก ชีวิต” ของคนคิดฆ่าตัวตาย
ในครั้งนี้จะนำเสนอในเรื่องจับสัญญาณโรคซึมเศร้าผ่านภาษาบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยผลการวิจัยพบว่า กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีภาวะซึมเศร้าหรือผู้ป่วย โรคซึมเศร้า ได้แก่ ครอบครัว ครู อาจารย์ เพื่อน และบุคคลใกล้ชิด เป็นกลุ่มบุคคล สำคัญที่มีส่วนช่วยในการสังเกตและจับสัญญาณ โรคซึมเศร้าผ่านมิติภาษาได้
รูปแบบการสื่อสารภาวะซึมเศร้า พบว่า รูปแบบกลุ่มคำศัพท์ที่ใช้สามารถ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ศัพท์สื่อ อาการทางจิต ทางพฤติกรรม และทางกายภาพ นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าอาจเกิดอาการ หลายอาการขึ้นพร้อมกัน ซึ่งสามารถ จับสัญญาณได้จากการใช้ภาษา ตัวอย่างเช่น อาการทางจิตร่วมกับอาการทางพฤติกรรม (เช่น ว่างเปล่า ร้องไห้ อยากตาย; ความเศร้า ความก้าวร้าว ความโกรธ) อาการจิตร่วมกับ อาการทางกายภาพ (เช่น เบื่อ เหนื่อย เหงา) หรือเกิดอาการด้านต่าง ๆ ซ้ำ ๆ (เช่น เศร้า แย่ พัง; ว่างเปล่า สิ้นหวัง ไม่มีความรู้สึก) ดังตัวอย่างต่อไปนี้
• เราเบื่อ…เหนื่อย…เหงา
• ความรู้สึกไร้ค่ากับทุกความสัมพันธ์ เหงา โดดเดี่ยว วนไปวนมา…
• ความรู้สึกว่างเปล่าเป็นแบบไหน … ความรู้สึกสิ้นหวังเป็นยังไง …ไม่มีความรู้สึกเป็นยังไง
• มันว่างเปล่า … ร้องไห้ … อยากตาย
นอกจากนี้ ผู้มีภาวะซึมเศร้ายังมี การใช้ภาษาที่เกี่ยวข้องกับการบรรยายถึงความถี่ ระดับความรุนแรง การเกิดขึ้นซ้ำ ๆ และ ระยะเวลาของอาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน เช่น “ฉันรู้สึกได้ถึงความเศร้าอีกครั้ง การไม่มี ตัวตนของฉันกลับมาอีกแล้ว ฉันเป็นภาระให้ ทุกคนมากเหลือเกิน”
โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคทางจิตหรือโรค ประสาท โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางอารมณ์ที่ สามารถรักษาให้หายได้ ใคร ๆ ก็มีโอกาส เป็นได้ ผู้มีภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ไม่ได้ต้องการการปฏิบัติที่พิเศษหรือทำให้ พวกเขาแตกต่างจากคนอื่น ๆ พวกเขาต้องการ คนรอบข้างที่เข้าใจพวกเขา สิ่งที่เขาพูด อารมณ์ พฤติกรรมที่แสดงออก เป็นสิ่งที่คนรอบข้าง สามารถสังเกตได้ แม้ว่าในหลาย ๆ กรณีผู้ป่วย โรคซึมเศร้ามักจะแยกตัวออกจากสังคม ทำให้ ครอบครัวและบุคคลรอบข้างไม่ทราบว่า เขาคิดอย่างไร มีความรู้สึก มีอารมณ์อย่างไร อย่างไรก็ตาม ครอบครัวและบุคคลรอบข้าง สามารถคอยสังเกตจากพฤติกรรมของเขา และ คอยจับสัญญาณทางภาษาที่แสดงออกได้
เมื่อทราบถึงธรรมชาติของโรคซึมเศร้า การแสดงออกทางภาษา และพฤติกรรมของผู้มี ภาวะซึมเศร้า และ/หรือโรคซึมเศร้า บุคคลใกล้ชิด ก็ควรทราบแนวทางการอยู่ร่วมกับผู้ป่วย โรคซึมเศร้าผ่านการสื่อสารในสร้างสัมพันธภาพ และความไว้วางใจ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันด้วย ความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน