ข่าวปลอมที่มาจากการแปล: ลักษณะเฉพาะและนัยทางสังคม

ดร.ณรงเดช พันธะพุมมี
Share on :

ท่ามกลางวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือที่รู้จักกันในนาม โควิด-19 ในไทย ประชาชนมักจะได้เสพข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวผ่านสื่อออนไลน์ เป็นส่วนมาก ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รับการกลั่นกรองข้อมูลเหมือนสื่อกระแสหลักหรือสื่อจากหน่วยงาน รัฐบาล จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และไม่ถูกบิดเบือน เพื่อทำให้เกิดความตระหนก ข้อมูลข่าวสารที่เสนอตามสื่อออนไลน์นั้น ส่วนหนึ่งเป็นประโยชน์ และน่าเชื่อถือ แต่ข้อมูลเป็นจำนวนมากถูกบิดเบือน ทำให้เกิดการระบาดข้อมูล (Infodemic) อย่างรุนแรง องค์การระหว่างประเทศของสหประชาชาติ เช่น ยูนิเซฟ (UNICEF) ได้พยายามสื่อสาร เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการระบาด โดยประสานงานองค์การอนามัยโลก ภาครัฐบาล รวมถึงเครือข่ายต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกได้รับข้อมูลและคำแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับการระบาดที่ถูกต้อง

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ ข่าวเกี่ยวกับ การระบาดโดยมากเป็นข่าวที่มาจากต่างประเทศ นั่นย่อมหมายความว่า การแปลมีส่วนเกี่ยวข้องกับ การถ่ายทอดข้อมูลจากภาษาต้นทางมาเป็นภาษาไทย อย่างเลี่ยงไม่ได้ ข่าวต่างประเทศได้รับการแปลเข้ามา เป็นจำนวนมากจึงอาจก่อปัญหาการแปลผิดพลาด ทำให้ข้อมูลข่าวสารนั้นผิดเพี้ยนไป จนกลายเป็น ข่าวปลอม ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม การวิจัยเกี่ยวกับข่าวปลอมหรือข้อมูลลวงที่ผ่านมายังมิได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของข่าวปลอมที่มี เหตุปัจจัยมาจากการแปล

ผู้เขียนจึงได้ทำการวิจัยในประเด็นที่ว่า ข่าวปลอมที่มาจากการแปลมีลักษณะอย่างไร และได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ ลักษณะของข่าวปลอม จากการแปลมักมีการแทรกคำภาษาต่างประเทศ อ้างชื่อและอ้างความคิดผู้อื่น การแปลข่าวที่เป็น ข่าวปลอมอยู่แล้ว การออกตัวของผู้แปลซึ่งอยู่ในระดับ ตัวบทแวดล้อม เป็นต้น  อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การแปล ข้างต้นมักเกิดขึ้นโดยปัจเจกบุคคลและส่งต่อใน โลกออนไลน์ มากกว่าเป็นการสั่งแปลจากสำนักข่าว ผู้แปลอาจไม่รับผิดชอบต่อผู้อ่านข่าวออนไลน์ทั่วไป และอาจจะไม่มีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ เพราะ มิได้ผ่านการฝึกอบรมด้านการแปล ธรรมชาติของ การแปลข่าวส่งต่อทางออนไลน์โดยมากเกิดขึ้นจาก นักแปลสมัครเล่น ผู้แปลเหล่านี้อาจไม่ตระหนักถึง ความสำคัญของการใช้คำหรือความถูกต้องทางภาษา

ในฐานะของผู้เสพข่าวสารออนไลน์ หากเรา ได้ตระหนักถึงข้อแตกต่างปลีกย่อยข้างต้นเหล่านี้ อาจช่วยเป็นหนทางในการฉุกคิด เมื่อพบลักษณะ ตัวบทที่ผิดแปลก เพื่อยับยั้งการส่งต่อข่าวปลอม ไปยังบุคคลอื่นจนอาจเกิดผลเสียในอนาคตได้ใน ท้ายที่สุด