การเรียนรู้กับการทำงานในบรรษัทข้ามชาติไทยที่ไปลงทุนในประเทศเมียนมา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรณู เหมือนจันทร์เชย
Share on :

โครงการวิจัยการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแรงงานพม่า : กรณีศึกษา วัฒนธรรมการทำงานของแรงงานพม่าในบริษัทไทยในประเทศเมียนมา1 ได้ผลประการหนึ่งว่า การเรียนรู้ เพื่อรู้เรา รู้เขา เข้าใจ และเข้าถึงวัฒนธรรมการทำงานที่มากับกระแสโลกาภิวัตน์และ วัฒนธรรมที่มากับบุคลากร รวมถึงวัฒนธรรมชุมชนในบริบทที่เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยสำคัญต่อ ความสำเร็จและ/หรือความล้มเหลวในการดำเนินงานของบริษัทข้ามชาติและบุคลากรที่ทำงาน อยู่ในบริษัทนั้น ๆ ด้วยการเรียนรู้ คือกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความรู้และความเข้าใจในวัฒนธรรม การทำงานและวัฒนธรรมเพื่อนร่วมงาน ที่ทำให้ทั้งบริษัทและบุคลากรทุกฝ่ายสามารถทำงานเข้าถึง ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานร่วมกันอย่างเป็นสุข หากขาดการเรียนรู้ ก็จะได้ผลตรงกันข้าม

ลักษณะการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเข้าถึงผลลัพธ์ที่พึงประสงค์จากการทำงานคือ การเรียนรู้ตามกระบวนการเรียนรู้ 3 ด้าน2  คือ 1) เรียนรู้-เข้าใจ-เข้าถึง นิยาม ความหมายของสิ่งต่าง ๆ ตามกระบวนการเรียนรู้ที่หมายถึงการใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับรู้สาระหรือข้อมูลความรู้จากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัส) และธรรมารมณ์ (ความรู้สึกนึกคิด) ที่เกิดในใจ ทั้งส่วนตัวเรา ส่วนคนอื่น และส่วนองค์กร จะทำให้ได้ความรู้ที่ “รู้เรา” (วัฒนธรรมตนเอง) “รู้เขา” (วัฒนธรรมคนอื่น) จนเกิดความ “เข้าใจ” และนำไปสู่การ “เข้าถึง” คือ ใช้เป็นเครื่องมือเข้าถึงความจำเป็นและความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) เรียนรู้-เข้าใจ-เข้าถึง ตามกระบวนการเรียนรู้แบบต่าง ๆ เช่น แบบมีส่วนร่วม แบบแนวราบ แบบเชื่อมโยงหลายสาขา และแบบปฏิสัมพันธ์ข้ามกลุ่ม วิธีการ เหล่านี้ช่วยให้บุคลากรเชื่อมโยงความรู้จากนิยามและความหมายวัฒนธรรม ที่มากับกระแสโลกาภิวัตน์และวัฒนธรรมท้องถิ่น มาสู่วัฒนธรรมการทำงาน ในบริษัทอย่างรู้เรา รู้เขา เข้าใจได้อย่างชัดแจ้ง และสามารถใช้ปฏิบัติงานได้ อย่างมีคุณภาพ 3) เรียนรู้-เข้าใจ-เข้าถึงผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของกระบวนการ เรียนรู้ คือ นำความรู้ความเข้าใจมาปฏิบัติงานได้อย่างชำนาญ เพิ่มพูนทักษะ และสามารถสร้างผลผลิตที่พึงประสงค์ได้อย่างมีคุณภาพ รวมทั้งสามารถ สร้างสรรค์ผลงานใหม่ออกสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ผลการวิจัยพบว่า มีบริษัทข้ามชาติไทยหลายแห่งที่ส่งเสริม การเรียนรู้กับการทำงานแก่บุคลากรทุกฝ่ายมาตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินงาน ทำให้ผลประกอบการประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และได้รับการยกย่อง จากชาวเมียนมาว่า เป็นผู้มีส่วนร่วมพัฒนาสังคม ส่งผลให้ชาวเมียนมา มีความไว้วางใจและมีค่านิยมที่ดีต่อคนไทย สินค้าไทย และประเทศไทย เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทข้ามชาติไทยอีกหลายแห่งที่ขาดการส่งเสริม การเรียนรู้ดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการทำงานเพื่อเข้าถึงผลลัพธ์เชิงมูลค่า เป็นสำคัญ ละเลยการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสร้างคุณค่าในการพัฒนาทักษะ การปฏิบัติงานเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่บุคลากรตามเงื่อนไขการลงทุน ทำให้การประกอบการไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทบางแห่งจึงล้มเลิกไป บางแห่งมีโอกาสได้ทบทวนบทเรียนแล้วกลับมาเรียนรู้ใหม่ และเริ่มต้นใหม่ จึงประสบความสำเร็จ และเป็นบทเรียนสำคัญแก่นักลงทุนรุ่นต่อมา

อ้างอิง
1 โครงการวิจัยการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแรงงานพม่า : กรณีศึกษาวัฒนธรรมการทำงานของแรงงานพม่าในบริษัทไทยในประเทศเมียนมา” ทุนสนับสนุนการวิจัยประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 จากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ โดยมี เรณู เหมือนจันทร์เชย และคณะ เป็นผู้วิจัย และดำเนินการวิจัยแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2560
2 เนาวรัตน์ พลายน้อย และสมศรี ศิริขวัญ, บรรณาธิการ. (2553). ปรารมภ์ว่าด้วยการศึกษาไทยรวมบทความอุทัย ดุลยเกษม. นครปฐม : คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. นำเสนอไว้ว่า “การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมจะสามารถทำให้เกิดการรู้เรา รู้เขา เข้าใจสังคม และวัฒนธรรมแก่ผู้เรียนที่นำไปสู่การเข้าถึงการทำงาน การอยู่ร่วมกันและการร่วมพัฒนาสร้างสรรค์การทำงานเพื่อเข้าถึงผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ”