ดนตรีศึกษากับการสร้างพลเมืองโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันธิดา จันทรางศุ
Share on :

การจัดการศึกษาดนตรีขั้นพื้นฐานโดยใช้แนวคิดพหุวัฒนธรรมศึกษาและการสอน ดนตรีโลก (Multicultural Music Education & World Music Pedagogy: Concept and Techniques) ถูกนำมาใช้ในการปฏิรูปการสอนดนตรีในหลายประเทศทั่วโลก อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่เห็นได้ชัดถึงการย้ายถิ่นของผู้คนและมีความหลากหลาย ทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย เป็นต้น

ในปัจจุบันแนวคิดนี้ได้กระจายไปทั่วโลก ในฝั่งเอเชียก็เช่นกัน โดยเฉพาะตั้งแต่หลังอาณานิคม เป็นต้นมา มีความน่าสนใจมากว่าทำไมประเทศอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย จึงมีแนวคิดนี้ปรากฏขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่ปรากฏเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนหรือมีงานวิจัยเชิงทดลองที่พัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนการสอนในเรื่องดังกล่าว ทั้งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องของ พหุวัฒนธรรมศึกษา รวมทั้งให้วิชาดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ในการ เตรียมเยาวชนเพื่อให้มีความพร้อมในการดำรงชีวิตให้เป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship) มีทักษะ ในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ ได้ สามารถจะอยู่ที่ไหนก็ได้ สามารถปรับตัว ให้เข้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่างได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีความเข้าใจผู้คนที่แตกต่าง มีทักษะทางสังคม และการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม (Social and Cross-Cultural Skills) ซึ่งถือเป็นทักษะที่สำคัญ เป็นคุณสมบัติที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดนตรี การนำวัฒนธรรมดนตรี ที่หลากหลายจากทั่วโลกเข้ามาสู่การเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างบูรณาการ ทั้งในทางทฤษฎีและการปฏิบัติทางดนตรี ซึ่งหมายรวมถึงการพัฒนาภูมิการดนตรี (Musicianship) โดยมีการพิจารณาว่า จะสามารถนำความหลากหลายทางดนตรีใส่เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนได้อย่างไร โดยที่ยัง เคารพทั้งดนตรีในวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองตามบริบทของโรงเรียน รัฐ เชื้อชาติ และดนตรีอื่น ๆ ที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม

จะเห็นได้ว่า ทิศทางของการจัดการศึกษาดนตรีขั้นพื้นฐานของนานาประเทศต่างให้ ความสำคัญกับการศึกษาที่ตอบสนองทักษะในศตวรรษที่ 21 ในบางประเด็นที่วิชาดนตรีสามารถ ช่วยสร้างให้เกิดได้ เช่น ทักษะทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัวเข้าสังคม เป็นต้น ซึ่งเป็นสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก (Global Competency) ในมิติของ “ดนตรีศึกษา” การเรียนรู้ ดนตรีมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เด็กพัฒนาไปอย่างสมบูรณ์เพราะคุณค่าของเสียงดนตรีที่ดีมีส่วน อย่างยิ่งในการสร้างเสริมพัฒนาการหลาย ๆ ด้านของเด็ก การมองวิชาดนตรีขั้นพื้นฐานแบบเหมารวม ว่าเป็นวิชาเลือกหรือวิชาพิเศษอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด และเมื่อมีการบรรจุวิชาดนตรี อยู่ในกรอบมาตรฐานการเรียนรู้จึงมีความจำเป็นจะต้องพัฒนาและเข้าใจปรัชญาการจัดการเรียนการสอน ดนตรีในฐานะวิชาพื้นฐาน (General Music Education) นี้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ไม่ใช่เพียง แค่สอนดนตรีประจำชาติหรือการเลือกดนตรีในบางท้องถิ่นเข้ามาใช้ในหลักสูตรโดยส่วนกลางเป็นผู้เลือก แต่ต้องเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เปิดโลกทัศน์ของเด็กให้เขาเรียนรู้ดนตรีใกล้ตัวในชุมชนของเรา ดนตรีที่หลากหลายจากทั่วโลก ความเหมือนความต่างทางวัฒนธรรม เพื่อที่จะนำไปสู่การมองเห็นโลก กว้างผ่านดนตรีและเติบโตไปอย่างมีความเข้าใจความหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรมและพร้อม ที่จะเป็นพลเมืองโลกที่เข้าใจผู้คนและความหลากหลายนั้นด้วย