ครูผู้ให้ความรู้…ผู้เปลี่ยนแปลงชีวิตนักเรียนให้รู้ทันสื่อ
ในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและหลากหลาย การรู้เท่าทันสื่อกลายเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับทุกคน โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนที่เป็นผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด ครูจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อเสริมสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนสามารถประเมินและวิเคราะห์ ข้อมูลข่าวสารได้อย่างถูกต้องและมีวิจารณญาณ ไม่หลงเชื่อหรือกระทำการใดๆ บนพื้นฐานของข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือข่าวปลอม ครูจึงถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในด้านการศึกษา รวมถึงการรู้เท่าทันสื่อ ครูไม่เพียงแค่สอนเนื้อหาทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังต้องสอนทักษะการคิดวิเคราะห์ การประเมินข้อมูล และการตั้งคำถามที่ถูกต้องเพื่อตรวจสอบความจริงของข้อมูล
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2565 พบว่า นักเรียนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำทุกวันมากถึงร้อยละ 98 โดยกลุ่มวัยเด็กอายุ 6-11 ปี ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึงร้อยละ 95.6 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก1 คำถามสำคัญคือ นักเรียนในช่วงวัยดังกล่าว มีความรู้ และทักษะในการประเมินความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับจากสื่อออนไลน์ได้มากน้อยแค่ไหน ครูในฐานะผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดในยามที่นักเรียนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการป้องกันดูแลให้นักเรียนเลือกเสพสื่ออย่างเหมาะสมตามช่วงวัย ไม่ให้มีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูล หรือข่าวที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบความจริง
ตัวอย่างข่าวที่แสดงถึงบทบาทของครูในการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้กับนักเรียน คือโครงการของสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในปี 2562 ซึ่งได้จัดอบรมเพื่อสร้างครูผู้นำนักสื่อสาร สำหรับการรู้เท่าทันสื่อในระดับมัธยมศึกษา โดยมุ่งเน้นให้เยาวชนมีเครื่องมือในการจัดการกับข่าวสารและเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบัน ทั้งในฐานะผู้ผลิตและผู้รับสื่อ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีสติรู้เท่าทันสื่อจากผู้ส่งสารคนอื่น ๆ และมีส่วนช่วยให้สังคมปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยเน้นให้เยาวชนตั้งสติก่อนโพสต์ ไลก์ คอมเมนต์ หรือแชร์เรื่องราวต่าง ๆ2
ตามที่ EDUCA ได้ระบุไว้ ทักษะการรู้เท่าทันสื่อนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในวิชาสังคมศึกษาเท่านั้น ครูอาจเสริมสร้างทักษะนี้ผ่านกระบวนการสืบค้นข้อมูลในทุกรายวิชา3 เช่น สำหรับวิชาการสอนภาษา ครูอาจเปิดโอกาสให้นักเรียนวางแผนและสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำมาตอบคำถามหลักของชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสทำความเข้าใจ และวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ที่มาที่ไป หรือจับประเด็นของเนื้อหาและสรุปจากการสืบค้น
จากสถิติและตัวอย่างข่าวที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า บทบาทของครูในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการรู้เท่าทันสื่อในกลุ่มนักเรียนมีความสำคัญอย่างยิ่ง การเสริมสร้างทักษะนี้จะช่วยให้นักเรียนสามารถดำเนินชีวิตในยุคดิจิทัลได้อย่างมีวิจารณญาณและปลอดภัย
บทบาทของ “ครู” ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงการรู้เท่าทันสื่อ
จากโครงการ “การพัฒนาแบบวัดสมรรถนะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อของผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย” ของศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (Intelligence Center for Elderly Media Literacy: ICEML) ซึ่งทำการสัมภาษณ์และสังเคราะห์ผลจากครูทั่วประเทศทั้ง 4 ภาค พบว่า การถูกล่อลวงจากสื่อที่นักเรียนประสบนั้น เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง นักเรียนบางคนถูกหลอกให้เปิดเบอร์มือถือใหม่และให้ข้อมูลบัตรประชาชน นอกจากนั้น การหารายได้เพิ่มเติมโดยการโพสต์สินค้า และโอนเงินก่อน ยังเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลต่อพัฒนาการของนักเรียน เพราะนักเรียนหลายคนเคยถูกหลอกให้โอนเงินให้กับร้านค้ามิจฉาชีพ ก่อนที่มิจฉาชีพจะปิดบัญชีหนีหายไป
เราพบว่า การจัดการความเสี่ยงและการป้องกันในการใช้สื่อเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งผู้ปกครอง ครู และนักเรียนจะต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสร้างความเข้าใจในการใช้สื่ออย่างมีสติ สร้างความรู้และพัฒนาการอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้ “ครู” ได้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเพื่อให้ “นักเรียน” รู้เท่าทันสื่ออย่างแท้จริงนั้น เราสามารถส่งเสริมสมรรถนะครูได้ 4 ประการ ได้แก่ (1) จัดการเรียนการสอน (2) จัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียน (3) สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายของโรงเรียน (4) ให้คำปรึกษาในการใช้สื่อแก่นักเรียนและผู้ปกครอง
(1) จัดการเรียนการสอน
การล่อลวงผ่านระบบออนไลน์เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงในวงการการศึกษา โรงเรียนจึงเป็นแหล่งเริ่มแรกที่สำคัญในการวางรากฐานเพื่อป้องกันและจัดการกับปัญหานี้ เพื่อให้นักเรียนไม่ตกเป็นเหยื่อออนไลน์ที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือ การจัดการศึกษาด้านการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อจึงเป็นหน้าที่สำคัญของครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนในฐานะผู้นำที่จะเปลี่ยนปัญหาให้ดีขึ้น
การเรียนการสอนในระบบการศึกษาที่เน้นการรู้เท่าทันสื่อนั้น ควรเน้นทักษะการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ และการตัดสินใจที่มีเหตุผล โดยเฉพาะการยกเอาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาสอนให้เด็กนักเรียนได้ระวังตัวเอง เป็นการให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการล่อลวงออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องและป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่อ ตลอดจนการให้ความรู้และการสอนให้ตัวนักเรียนช่วยเป็นหูเป็นตา ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ปลอดภัยและเติบโตอย่างสมบูรณ์
เราพบว่า ตัวบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นถึงสมรรถนะด้านการเรียนการสอนของครู เพื่อเปลี่ยนแปลงนักเรียนให้กลายเป็นผู้ที่รู้เท่าทันสื่อ และสามารถเฝ้าระวังจากสื่อที่ไม่ปลอดภัยได้ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบย่อย ได้แก่ (1) ออกแบบการสอนที่เพิ่มพูนทักษะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ (2) ปลูกฝังพฤติกรรมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อให้เป็นนิสัย และ (3) ประเมินผลพฤติกรรมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อของนักเรียน
(2) จัดสภาพแวดล้อม
การให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สำคัญที่ครูควรยึดถือปฏิบัติ เพื่อป้องกันปัญหาและความเสี่ยงที่เกี่ยวโยงกับนักเรียนในโรงเรียนและนอกโรงเรียน โดยครูมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลและสอนนักเรียน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ผ่านหลายทาง เช่น (1) การสร้างช่องทางเพื่อให้นักเรียนปรึกษากับครูก่อนการซื้อสินค้าออนไลน์ กล่าวคือ นักเรียนจะได้รับคำแนะนำจากครูก่อนที่จะทำการซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงและความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น (2) การแจ้งข้อมูลผ่านกลุ่มไลน์และการประชาสัมพันธ์ มีการใช้กลุ่มไลน์ผู้ปกครองเพื่อแจ้งข้อมูลสำคัญและประชาสัมพันธ์หน้าเสาธง (3) การขอความร่วมมือให้ผู้ปกครองเพื่อดูแลพฤติกรรมของบุตรหลาน (4) การสร้างระบบแจ้งเตือนและการสร้างข้อตกลงร่วมกันในโรงเรียน กล่าวคือ โรงเรียนควรมีระบบแจ้งเตือนและข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ของนักเรียน ทำให้ผู้ปกครองสามารถเฝ้าระวังลูกหลานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (5) การจัดโครงการและมาตรการในการเสริมสร้างความปลอดภัยในโรงเรียน การสร้างระบบติดตามพฤติกรรมของนักเรียน การสร้างสิ่งแวดล้อมในการเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับครู
โรงเรียนที่มีครูผู้เล็งเห็นปัญหา สามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีโดยการบูรณาการแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ข้างต้น เพื่อช่วยให้โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและพร้อมในการจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีในชุมชนโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสมรรถนะของครูในประเด็น “จัดสภาพแวดล้อม” นั้น มีตัวบ่งชี้ที่เสนอว่า ครูควรต้องสามารถที่จะ (1) สร้างช่องทางและแหล่งเรียนรู้ ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ (2) สร้างสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยและน่าสนใจเพื่อพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ (3) จัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ
(3) สร้างความร่วมมือกับเครือข่าย
เครือข่ายของโรงเรียนมีความสำคัญอย่างมากในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อและป้องกันการล่อลวงผ่านสื่อ ตลอดจนอันตรายต่าง ๆ ทางออนไลน์ แนวทางปฏิบัติที่สำคัญ คือ การสร้างเกราะป้องกันนักเรียนมิให้ข้องเกี่ยวกับโลกออนไลน์อย่างไม่รู้เท่าทัน โดยมีการประสานแจ้งเรื่องแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากเกิดเหตุฉุกเฉิน การป้องกันผ่านการอบรมให้ความรู้แก่นักเรียนในการไตร่ตรองข้อมูลก่อนตัดสินใจลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไป เช่น ไม่รับพัสดุที่ไม่ทราบที่มา เพราะอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดการล่อลวงได้
การสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและองค์กรท้องถิ่น เช่น ตำรวจ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน ถือเป็นส่วนสำคัญในการเตรียมความพร้อมและป้องกันการล่อลวงผ่านสื่ออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะควรและปลอดภัย ดังนั้น สมรรถนะ “การสร้างความร่วมมือกับเครือข่าย” ที่ครูควรจะมีในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมโรงเรียนไปสู่การรู้เท่าทันสื่อนั้น มีตัวบ่งชี้ คือ (1) สร้างเครือข่ายในโรงเรียน (2) สร้างเครือข่ายนอกโรงเรียน (3) สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อแก่นักเรียน (4) สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ตกเป็นเหยื่อ (5) สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายผู้ปกครอง เพื่อพัฒนาระบบกลไกในการเฝ้าระวังสื่อแก่นักเรียน และ (6) สร้างกลุ่มจิตอาสาเฝ้าระวังสื่อในโรงเรียน
(4) ให้คำปรึกษาในการใช้สื่อ
การพัฒนาทักษะของครูในการให้คำปรึกษาเรื่องการใช้สื่อเป็นเรื่องจำเป็น ในฐานะผู้ที่จะเป็นคนชี้แนะว่าสิ่งใดถูกต้องหรือไม่ ครูจึงต้องเข้าใจสถานการณ์สื่อในปัจจุบันและรู้หนทางในการป้องกัน ตลอดจนแก้ปัญหาเมื่อเกิดเหตุได้ อีกทั้งยังต้องทันต่อสถานการณ์ ข่าวสาร และกลอุบายต่าง ๆ ของมิจฉาชีพ เพื่อให้สามารถตอบสนองได้ถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้น การยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนักเรียนมีความสำคัญ เพื่อให้คำปรึกษามีความเชื่อมโยงกับประสบการณ์จริงของนักเรียน และสามารถนำเอาเหตุการณ์นี้มาช่วยกันถกเถียงแนวทางการปฏิบัติได้
ทักษะการให้คำปรึกษาและสร้างทัศนคติที่ดีต่อการใช้สื่อ ถือเป็นสิ่งสำคัญของครูทุกคน เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างระมัดระวัง และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการใช้สื่อที่ผิดพลาดได้ยิ่งกว่านั้น สมรรถนะ “ให้คำปรึกษาในการใช้สื่อ” รวมไปถึงการให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครองในการเฝ้าระวังสื่อนอกห้องเรียนด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้สื่อของนักเรียนได้อย่างรอบด้าน
อ้างอิง
1สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. (2565). สรุปผลที่สำคัญ การใช้ไอซีทีของเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2565. https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/survey_detail/ 2023/20230717103749_88870.pdf
2ไทยรัฐ. (2562, 25 เมษายน). เปิดแล้ว! ค่ายคิดมันส์ทันสื่อ ดึง นร. ครู ร่วมพัฒนาสื่อสร้างสรรค์. https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1552941
3สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม. (2566). MIDL เด็กต้องรู้เท่าทัน ครูนั้น(ยิ่ง)ต้องเข้าใจ. EDUCA https://www.educathai.com/knowledge/articles/626