การพัฒนาศูนย์วิชาการและปฏิบัติการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุไทย


หัวหน้าโครงการ:

รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ

นักวิจัย:

รองศาสตราจารย์ ดวงพร คำนูณวัฒน์ (ที่ปรึกษาโครงการ)
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ (หัวหน้าโครงการ)
รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ (นักวิจัย)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรพงษ์ บุญรักษา (นักวิจัย)
อาจารย์ ดร.สิรินทร พิบูลภานุวัธน์ (นักวิจัย)
อาจารย์ วราภรณ์ สืบวงศ์สุวรรณ์ (นักวิจัย)

ระยะเวลาดำเนินการ:

9 กุมภาพันธ์ 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2566

ที่มาและความสำคัญ

จากการทำงานด้านผู้สูงอายุกับการรู้เท่าทันสื่ออย่างต่อเนื่อง ทำให้คณะผู้วิจัยได้เห็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้สื่อของผู้สูงอายุหลากหลายมิติที่จะสามารถรวบรวมและสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ได้ ทั้งองค์ความรู้ด้านการรู้เท่าทันสื่อที่มีพัฒนาการจากสื่อเก่าเรื่อยมาจนถึงสื่อดิจิทัลในปัจจุบัน องค์ความรู้ด้านพฤติกรรมการใช้สื่อและผลกระทบจากการใช้สื่อของผู้สูงอายุ องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเพื่อการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุทั้งจากการสร้างสรรค์ของผู้สูงอายุเองและจากนักวิชาการ องค์ความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้มีที่มาทั้งจากบทความ ตำรา และเนื้อหาที่เผยแพร่โดยหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจากผลการดำเนินงานโครงการที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยจึงตระหนักถึงความสำคัญของการรวบรวมและจัดการองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างสังคมสูงอายุของไทยให้เข้มแข็งและปลอดภัย ด้วยการเป็นแหล่งอ้างอิงเชิงวิชาการที่เชื่อถือได้ สร้างหลักสูตรและนวัตกรรมเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้ผู้สูงอายุ และสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักให้สังคมส่วนรวมได้มีความรู้ความเข้าใจด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุอย่างถูกต้องชัดเจน

การดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์วิชาการและปฏิบัติการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุไทยในปี 2565 จึง เป็นการยกระดับการทำงานภายใต้โครงการพัฒนาและปฏิบัติการ เพื่อเติมเต็มและขับเคลื่อนงานด้านการรู้เท่าทันสื่อกับผู้สูงอายุในสังคมไทยให้เกิดผลในวงกว้างอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายหลักคือ การเป็นแหล่งข้อมูลเชิงวิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อกับผู้สูงอายุของประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยนำเสนอข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในประเด็นสถานการณ์และผลกระทบจากการใช้สื่อของผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง รวบรวมข้อมูลทุติยภูมิทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างเครื่องมือเก็บข้อมูลปฐมภูมิที่ได้มาตรฐาน พัฒนาหลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อและนวัตกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อและพฤติกรรมของผู้สูงอายุ และสื่อสารข้อมูลวิชาการเพื่อขับเคลื่อนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้นำไปกำหนดนโยบายสนับสนุนประเด็นรู้เท่าทันสื่อกับผู้สูงอายุต่อไป

วัตถุประสงค์

ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ มุ่งมั่นที่จะเป็น “ศูนย์รวมความรู้ นวัตกรรม และร่วมขับเคลื่อนการใช้สื่ออย่างปลอดภัยในสังคมสูงวัยของประเทศไทย“
โดยกำหนดบทบาทของศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ ดังนี้

  1. เป็นแหล่งข้อมูลเชิงวิชาการ (knowledge hub) ด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ
  2. พัฒนาหลักสูตรและนวัตกรรมเพื่อการรู้เท่าทันสื่อให้ผู้สูงอายุ
  3. สื่อสารเพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายเชิงสังคมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้ผู้สูงอายุ

ผลผลิต

ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ มีบทบาทเป็นแหล่งข้อมูลเชิงวิชาการ มีผู้เข้าใช้เว็บท่า จำนวนกว่า 15,000 คน โดยผลิต

  1. บทความเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ ที่เกิดจากการทบทวนและสังเคราะห์งานวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 30 บทความ
  2. จุลสารอิเล็กทรอนิกส์ (ICEM E-Bulletin) 4 ฉบับ ประกอบด้วยบทความสั้นเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุในสถานการณ์ปัจจุบัน 20 บทความ
  3. แบบสำรวจมาตรฐานสำหรับประเมินสถานการณ์การใช้สื่อและผลกระทบจากการใช้สื่อของผู้สูงอายุไทย 1 ชุด
  4. ข้อมูลผลการสำรวจสถานการณ์การใช้สื่อและผลกระทบจากการใช้สื่อของผู้สูงอายุไทยปี 2565 โดยนำเสนอผ่านการแถลงข่าวและเว็บไซด์ของศูนย์
  5. เกมออนไลน์หยุด คิด ถาม ทำ เป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้ดีในชุมชนเมืองที่ผู้สูงอายุมีเครื่องมือและสัญญาณ WIFI พร้อม โดยเกมชุดที่ 2 มีสถานการณ์ให้ฝึกทักษะอย่างหลากหลาย 6 สถานการณ์ เมื่อรวมกับชุดที่ 1 จึงทำให้มีสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุใช้ฝึกฝนได้ถึง 10 สถานการณ์