Accentedness Perception in L2: an Investigation of Thai Monophthong Pronunciation of Chinese Students
การเรียนการสอนการออกเสียงภาษาที่สอง (L2) สำหรับผู้ใหญ่เผชิญข้อท้าทายสำคัญในการพัฒนาการออกเสียงให้เข้าใกล้เจ้าของภาษา ทั้งนี้ แนวคิด “ช่วงเวลาสำคัญ” (Critical Period Hypothesis) ระบุว่าหากเริ่มเรียนภาษาที่สองหลังอายุ 12 ปี มักเป็นเรื่องยากที่จะออกเสียงได้ถึงระดับเจ้าของภาษา ความแตกต่างด้านการออกเสียงระหว่างผู้เรียนกับเจ้าของภาษาจึงปรากฏชัดในหลายจุด และระดับ “ความเป็นสำเนียง” (accentedness) ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเข้าใจของผู้ฟัง แม้ผู้เรียนจำนวนไม่น้อยยังอยากพัฒนาการออกเสียงพูดให้ “ฟังเหมือน” เจ้าของภาษา แต่วิธีสอนการออกเสียงกลับไม่ค่อยได้รับการให้ความสำคัญอย่างเป็นระบบ โดยถูกนำไปแทรกสอนอยู่ในทักษะภาษาด้านอื่น ๆ ผู้สอนจึงต้องเลือกว่าจะให้เวลาแก้ไขปัญหาการออกเสียงส่วนไหนก่อน ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า หากระบุได้ว่าเสียงใดหรือคุณลักษณะใดของการออกเสียงมีผลต่อความเป็นสำเนียงมากที่สุด ก็จะช่วยจัดลำดับความสำคัญในการสอนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ภาพ : https://wt-obk.wearable-technologies.com
การศึกษาก่อนหน้านี้มักมุ่งที่ภาษาอังกฤษ ในขณะที่ภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาไทย ยังมีงานวิจัยจำนวนจำกัด อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเท่าที่มีเกี่ยวกับผู้เรียนจีนที่พูดภาษาไทย พบว่าปัญหาหลักส่วนใหญ่เป็นการออกเสียงเสียงสระและตัวสะกด ซึ่งมีผลอย่างชัดเจนต่อความเป็นสำเนียงและอาจส่งผลโดยตรงต่อความเข้าใจของเจ้าของภาษาไทย ดังนั้น การค้นหาว่าเสียงสระประเภทใด หรือคุณลักษณะเสียงใดที่ผู้เรียนจีนมักออกเสียงไม่ชัดเจนจนผู้ฟังรับรู้ความเป็นสำเนียงสูง จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยผู้สอนวางแผนสอนอย่างเหมาะสม ดังนั้น งานวิจัยนี้มีจึงวัตถุประสงค์หลักสามประการ ได้แก่ 1) วิเคราะห์เปรียบเทียบลักษณะการออกเสียงสระเดี่ยวภาษาไทยของผู้เรียนชาวจีนกับเจ้าของภาษาไทย 2) ตรวจสอบการรับรู้ความเป็นสำเนียงของการออกเสียงผู้เรียนชาวจีนในผู้ฟังชาวไทย และ 3) ค้นหาลักษณะทางกลสัทศาสตร์เสียงสระเดี่ยวภาษาไทยที่เป็นตัวบ่งชี้ความเป็นสำเนียงในผู้เรียนชาวจีน
งานวิจัยนี้ใช้วิธีวิทยาทางสัทศาสตร์เชิงทดลองโดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1) การวิเคราะห์ทางกลสัทศาสตร์ (Acoustic Analysis) โดยนำเสียงคำภาษาไทยที่มีสระเดี่ยวของนักศึกษาชาวจีนที่เรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สองที่มาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมวิเคราะห์เสียง (Praat) เพื่อวิเคราะห์ค่าความถี่ฟอร์แมนท์ (F1, F2) และค่าระยะเวลาของเสียงสระ (vowel duration) และนำมาเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งเป็นผู้พูดเจ้าของภาษาไทยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนในเชิงปริมาณเกี่ยวกับลักษณะสำเนียงที่แตกต่างกัน และ 2) การทดลองด้านการรับรู้สำเนียง (Accent Perception Experiment) ผู้ฟังชาวไทยฟังเสียงบันทึกที่ได้จากกลุ่มนักศึกษาชาวจีนในข้างต้น และให้คะแนนระดับสำเนียงต่างชาติ (accent rating scale) โดยใช้มาตราส่วนแบบ Likert scale ข้อมูลที่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลเชิงกลสัทศาสตร์เพื่อประเมินว่าสระเดี่ยวเสียงใดมีอิทธิพลสูงสุดในการสร้างการรับรู้สำเนียงต่างชาติในภาษาไทย ด้วยวิธีการทางสถิติที่เหมาะสม (เช่น ANOVA, Regression analysis) เพื่อระบุปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการรับรู้สำเนียงของผู้ฟังอย่างชัดเจน

ภาพ : https://www.npr.org
ผลการวิเคราะห์ทางกลสัทศาสตร์พบว่าการออกเสียงสระเดี่ยวภาษาไทยของนักศึกษาจีน โดยเฉพาะสระ /o, oː, ɔ, ɔː, ɤ, ɤː, ɯ, ɯː/ แตกต่างจากผู้พูดภาษาไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งในแง่ของค่าระยะเวลาและค่าความถี่ฟอร์แมนท์ ในทางกลับกัน สระ /i, iː, e, eː, ɛ, ɛː, a, aː/ มีการออกเสียงที่ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา นอกจากนี้ ผลการทดลองการรับรู้สำเนียง (Accent Perception Experiment) โดยผู้ฟังชาวไทย พบว่าสระที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อการรับรู้สำเนียงต่างชาติคือสระหลังและสระกลาง ซึ่งสอดคล้องกับผลวิเคราะห์ทางกลสัทศาสตร์อย่างชัดเจน จุดเด่นสำคัญของงานวิจัยนี้คือ การระบุเสียงสระเดี่ยวที่มีผลต่อการรับรู้สำเนียงต่างชาติในระดับที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถจัดลำดับความสำคัญในการสอนออกเสียงภาษาไทยได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ผลการวิจัยยังช่วยให้ผู้เรียนชาวจีนเข้าใจปัญหาเฉพาะจุดในการออกเสียงภาษาไทยของตนเองและปรับปรุงได้อย่างมีทิศทางและมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงช่วยลดอุปสรรคในการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม สร้างความเข้าใจและเพิ่มความมั่นใจในการสื่อสารของนักศึกษาต่างชาติในบริบทสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน