“วัด” ทุนทางวัฒนธรรมที่ “ใกล้ตัว” และ “ใกล้วัย”: พลังศาสนาสร้างการรู้เท่าทันสื่อในผู้สูงอายุ

รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์
Share on :

ในยุคสังคมสูงอายุที่สัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ พระเอก-นางเอกของยุคนี้และในอนาคตอันใกล้ก็คงเป็นใครอื่นไม่ได้ ผู้สูงอายุกลายเป็นเป้าหมายที่ได้รับความสนใจจากทุกแวดวง ทั้งทางการแพทย์ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง หรือแม้แต่กลุ่มแสวงหาผลประโยชน์ หรือมิจฉาชีพก็มุ่งเป้ามาที่ผู้สูงอายุ การเป็นผู้สูงอายุในปัจจุบันที่สังคมซับซ้อนมากขึ้นและเทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ข่าวหรือข้อมูลลวง เป็นประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินรวมทั้งคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ การสร้างการรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับตัวผู้สูงอายุเองและชุมชนแวดล้อม

หากพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุมักตกเป็นเหยื่อของข้อมูลลวง มีนักวิชาการสรุปไว้อย่างกระชับใน 3 ประเด็นหลักด้วยกัน1 คือ (1) ความเสื่อมของกระบวนการคิดและตัดสินใจ (Cognitive Declines) (2) สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป (Social Changes) และ (3) ความสามารถในการเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Illiteracy) สำหรับประเด็นสุดท้ายนี้เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุสามารถพัฒนาด้วยตัวเองเพื่อป้องกันการไม่รู้เท่าทันสื่อและดูเหมือนจะมีความเป็นไปได้มากกว่าสองปัจจัยแรก

ในขณะที่ความเสื่อมของกระบวนการคิดและตัดสินใจที่เป็นไปตามวัยย่อมเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุทุกคนมากหรือน้อยแตกต่างกันไป ชะลอได้แต่ห้ามไม่ให้เกิดขึ้นเลยคงเป็นไปได้ยาก ส่วนการที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปก็มีเหตุปัจจัยที่ถักทอกันอย่างซับซ้อนและส่งผลกระทบที่เป็นวงกว้างหลายระดับ ยากต่อการจัดการเพียงลำพังด้วยตัวปัจเจกบุคคล เช่นว่า การกลายเป็นสังคมต่างคนต่างอยู่ การเคารพผู้ใหญ่ลดน้อยถอยลง การเอารัดเอาเปรียบ แย่งชิง แข่งขัน ถือเป็นวิธีการเอาตัวรอดในปัจจุบัน หรือสังคมไร้เงินสด เป็นต้น เหล่านี้ทำให้เห็นว่าความท้าทายครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก การจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันสื่อจึงต้องอาศัยสรรพกำลังจากหลายภาคส่วนและโดยเฉพาะภายในชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดผู้สูงอายุ

“พลังชุมชน” เป็นแนวคิดที่ถูกนำมาใช้เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสามารถจัดการและดูแลตนเองได้ หรือไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาต่าง ๆ โดยการใช้หรือแสวงหาทรัพยากร เครือข่าย หรือพันธมิตรที่มีอยู่เสริมพลังให้บรรลุเป้าหมาย2 แนวคิดนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาโครงการต่าง ๆ มากมาย การสนับสนุนการรู้เท่าทันสื่อและเฝ้าระวังผลกระทบจากสื่อในกลุ่มผู้สูงอายุ ก็สามารถสร้างผ่านชุมชนไทยให้เกิดพลังดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยกันดีในชื่อ “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) โดยในส่วนของวัดอาจกล่าวได้ว่า เป็นองค์ประกอบที่เกิดขึ้นควบคู่มากับการตั้งชุมชน ทำหน้าที่ตามความเชื่อทางศาสนาให้แก่คนในชุมชนตั้งแต่เกิดจนตาย และสนับสนุนการอยู่ดีมีสุขของชุมชนเสมอมา

“วัด” นับว่าเป็นขุมพลังทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่สำหรับประเทศไทยจากจำนวนวัดทั่วประเทศที่มีมากถึง 43,305 วัด และมีพระสงฆ์ 503,064 รูป (ข้อมูลปี 2565)3 วัดนับเป็นสิ่งที่ “ใกล้ตัว” ไม่เพียงแต่กลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้นแต่รวมถึงผู้คนทุกเพศทุกวัย ด้วยในทุกชุมชนมีวัดอย่างน้อยหนึ่งแห่ง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่กันดาร ใกล้หรือห่างไกลความเจริญ รวมทั้งยังเป็นสถานที่ที่สามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมและไม่เป็นทางการ เป็นองค์กรที่สร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งได้อย่างแยบยลผ่านศาสนกิจ ประเพณี และพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีเป็นประจำสม่ำเสมอตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ วัดยังเป็นสถานที่ที่ถูกมองว่าเหมาะกับวัยสูงอายุด้วยหลักทางพุทธศาสนาที่สะท้อนถึงสัจธรรมของความไม่เที่ยง เมื่อร่างกายของมนุษย์เราค่อย ๆ เสื่อมถอยไปสู่ความตาย ทั้งคำสอนที่ทำให้เข้าใจวัฏจักรของชีวิต เห็นการเกิดกับของสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องปกติ เติมเต็มความเชื่อของวัยใกล้ฝั่งในการสั่งสมบุญเพื่อชาตินี้และชาติหน้า และยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในวัยเกษียณที่มีเวลาว่างมากขึ้น ให้ได้เข้าถึงแก่นของการคิดพิจารณา การเจริญสติปัญญาในการรับข้อมูลข่าวสารและการใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างเหมาะสมกับวัย รวมทั้งยังเป็นพื้นที่ของการสร้างเครือข่ายทางสังคมสำหรับวัยสูงอายุให้ได้มีปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และรับรู้ความเป็นไปของสังคมโดยรวมร่วมกับคนวัยเดียวกันและคนต่างวัยอีกด้วย แม้วัดส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้ลดบทบาทในบางเรื่อง เช่น การศึกษา การรักษาสุขภาพ ที่เคยเป็นที่พึ่งหลักของชาวบ้านในอดีตลงไปมากแล้วก็ตาม แต่วัดก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาของชาวบ้านที่สามารถสร้างพลังชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทันยุคทันเหตุการณ์ได้

บทบาทของ “พระสงฆ์” ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อของในสังคมไทย

ด้วยความสำคัญของพลังบวรในการสร้างการรู้เท่าทันสื่อในผู้สูงอายุ ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (Intelligence Center for Elderly Media Literacy: ICEML) ได้จัดทำโครงการวิจัย “การพัฒนาแบบวัดสมรรถนะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อของผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย” ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับบทความนี้ขอนำเสนอในส่วนของพลังบวร “ว” (วัด) ส่วน “บ” (บ้าน) และ “ร” (โรงเรียน) สามารถอ่านได้จากบทความในหัวข้อดังกล่าวที่อยู่ในฉบับเดียวกันนี้

สำหรับพลังบวร “ว” (วัด) ในโครงการวิจัยนี้ มุ่งการศึกษาไปที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยให้เกิดการสร้างการรู้เท่าทันสื่อและเฝ้าระวังสื่อในชุมชน ซึ่งก็คือ “พระสงฆ์” ผู้นำทางจิตวิญญาณให้แก่ชาวบ้านในชุมชน มีบทบาทเป็นศูนย์กลางความศรัทธาในพุทธศาสนา และใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน จากการเก็บข้อมูลใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ (สุ่มเลือก 8 จังหวัด) โดยการสัมภาษณ์พระสงฆ์จำนวนทั้งสิ้น 24 รูป (จังหวัดละ 3 รูป) พบว่า พระสงฆ์แสดงบทบาทตามหน้าที่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนในชุมชนมีความรู้เท่าทันสื่อ และช่วยสร้างกลไกในการเฝ้าระวังความเสี่ยงจากการใช้สื่อ 4 ด้าน ได้แก่ (1) การเทศนาสั่งสอน (2) การจัดสภาพแวดล้อมของวัด (3) การส่งเสริมความร่วมมือกับเครือข่าย และ (4) การให้คำปรึกษาแก่ญาติโยม โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

(1) การเทศนาสั่งสอน

บทบาทที่สำคัญยิ่งของพระสงฆ์ที่มีต่อชาวบ้านในชุมชน คือการเผยแผ่ธรรมะ ในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารกระจัดกระจายอยู่มากมาย และไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าข้อมูลไหนเชื่อถือได้ ผลการวิจัยพบว่า พระสงฆ์ได้แสดงบทบาทผู้นำความเชื่อความศรัทธา ด้วยการนำหลักธรรมมาแสดงให้ญาติโยมได้นำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ โดยประยุกต์หลักธรรมในการเทศน์ เช่น หลักกาลามสูตร การใช้สติเพื่อให้รู้ทันตัวเอง ไม่ตกเป็นเหยื่อของกิเลส ความโลภ ความกลัว การใช้ปัญญาและความไม่ประมาทในการไตร่ตรอง ตรวจสอบข้อมูล รวมถึงหลักสัปปุริสธธรรม 7 ประการ อันมุ่งสอนให้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้รู้ทันเหตุ รู้จักตนเอง รู้จักความเหมาะสมพอดี รู้จักกาลเทศะ รู้จักผู้คน และรู้จักชุมชน และรู้ผลกระทบจากการตัดสินใจ

(2) การจัดสภาพแวดล้อมของวัดให้เอื้อต่อการสร้างการรู้เท่าทันสื่อ

ด้วยวัดส่วนใหญ่มีพื้นที่กว้างขวาง มีสถานที่ที่เอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น เช่น ห้องน้ำ ลานจอดรถ เครื่องครัว โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ และยังเข้าถึงได้สะดวก เพราะวัดมักตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเรือนของคนในชุมชน รวมทั้งมีศาสนกิจที่ชาวบ้านต้องแวะเวียนมาวัดอยู่เป็นประจำ ดังนั้นการจัดสภาพแวดล้อมในวัดให้ส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ จึงเป็นช่องทางที่สามารถทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อได้อย่างดี แต่จากการศึกษาพบว่า การจัดสภาพแวดล้อมภายในวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ (ศาลาการเปรียญ/ห้องสมุด/พิพิธภัณฑ์) ยังมีไม่มากนัก แต่เป็นไปในลักษณะของการเปิดโอกาสให้มีการจัดกิจกรรมภายในบริเวณวัดเมื่อมีหน่วยงานหรือองค์กรอื่นขอความร่วมมือ ซึ่งเป็นการตั้งรับมากกว่าที่พระสงฆ์จะเป็นผู้ริเริ่มโครงการเอง ในขณะที่ญาติโยมบางส่วนก็อยากให้วัดเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ

(3) การส่งเสริมความร่วมมือกับเครือข่าย

พระสงฆ์ในวัดต่าง ๆ ได้มีการสร้างและส่งเสริมความร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งเครือข่ายศาสนาที่เป็นกลุ่มพระสงฆ์ทั้งในและนอกพื้นที่ รวมทั้งเครือข่ายทางโลกอื่น ๆ เช่น กลุ่มโรงเรียน กลุ่มญาติโยม และกลุ่มแกนนำชุมชน ในการสร้างความร่วมมือเพื่อใช้เป็นช่องทางเผยแผ่การประยุกต์ใช้ธรรมะในการสร้างการรู้เท่าทันสื่อที่นอกเหนือไปจากพื้นที่วัดให้ได้แพร่หลายและกว้างขวางยิ่งขึ้น

(4) การให้คำปรึกษา

นอกจากการเทศน์แล้วพระสงฆ์ยังได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการใช้และรับสื่อที่ปลอดภัย โดยการประยุกต์หลักธรรมะในการให้คำปรึกษากับผู้สูงอายุและคนในชุมชน นอกจากนั้น พบว่า ในหลายพื้นที่พระยังเป็นที่พึ่งเมื่อญาติโยมถูกหลอก โดยทำหน้าที่ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้าน หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และช่วยเยียวยารักษาจิตใจของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อด้วย นอกจากนี้ ยังได้ทำหน้าที่ดังกล่าวให้แก่พระสงฆ์ด้วยกันเอง เพราะพระสงฆ์เองก็ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงที่เกิดขึ้นในวัดเช่นกัน

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า “วัด” และ “พระสงฆ์” สามารถเป็นกำลังสำคัญของชุมชนที่ช่วยสร้างการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อให้กับกลุ่มผู้สูงอายุและคนในชุมชน ด้วยหลักทางศาสนาที่เมื่อประยุกต์ใช้ในการสอนให้เข้ากับยุคสมัยของสังคมที่เปลี่ยนไปผนวกกับความเชื่อและศรัทธา ก็ยิ่งเสริมพลังในการสร้างเกราะป้องกันที่เข้มแข็ง การใช้ทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางศาสนาที่สังคมไทยมีอยู่เป็นทางเลือกที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวพุทธ ในทำนองเดียวกันศาสนาอื่นก็สามารถใช้เป็นแนวทางในการสร้างการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อให้กับศาสนิกชนในศาสนานั้น ๆ ได้เช่นกัน

อ้างอิง

1Brashier, N. M., & Schacter, D. L. (2020). Aging in an Era of Fake News. Current directions in psychological science29(3), 316–323. https://doi.org/10.1177/0963721420915872

2World Health Organization. (n.d.). Health promotion: Community empowerment. Retrieved July 22, 2024, from https://www.who.int/teams/health-promotion/enhanced-wellbeing/seventh-global-conference/community-empowerment

3สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2565) สถิติบุคลากรและศาสนสถานทางศาสนาในประเทศไทย. สืบค้นจาก  https://ittdashboard.nso.go.th/preview.php?id_project=56