ผู้นำชุมชนกับบทบาทของผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการสร้างชุมชนรู้เท่าทันสื่อ

รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ
Share on :

ทุกวันนี้ ข่าวคนไทยไม่ว่าจะเป็นผู้สูงวัย เด็ก เยาวชน คนทำงาน ตกเป็นเหยื่อหลงกลมิจฉาชีพที่ใช้เทคนิคการหลอกลวงและการสื่อสารในรูปแบบและช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์ไปขู่ให้กลัว การส่งข้อความ การใช้ไลน์หรือโซเชียลมีเดียเพื่อหลอกให้รัก หรือชักชวนให้ลงทุน เป็นปรากฏการณ์ที่ถูกนำเสนอในการรายงานของสื่อและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างก็ตื่นตัว และพยายามหามาตรการในการปราบปรามและป้องกันภัยเหล่านี้ แต่ทว่าก็ไม่ได้ทำให้สถิติจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อลดลงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม จำนวนคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อและมูลค่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นกลับมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2566 The Global Anti-Scam Alliance (GASA) และ Gogolook (ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall) ได้รายงานผลการสำรวจผู้คนจาก 11 ประเทศในเอเชีย ระบุว่าคนไทยโดนมิจฉาชีพหลอกทางโทรศัพท์ และส่งข้อความผ่านไลน์ เฟซบุ๊ก และอีเมล สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ เป็นอันดับ 2 และฮ่องกง เป็นอันดับ 3 ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยตกเป็นเหยื่อเกิดจาก “ซื่อและไม่รู้ว่ากำลังโดนหลอก” (ร้อยละ 22.2) “ถูกล่อลวงโดยสิ่งจูงใจที่ดีเกินจริง” (ร้อยละ 19.6) และ “ยอมเสี่ยงในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้ใจ” (ร้อยละ 17.7)1 ซึ่งได้สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการถูกหลอกลวงให้ซื้อขายสินค้าหรือบริการ ถูกหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน ถูกหลอกให้กู้เงิน ถูกหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และถูกข่มขู่ทางโทรศัพท์2 โดยผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของมิจฉาชีพและมีโอกาสที่จะถูกหลอกลวงได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น ๆ3

การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของจำนวนคนไทยที่ถูกหลอกและมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาวะทางกายและใจ ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกัน และกลไกการป้องกันตนเองจากการเปิดรับและแยกแยะข้อมูลลวงออกจากข้อเท็จจริง การไม่ตื่นตกใจและรีบทำตามข้อมูลที่ได้รับโดยทันที กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนในสังคมไทย นำไปสู่การให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้แก่คนไทยทุกช่วงวัยผ่านสถาบันการศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่กำลังช่วยกันดำเนินการอย่างเข้มข้น เช่น กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กรมกิจการผู้สูงอายุ Cofact ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงต้นทุนทางสังคมของไทย จะเห็นว่ามีกลไกชุมชนที่จะสามารถช่วยเป็นฟันเฟืองในการสร้างภูมิคุ้มกันในการบริโภคสื่อให้สมาชิกทุกเพศ ทุกวัยในชุมชนได้ นั่นคือ การใช้พลังผู้นำชุมชนในฐานะของผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ชุมชนให้เป็นชุมชนรู้ทันและเฝ้าระวังสื่อทั่วประเทศไทย

ผู้นำชุมชนกับการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

เมื่อพูดถึงผู้นำชุมชน เราก็จะนึกถึงคนที่มีความใกล้ชิดกับทุกครอบครัวหรือ ทุก “บ้าน” ในชุมชน โดยผู้นำที่เราคุ้นเคยก็มักจะเป็นผู้ใหญ่บ้านที่มีบทบาทหน้าที่ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและนำพาลูกบ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม ผู้ใหญ่บ้านเสมือนเป็นผู้แทนระดับชุมชน เนื่องจากมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกในชุมชน มีวาระดำรงตำแหน่งจนอายุ 60 ปี มีบทบาทหน้าที่ตามตำแหน่ง คือ เป็นผู้ช่วยนายอำเภอ และเป็นหัวหน้าราษฎรในหมู่บ้านของตน4 ผู้ใหญ่บ้านจึงเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดและความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ทำให้มีสถานะการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำที่มีพลังและอิทธิพลในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดจากปัจจัยภายในชุมชน เช่น ความต้องการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างในชุมชน หรือเกิดจากปัจจัยภายนอกชุมชน เช่น การพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ชุมชนจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังทำหน้าที่ประสานการดำเนินงาน รวมถึงสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ไปยังคนในชุมชน ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ตลาดนัดชุมชน ศาลาหมู่บ้าน คุ้มบ้าน เวทีประชาคมฯ วิทยุชุมชน และไลน์กลุ่มของชุมชน

ในงานวิจัยของต่างประเทศ กล่าวถึงคุณลักษณะและสมรรถนะที่สำคัญของผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ดี มีความสามารถในการเรียนรู้ที่เกิดจากการเปิดใจรับความรู้และกระบวนการใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากวิถีปฏิบัติเดิม5 มีความสามารถในการจัดการบริบทที่ซับซ้อนรอบตัวได้ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ความสามารถในการปรับตัวของผู้นำการเปลี่ยนแปลงเอง เพื่อจะสอนและเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นรู้จักการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ความสามารถในการปรับตัวของผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั้น รวมถึงการปรับตัวจากบรรทัดฐานเดิม ซึ่งเชื่อมโยงกับค่านิยมและความเชื่อเดิมของตนเองจนกระทั่งนำไปสู่การรับฟังผู้อื่นและเปิดรับความรู้และมุมมองใหม่6

บทบาทตามหน้าที่ของ “ผู้นำชุมชน” ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงการรู้เท่าทันสื่อ

การทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาแบบวัดสมรรถนะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อของผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ของศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEML) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2566-2567 ด้วยการสนับสนุนทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านและกำนัน 24 คน และสัมภาษณ์คนในชุมชน จำนวน 24 คน จาก 8 ชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง ใน 8 จังหวัด 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ (น่าน พะเยา) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา บุรีรัมย์) ภาคกลาง (นครปฐม ฉะเชิงเทรา) และภาคใต้ (พัทลุง ตรัง) ทำให้มองเห็นบทบาทตามหน้าที่ของผู้นำชุมชนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ “ลูกบ้าน” รู้เท่าทันสื่อ และสร้างกลไกการเฝ้าระวังสื่อในชุมชน 5 ด้าน ได้แก่ (1) พัฒนาคนในชุมชนให้มีความรู้เท่าทันสื่อ (2) จัดสภาพแวดล้อมในชุมชน (3) บริหารจัดการชุมชนให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อ (4) สร้างเครือข่าย และ (5) สื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์

(1) การพัฒนาคนในชุมชนให้มีความรู้เท่าทันสื่อ

บทบาทแรกของผู้นำชุมชน คือ การพัฒนาคนในชุมชนให้มีความรู้เท่าทันสื่อ เพราะหากคนในชุมชนมีความรู้และทักษะในการป้องกันตนเองแล้ว ก็จะช่วยทำให้ชีวิตของคนในชุมชนปลอดภัยต่อภัยจากสื่อยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถช่วยเหลือ คุ้มครองคนในครอบครัว และคนในชุมชนได้อีกด้วย ผลการศึกษาพบว่า ผู้นำชุมชนต่างก็มีเป้าหมายนี้เหมือนกัน แต่ต่างกันในเรื่องการจัดกิจกรรมที่บางชุมชนได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายหรือภาครัฐ แต่ในขณะที่บางชุมชนใช้วิธีการเตือน การบอกเล่า ผ่านกลไกการเฝ้าระวังของชุมชนเท่านั้น เช่น ที่ประชุมของชุมชน การประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย นอกจากนี้ ผู้นำชุมชนยังมีการวางแผนเพื่อช่วยกันคุ้มครองป้องกันคนในชุมชนให้ปลอดภัย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชน โดยเริ่มจากการส่งเสริมให้คนในครอบครัวดูแลกัน ช่วยเหลือกันระหว่างคนบ้านใกล้เรือนเคียง และสอดแทรกความรู้เพื่อการรู้เท่าทันสื่อในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ทั้งนี้ การทำงานของผู้นำชุมชนสะท้อนถึงความสามารถในการออกแบบโครงการเกี่ยวกับการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ การพัฒนาศักยภาพในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย และการประเมินความเปลี่ยนแปลงของชุมชน

(2) การจัดสภาพแวดล้อมในชุมชน

ชุมชนในแต่ละพื้นที่ต่างก็มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป แต่ทว่าภายใต้บริบทที่แตกต่างกันนี้ ผู้นำชุมชนได้หาช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน นั่นก็คือ การจัดทำกลุ่มไลน์ชุมชน ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารได้รวดเร็ว ส่งข่าวสารได้ทันต่อเหตุการณ์ และเข้าถึงคนทุกวัย ทุกครอบครัว โดยกลุ่มไลน์ชุมชนมักถูกนำมาใช้ในการแจ้งข่าวต่าง ๆ การประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรม และการช่วยเตือนให้ความรู้เกี่ยวกับการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงใช้เป็นสื่อในการสอนวิธีการป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพอีกด้วย นอกเหนือจากการสื่อสารผ่านกลุ่มไลน์แล้ว ผู้นำชุมชนยังสื่อสารผ่านการประชุมหมู่บ้านที่มีเป็นประจำในทุกเดือน โดยจะมีการแจ้งข่าวสารต่าง ๆ การเตือน การวางมาตรการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อในชุมชน ในขณะที่หลายชุมชนมีมาตรการที่ชัดเจนในการสร้างความปลอดภัยให้กับคนในชุมชน เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิด การติดตั้งสัญญาณเสียงไว้เตือนภัยกัน การติดตั้งไฟฟ้าให้มีแสงสว่างเพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่สัญจรในเวลากลางคืน มีระบบและมาตรการที่ชัดเจนในการช่วยเหลือกัน รวมถึงการตรวจสอบคัดกรองอันตรายจากบุคคลภายนอก ดังนั้น บทบาทของผู้นำชุมชนในการจัดสภาพแวดล้อมในชุมชนจะเกี่ยวข้องกับการสร้างสื่อการเรียนรู้ที่เข้าถึงได้และน่าสนใจเพื่อพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ การส่งเสริมกิจกรรมเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ การสร้างช่องทางและแหล่งเรียนรู้ในชุมชนให้คนทุกลุ่มมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์และออฟไลน์ การตรวจสอบและพัฒนาปรับปรุงนิเวศน์ของชุมชนเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ และการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากการไม่รู้ทันสื่อ

(3) การบริหารจัดการชุมชนให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อ

การบริหารจัดการชุมชนให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อ เป็นอีกบทบาทหนึ่งของผู้นำชุมชนในฐานะของผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนชุมชนรู้ทันสื่อ ผลการวิจัยพบว่า ผู้นำชุมชนให้ความสำคัญในบทบาทนี้อย่างมาก ทุกชุมชนมีการสร้างกลไกในการขับเคลื่อนชุมชน ผ่านคณะกรรมการชุมชน หรือสร้างกลุ่มจิตอาสาขึ้นมา และพยายามสร้างส่วนผสมของสมาชิกในกลุ่มนี้ให้มีความแตกต่างระหว่างวัย เพื่อให้สามารถรับฟังปัญหา รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหาของแต่ละวัยได้อย่างทั่วถึงและเหมาะสม นอกจากนี้ผู้นำชุมชนยังทำหน้าที่ในการสร้างและรักษาไว้ซึ่งทุนทางสังคมของชุมชนและการดึงทุนทางสังคม ซึ่งก็คือสายใยความสัมพันธ์ระหว่างกันของคนในชุมชน เพื่อสร้างพลังชุมชนในการป้องกันและเรียนรู้ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ดังนั้น ผู้นำชุมชนต้องมีความสามารถในจัดการทรัพยากรคน งบประมาณ ใช้ประโยชน์จากทุนทางสังคมของชุมชน และสร้างกลไก ในการเสริมสร้างการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อในชุมชนได้

(4) การสร้างเครือข่าย

การที่จะพัฒนาคนในชุมชนให้มีความรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงสามารถป้องกันอันตรายจากสื่อได้นั้น จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งคนในชุมชนเอง จากภาคเอกชน ภาคราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล วัด และรวมถึงตำรวจซึ่งมีหน้าที่ในการปราบปรามมิจฉาชีพโดยตรง ดังนั้น ผู้นำชุมชนต้องสามารถสร้างเครือข่ายภายในชุมชนระหว่างชุมชน และภายนอกชุมชน ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนได้

(5) สื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์

การสื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความปลอดภัยให้แก่คนในชุมชน จึงถือเป็นภารกิจและบทบาทสำคัญของผู้นำชุมชน จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ทำให้มองเห็นว่าผู้นำชุมชนได้พยายามสื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น ข่าวสารสำคัญจากทางราชการ กลลวงของมิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ การเน้นย้ำให้มีสติในการตัดสินใจเมื่อเปิดรับสื่อ การเตือนให้ช่วยดูแลกันในครอบครัวและชุมชน โดยการใช้วิธีการเตือนผ่านสื่อต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับบริบทของชุมชน เช่น การเตือนแบบปากต่อปาก การเตือนผ่านหอกระจายข่าว การเตือนผ่านพื้นที่สาธารณะ ดังนั้น ในการทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของผู้นำชุมชนจะเกี่ยวข้องกับการกลั่นกรองข้อมูลและสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อมาถ่ายทอดให้แก่คนในชุมชน การประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ชุมชนมีการใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ และการให้คำแนะนำ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับคนในชุมชน

งานวิจัยสะท้อนให้เห็นว่า “ผู้นำชุมชน” เป็นทรัพยากรสำคัญของสังคมไทยที่มีพลังอำนาจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน ซึ่งรวมถึงการสร้างความปลอดภัยในการบริโภคสื่อ และการป้องกันไม่ให้กลลวงของมิจฉาชีพที่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือมาทำร้าย และสร้างความสูญเสียให้กับคนในชุมชน การทำหน้าที่ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้นำชุมชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตในยุคดิจิทัลที่สื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนในทุกชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อ้างอิง

1Post Today. (2566, ธันวาคม 20). สุดอึ้ง ! คนไทยโดนมิจฉาชีพหลอกทางโทรศัพท์มากที่สุดในเอเชีย. สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม

2567 จากhttps://www.posttoday.com/smart-city/703451

2สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย. (2566, ธันวาคม 7). เปิดยอดสถิติแจ้งความออนไลน์ห้วง 9 เดือน คนไทยเป็นเหยื่อมิจฉาชีพกว่า

50,000 ล้านบาท. สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม 2567 จากhttps://nbt2hd.prd.go.th/th/content/category/detail/id/2153/iid/23929

3MGR online. (2566, ตุลาคม 14) เตือนภัยผู้สูงอายุ! ตำรวจไซเบอร์พบถี่ มิจฉาชีพใช้คำหวานหลอกลวงให้ลงทุน ฝากบุตรหลานช่วยดูแลใกล้ชิด. สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม 2567 จาก https://mgronline.com/crime/detail/9660000092629

4กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย. (2541). คู่มือปฏิบัติงานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน. โรงพิมพ์อาสารักษาดินแดนhttp://abt.in.th/_files_aorbortor/040950/uploads/files/9aca620ae04f47a20

a748f85431d2a7e601d058833f4c069439675309571811(1).pdf

5Little, B. R. (2017). Who are you, really?: The surprising puzzle of personality. Simon and Schuster.

6Wiek, A., Withycombe, L., & Redman, C. L. (2011). Key competencies in sustainability: a reference framework for academic program development. Sustainability Science, 6, 203-218.