โยคะกับมะลิ (Yoga with Mali)

รองศาสตราจารย์ ดร.โสภนา ศรีจำปา
Share on :

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลงในรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2567 ระบุถึงสุขภาพจิตของคนวัยทำงานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีหลายปัญหารุมเร้าอันมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย… ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า คนกทม. “ทำงานหนักเกินไป” ติดอันดับ 5 จาก 100 เมืองทั่วโลก ใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของแต่ละวันไปกับการทำงาน ส่งผลให้คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 มีอาการหมดไฟ ในการทำงาน (กรุงเทพธุรกิจ 27 พ.ค. 2024) 

จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ ที่อยู่ในวัยทำงานต้องเผชิญกับภาวะกดดันต่าง ๆ ที่เกิดจากการทำงานและการดำเนินชีวิต ประจำวันจนทำให้หมดไฟในการทำงาน ซึ่งส่งผลไม่ดีต่อสุขภาวะของคนกลุ่มนี้ ถึงแม้ว่าคนในวัยทำงานจะไม่ได้มีปัญหาสุขภาพจิตเสมอไป แต่ผู้ที่นั่ง ทำงานโดยเฉพาะกับคอมพิวเตอร์ทั้งวันมักมีอาการ “ออฟฟิศซินโดรม” จนทำให้เกิดความเมื่อยล้าตามร่างกาย ต้องไปทำกายภาพบำบัดหรือไป นวดแผนไทย ซึ่งเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

ศูนย์ภารตะศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เป็นผู้นำในการส่งเสริมและเผยแพร่โยคะและ อายุรเวทให้กับสังคมไทยและนานาชาติ ผ่านการจัดอบรมทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาวมาอย่างยาวนาน รวมทั้งผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับ โยคะสำหรับชีวิตประจำวันและแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง เช่น ออฟฟิศซินโดรม การผ่อนคลายความเครียด การสร้างภูมิคุ้มกัน ฯลฯ อย่างไรก็ดี ศูนย์ภารตะศึกษาตระหนักว่าสื่อเหล่านี้อาจจะยังไม่ตอบโจทย์คนในยุคดิจิทัลที่อยู่ในวัยเรียนและวัยทำงาน ซึ่งมีความต้องการรับสารที่สั้น กระชับ รู้ผลหรือสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องใด ๆ ก็ตามในเวลาอันจำกัด และรวดเร็ว อีกทั้งต้องมีความน่าสนใจและสร้างความแตกต่างจากการนำเสนอ เรื่องที่เกี่ยวกับโยคะและอายุรเวทที่ผ่านมา

ดังนั้น ศูนย์ภารตะศึกษาจึงตั้งทีมทำงานที่มีคนสามวัย ได้แก่ Gen Baby boom, Gen X และ Gen Z ร่วมกับ ผู้ผลิตสื่อที่เป็นศิษย์เก่า หลักสูตร International Diploma course on Yogic Science and Ayurveda ของสถาบันฯ เพื่อผลิตผลงานสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ Pain Points จากการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันด้วยการระดมสมองของทีมสามวัยโดยมี Concept ว่าเป็นเวอร์ชันไทยที่แตกต่างจากการนำเสนอในสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ ดังนั้น คลิปการ์ตูนสั้นสามนาทีในชื่อว่า “โยคะกับมะลิ” (Yoga with Mali) จึงถือกำเนิดขึ้นโดยมีตัวแสดงชื่อมะลิ ที่มีรูปร่างท้วม ๆ แต่น่ารัก ที่สามารถฝึกโยคะ ด้วยท่าทางประกอบที่เคลื่อนไหวได้ โดยมีคำอธิบายภาษาไทยและภาษาอังกฤษสั้น ๆ กำกับ พร้อมกับความรู้เสริมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ฝึกและผู้สนใจไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน สถานศึกษา หรือสถานที่แห่งใดที่พอจะมีเวลา และพื้นที่ว่าง ๆ บ้างก็สามารถเปิดดูและฝึกตาม ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะ YouTube หากทำได้สม่ำเสมอเชื่อแน่ว่าปัญหาต่าง ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจที่เกิดจากผลกระทบการใช้ชีวิต ประจำวันซึ่งไม่สมดุลจะค่อย ๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น และจะช่วยสร้างเสริมสุขภาวะกาย ใจ และสมาธิให้ผู้ฝึกปฏิบัติได้อย่างเป็นองค์รวม ดังคำกล่าวที่ว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องฝึกและดูแลตนเอง”

ขณะนี้สื่อดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการผลิต โดยศูนย์ภารตะศึกษาจะทยอยเผยแพร่สื่อผ่านสื่อดิจิทัลออนไลน์ต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ ทางช่องทาง Facebook และ Youtube: RILCA, Mahidol University และ Centre for Bharat Studies Mahidol University และจะเผยแพร่ ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงกลุ่มคนเปราะบางต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต

ศูนย์ภารตะศึกษาพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการรังสรรค์ผลงานสร้างสรรค์เพื่อมีส่วนช่วยสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมให้กับ ชาวมหิดล สังคมไทย และสังคมโลกต่อไป