ตามรอยผ้าไหมเขมรถิ่นไทย

กุมารี ลาภอาภรณ์
Share on :

“ผ้าไหม” ของชาวเขมรถิ่นไทยถือเป็นมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี จากข้อมูล ทางวัฒนธรรม บ่งชี้ให้เห็นว่า ชาวอีสานมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และใช้ผ้าไหมกันมานานแล้ว เพื่อประโยชน์ใช้สอยโดยตรงและ เพื่อการค้าขาย นอกจากนี้ผ้าไหมของชาวเขมรถิ่นไทยยังมีบทบาท ทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันภายในครอบครัวและ ภายในกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งยังแสดงสถานภาพทางสังคมร่วมด้วย

ชาวเขมรถิ่นไทยมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับผ้าไหมตั้งแต่เกิด จนตาย ทั้งการสวมใส่เป็นเครื่องนุ่งห่ม ใช้สอยในชีวิตประจำวัน และใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ลวดลายและความงดงามบนผืนผ้าไหมของชาวเขมรถิ่นไทยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น รวมทั้ง มีการย้อมด้วยสีธรรมชาติ เช่น สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจาก หัวขมิ้นชัน รวมถึงการทอที่มีความแน่น ใช้ความประณีตละเอียดอ่อน ในการทอ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้าน การทอผ้า เป็นกระบวนการถ่ายทอดภายในครอบครัว จากแม่สู่ ลูกสาวหรือจากยายสู่หลานสาว จนกลายเป็นการสั่งสมภูมิปัญญา จากรุ่นสู่รุ่น

ปัจจุบัน “ผ้าไหม” ของชาวเขมรถิ่นไทยยังคงเป็นที่นิยม มากจนกลายเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อ โดยเฉพาะในแถบจังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ มีราคาตั้งแต่หลักพันจนกระทั่งหลักแสน โดยเฉพาะ“ผ้าโฮล” เป็นผ้ามัดหมี่ที่ขึ้นชื่อของเมืองสุรินทร์ย้อมด้วยสี ธรรมชาติถึง 5 สี ประกอบด้วยสีแดงอมทอง สีเหลืองอมทอง สีเขียว สีฟ้า และสีม่วง ซึ่งกว่าจะได้ผ้าไหมแต่ละผืนนั้นต้องอาศัย กระบวนการทำหลายขั้นตอน ตั้งแต่การเลี้ยงไหม การสาวไหม การฟอกเส้นไหม การย้อม การออกแบบลวดลาย จนกระทั่งการทอ ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาและประสบการณ์ ความชำนาญของช่างทอ

คงเป็นที่น่าเสียดายหากองค์ความรู้ภูมิปัญญาด้าน การทอผ้าเหล่านี้จะสูญหายไปหรือไม่มีผู้สืบทอด ประสบการณ์ และความผูกพันระหว่าง “ชีวิต” กับ “เส้นไหม” ยังคงฝังจำอยู่ ในกลุ่มคนรุ่นสูงอายุและคนรุ่นกลางเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลัง จะเลือนรางหายไป โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ที่มี วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สื่อดิจิทัลและเทคโนโลยี ในโลกไร้พรมแดนมีบทบาทและมีความสำคัญต่อชีวิตเพิ่มมากขึ้น

ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดทำโครงการ “ตามรอยผ้าไหมเขมรถิ่นไทย เพื่อส่งเสริม เศรษฐกิจฐานรากด้วยพลังภาษาและวัฒนธรรม บ้านโพธิ์กอง ต.เชื้อเพลิง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์” ซึ่งได้รับการสนับสนุน จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยจัดกิจกรรมร่วมกับคน ในชุมชน ในการรวบรวมและบันทึกองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการทอผ้าของชาวเขมรถิ่นไทย บ้านโพธิ์กอง ด้วยการจดบันทึก ด้วยภาษาเขมรถิ่นไทย อักษรไทย รวมทั้งร่วมกันผลิตสื่อความรู้ที่ เกี่ยวข้องกับการทอผ้าไหม ทั้งในรูปแบบสื่อดิจิทัลและสื่อสิ่งพิมพ์ โดยชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อให้เยาวชนหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจในการทอผ้าสามารถศึกษา เรียนรู้องค์ความรู้ท้องถิ่นของตนเองที่สามารถ เข้าถึงได้ง่ายตามยุคสมัย และเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาต่อยอดสู่ การประกอบอาชีพในอนาคต นำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 10 (SDG 10) ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่าง ประเทศ โดยเฉพาะเป้าหมายย่อย 10.2 ด้านการเสริมสร้างศักยภาพ และส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับ ทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ

นอกจากนี้ ในโครงการยังได้จัดทำกิจกรรมผลิตสื่อเผยแพร่ สำหรับกลุ่มผู้บริโภคหรือคนทั่วไป ได้มีความรู้ ความเข้าใจ เล็งเห็นคุณค่า และความสำคัญของผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของชาวเขมรถิ่นไทย เป็นการสร้าง แรงจูงใจในการซื้อของกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น รวมทั้งการผลักดันสู่ การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งถือว่าเป็น การเพิ่ม “Local Content” โดยใช้ฐานองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านผ้าไหมของชาวเขมรถิ่นไทย ทำให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของ ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม และสามารถสร้างรายได้ ให้กับชุมชนเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันชุมชนบ้านโพธิ์กอง ภายใต้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้าน เกษตรกรบ้านโพธิ์กอง ได้รับใบรับรองระบบคุณภาพการบริการตาม มาตรฐานอุตสาหกรรมเอสในปี 2565 จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (สมอ.)  ถือเป็นการมุ่งเป้าไปสู่เป้าหมายของการพัฒนา ที่ยั่งยืน ทั้งเป้าหมายที่ 1 ด้านยุติความยากจนทุกรูปแบบในพื้นที่ และ เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า และงานที่ดีสำหรับทุกคน

อ้างอิง
ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). คู่มือระบบเขียนภาษาเขมรถิ่นไทยอักษรไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. ราชบัณฑิตยสถาน.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.(2537). ผ้าไทย. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
สำนักงานจังหวัดสุรินทร์. (2556). เล่าเรื่องเมืองสุรินทร์ ตอน ศิลปหัตถกรรม วัฒนธรรม ประเพณีพื้นบ้าน. สำนักงานจังหวัดสุรินทร์.