ศิษย์เก่าเล่าเรื่อง “ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี” กับพิพิธภัณฑ์บ้านดำ
ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี เป็นบุตรชายคนเดียวของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) พ.ศ.2544 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา (พิพิธภัณฑ์ศึกษา) เมื่อปี 2552 ด้วยอุปนิสัยที่เป็นผู้เสียสละ บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและสังคมในวงกว้างเสมอมา ทั้งยังกตัญญูต่อผู้ให้กำเนิดจึงได้รับคัดเลือกให้เป็น “ศิษย์เก่าดีเด่น Mahidol University Alumni Awards 2025” ประจำปี พ.ศ.2568 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2568 เนื่องในโอกาสครบรอบ 56 ปีวันพระราชทานนาม 117 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล ในโอกาสนี้ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ขอร่วมแสดงความยินดีกับ ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ และขอเปิดพื้นที่ให้หลายคนได้รู้จักตัวตนและผลงานของศิษย์เก่าท่านนี้

ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี เป็นศิลปินอิสระผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะแนวสื่อผสม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ” (BAANDAM MUSEUM) จังหวัดเชียงราย ที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจพัฒนาให้พิพิธภัณฑ์บ้านดำเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานและเป็นสถานที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้และวัสดุต่าง ๆ ของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ผู้เป็นบิดา “…พิพิธิภัณฑ์บ้านดำไม่ได้เป็นสมบัติของใคร บ้านดำเป็นสมบัติของแผ่นดิน ผมเป็นเพียงผู้รักษาสมบัติของชาติ ของโลก เพื่อให้ผู้คนที่ได้มาสัมผัส ได้เรียนรู้” ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี กล่าว
“พิพิธภัณฑ์บ้านดำ” เป็นสถานที่ที่มีความหมายที่เป็นเสมือนตัวแทนของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี, อยากให้เล่าที่มา, ที่ไป และความยิ่งใหญ่ของ “บ้านดำ”
แม่เล่าว่ามีคนบอกขายที่ดินที่นางแล ในอำเภอเมืองเชียงราย ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านราว 10 กิโลเมตร ในสมัยก่อนนับว่ายังห่างไกล แม่รู้ว่าอาจารย์ถวัลย์มีฝันที่อยากจะมีอาณาจักรเป็นของตัวเองจึงตัดสินใจใช้เงินขวัญถุงที่คุณยายมอบให้ซื้อที่ดิน ซึ่งอาจารย์ถวัลย์ได้สร้างบ้านและเลือกทิ้งความสะดวกสบายทั้งไฟฟ้าและน้ำประปา การใช้ชีวิตที่แตกต่างจากผู้คนส่วนใหญ่ทำให้อาจารย์ถวัลย์ถูกมองว่าเป็นคนแตกต่างจากคนอื่น การพูดถึงอาจารย์ถวัลย์แบบปากต่อปากทำให้บ้านดำเริ่มเป็นที่รู้จัก และมีผู้คนเข้าเยี่ยมชมมากขึ้น ไม่ต่างจากบ้านของชาวกะเหรี่ยงคอยาวที่อยู่ละแวกเดียวกัน ที่มาของบ้านดำจึงเกิดจากความรักของแม่ที่มีต่อพ่อ
บ้านดำมีวิวัฒนาการอยู่ 3 ยุค ยุคแรกสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติ ใช้ไม้ไผ่และมุงด้วยหญ้าคา เมื่อมีพายุพัดแรงบ้านจึงพังทั้งหลังเนื่องจากไม่มีความมั่นคง ซึ่ง ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ได้มาเยี่ยมบ้านดำคราวที่เกิดภัยพิบัติด้วย ยุคต่อมาเป็นการสร้างด้วยไม้ผสมคอนกรีต โดยใช้น้ำมันขี้โล้ทาเคลือบไม้เพื่อป้องกันปลวกมอดกัดกินซึ่งก็เป็นการทาสีไปในตัว แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้น้ำมันวานิชแล้ว สำหรับไม้ที่ใช้ในการสร้างก็ได้ไม้ที่หาซื้อจากจังหวัดแพร่ และน่าน ซึ่งเป็นบ้านเก่าและไม้เก่า ส่วนยุคที่สามสร้างด้วยคอนกรีตล้วน โดยรูปแบบของบ้านดำอาจารย์ถวัลย์ได้รับแรงบันดาลใจจากหลายประเทศทั่วโลก และเหตุที่บ้านดำถูกชาวบ้านเรียกว่าบ้านดำ ก็เพราะบ้านมีสีดำนั่นเอง ซึ่งอาจารย์ถวัลย์บอกว่าสีดำคือ สีของจักรวาล แต่ผมมองว่าบ้านดำคือ งานศิลปะที่สร้างสรรค์จากหลักคิดทางศิลปะผสมผสานกับสถาปัตยกรรมและทั้งหมดคือ ความหมายที่ซ่อนอยู่ใน “บ้านดำ”
สำหรับผลงานของอาจารย์ถวัลย์ไม่ได้มีแค่งานวาดภาพเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งอาจารย์ถวัลย์ได้เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ทั้งหมดของภาคเหนือ อาทิ เรื่องเกษตรกรรม เช่น คันไถ ที่เก็บข้าว เรื่องการเดินทางมีเรือและช้าง ทั้งยังริเริ่มการอนุรักษ์งาน Craft เช่น กระบวยตักน้ำที่ใช้กะลามะพร้าวใช้ไม้เสียบทำเป็นด้าม และเป็นแรงกระตุ้นให้ศิลปินพื้นบ้านทำงานแมกคานิคที่มีกลไกลต่าง ๆ ซึ่งเป็นนวัตกรรม อย่างตระกูลช่างแกะกระบวยที่ถูกสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน และงานศิลปะของจังหวัดเชียงราย ของภาคเหนือ และครอบคลุมทั่วประเทศไทย รวมไปการสืบสานงานดนตรีคือ พิณและเปี้ยะด้วย

มีแรงบันดาลใจอะไรให้ทำ “ศูนย์กลางการลงทุนศิลปะฯ ‘ART INVESTMENT CENTER (AIC)” ผลตอบรับและแนวทางการพัฒนาในอนาคตเป็นอย่างไร
แม้ประเทศไทยเราจะมีงานศิลปะและวัฒนธรรมมากมาย แต่การขายไม่เป็นทำให้ไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ผมเห็นปัญหาหลายอย่างที่เป็นจุด Pain Point ของวงการศิลปะ ผมจึงคิด Platform แรกของโลกที่เรียกว่า Ultimate Luxury platform ในแบบ One stop service ซึ่งเป็นนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคมอย่างยั่งยืน ที่เรียกว่า “Art Investment Center (AIC) – The next level of passion investment” ศูนย์กลางการลงทุนด้านศิลปะ และของสะสมล้ำค่าแบบครบวงจร ขึ้นมา เพื่อให้โลกรับรู้ว่าเมืองไทยไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยว วัดพระแก้ว ภูเขา ทะเล หรือแม่น้ำเท่านั้น แต่เป็นศูนย์กลางเป็นกรุสมบัติของเอเชีย ซึ่งหลายโครงการที่ผมทำจึงมีลักษณะเป็น “The Eternal Treasure of Asia – สมบัติชั่วนิรันดร์แห่งเอเชีย” ที่ยกระดับงานศิลปะของเราไม่ให้เป็นแค่เมืองผ่าน
โครงการดังกล่าวได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ซี่งประสบความสำเร็จและมีผู้สนใจล้นหลาม ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในส่วนขยายโดยเน้นที่บริการ 6 ช่องทางคือ ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่า บริจาค และสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นบริการที่ครบวงจร ซึ่งผมได้ใช้องค์ความรู้ที่ได้เรียนจากหลักสูตรการจัดการพิพิธภัณฑ์เข้ามามีส่วนช่วยในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินมูลค่างานศิลปะ หรือของสะสมต่าง ๆ การตรวจสอบ การทำ certificate การอนุรักษ์ ฯลฯ โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ทำให้งานศิลปะถูกยกระดับและคุณค่าเช่นเดียวกับทรัพย์สินประเภทอื่น

พิพิธภัณฑ์มีความสำคัญและจำเป็นต่อวงการศึกษาไทยอย่างไร และอยากให้ภาครัฐสนับสนุนเรื่องใด
จำเป็นมากครับ เพราะพิพิธภัณฑ์จะทำให้เด็กรู้ที่มาที่ไปและเห็นภาพสะท้อนว่าประเทศเรามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือวัฒนธรรมอย่างไร เราต้องเชิดชูเรื่องนี้ให้มากที่สุด ให้เมืองไทยเป็นอารยธรรมของเอเชียให้ได้ ซึ่งวัฒนธรรมจะเป็นตัวบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้กับคนรุ่นต่อไป ส่วนการจะให้รัฐสนับสนุนนั้น เป็นเรื่องข้อกฎหมายหรือข้อยกเว้นบางประการที่เป็นประโยชน์กับการดำเนินงานด้านพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัดหรือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่นอกจากขาดแคลนทุนทรัพย์แล้วยังประสบปัญหาเรื่องภาษีย้อนหลัง ซึ่งผมเห็นว่าพิพิธภัณฑ์เองควรเสนอเรื่องนี้ให้ภาครัฐพิจารณาและให้ความช่วยเหลือด้วย หรืออย่างน้อยก็ควรมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กระตุ้นให้คนในปัจจุบันหันมาสนใจพิพิธภัณฑ์ และที่พิพิธภัณฑ์เองก็ต้องปรับปรุงวิธีนำเสนอให้ดึงดูดความสนใจ หรือมีความน่าสนใจมากขึ้นเพื่อให้พิพิธภัณฑ์อยู่รอด
อย่างไรก็ตาม เหตุที่วงการพิพิธภัณฑ์ไม่เติบโตและประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เป็นเพราะคนทั่วไปยังมองพิพิธภัณฑ์เป็นเพียงที่จัดแสดงหรือที่เก็บและอนุรักษ์ของเก่า การนำเสนอก็ยังเป็นรูปแบบเดิม ๆ คนไทยจึงไม่สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์ บางคนไม่รู้แม้แต่สถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร สำหรับผมซึ่งทำงานพิพิธภัณฑ์เห็นว่า ต้องให้ผู้ชมมีส่วนร่วม ต้องนำเสนอประสบการณ์ในการชม รวมถึงทำให้ผู้เข้าชมเห็นได้รับประโยชน์ที่จะได้รับจากการชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งแม้ว่าบ้านเราจะมีพิพิธภัณฑ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่คำถามคือ พิพิธภัณฑ์เหล่านั้นสร้างแรงบันดาลใจอะไรให้กับคนดูบ้าง สิ่งที่ผมห่วงคือ ทำอย่างไรให้พิพิธภัณฑ์มีความยั่งยืน จากประสบการณ์ที่ผมได้รับในการร่วมงานกับพาทเนอร์ระดับโลก พบว่า พวกเขาใช้ความ Immersive (ดื่มด่ำ) และเทคโนโลยีในการนำเสนอ ซึ่งผมใช้แนวคิดนี้กับงานของอาจารย์ถวัลย์ด้วย และผมเห็นว่าหากนำมาใช้กับพิพิธภัณฑ์ที่เป็นจุด Pain Point (จุดอ่อนทางธุรกิจ) ที่ผู้ชมสนใจเพียงระยะเวลาสั้น ๆ หรือตามกระแส เช่น พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ หรือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ จะช่วยแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี แต่ก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูงด้วยเช่นกัน

“ดูศิลปะ ต้องใช้ใจดู” ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับงานศิลปะตั้งแต่เด็ก ได้เห็น ได้สัมผัส คิดอย่างไรกับประโยคนี้
เพราะงานศิลปะไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์แต่ถูกสร้างขึ้นจากจินตนาการและปัจเจก การดูงานศิลปะจึงต้องใช้ความรู้สึกและต้องสัมผัส หากดูแล้วไม่เกิดความรู้สึกใด ๆ ภาพนั้นก็เป็นเพียงภาพประกอบหรือแบบเรียนให้เด็กดูเท่านั้น สำหรับคนดูงานศิลปะจะมีอยู่ 2 ประเภท คือคนที่ดูแล้วไม่รู้สึกอะไร กับคนที่ใช้ความรู้ ทำการบ้านก่อนไปดู รู้ว่าศิลปินมีงานแบบไหน คิดและถ่ายทอดด้วยวิธีใด ซึ่งการดูต้องใช้ทั้งใจ ตา และสมองพิจารณาจึงได้อะไรกลับมา ต้องรู้จักตั้งคำถาม ด้วยเหตุนี้งานศิลปะจึงเป็นมากกว่าภาพธรรมดา และมีมูลค่าสูงยิ่งเมื่อเทียบกับทองหรือเพชร ทั้งยังเป็นของสะสมล้ำค่าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุดในโลก เห็นได้จากราคาประมูลที่สูงเป็นพันล้าน หมื่นล้าน อย่างภาพหนุมานของอาจารย์ถวัลย์ที่ถูกประมูลไปในราคากว่า 25.5 ล้านบาทโดยชาวต่างชาติ เป็นการวาดภาพโดยเอาหัวใจของหนุมานออกมาเขียนเป็นวานรที่มีเขี้ยวเพชรและหาวเป็นดาวเป็นเดือน หรือภาพโมนาลิซาที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre Museum) กรุงปารีส ที่สร้างเม็ดเงินให้มากมายมหาศาลต่อปี งานศิลปะจึงเป็นการสร้างภาพที่ใช้ต้นทุนต่ำจากเฟรม สี และพู่กัน แต่ใช้จินตนาการที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง
การมีอยู่ของศิลปะจำเป็นหรือไม่ เพราะเหตุใด และศิลปะที่ดีควรเป็นอย่างไร
คำหนึ่งที่อาจารย์ถวัลย์เคยพูดไว้ “ถ้าโลกนี้ไม่มีศิลปะ ก็เหมือนก้อนหินที่ลอยคว้างอยู่ในจักรวาล” ความหมายของอาจารย์ถวัลย์ก็คือ หากไม่มีงานศิลปะก็จะไม่เห็นทุ่งดอกไม้ที่ถูกประดับไว้บนโลก และเราเองก็ไม่ต่างอะไรกับหุ่นยนต์ ศิลปวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งกล่อมเกลาจิตวิญญาณในความเป็นมนุษย์ให้เกิดสุนทรียภาพ เราสามารถนำศิลปะไปใช้ได้ในหลายมิติ ทั้งการบำบัดรักษา การสร้างสมาธิ การสร้างอาชีพ และต่อยอดไปในอีกหลายแขนง ส่วนคำถามที่ว่าศิลปะที่ดีควรเป็นอย่างไร ศิลปะที่ดีต้องสะเทือนเฟือนไหวทางจิตวิญญาณ ต้องกระชากความรู้สึกของคนดูได้เป็นอันดับแรก ต้องเกิดความรู้สึก “ทึ่ง” คือรู้สึกชอบ รู้สึกปิ๊งเมื่อแรกเห็น ส่วนคำว่าดี ต้องดูทั้งเรื่องความประณีตหรือการใช้เทคนิคที่ดี

ได้ใช้ความรู้ด้าน “การออกแบบ” “การจัดการพิพิธภัณฑ์” และ “ศิลปะ” ไปพัฒนาพิพิธภัณฑ์อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์
ในการทำงานจำเป็นต้องรู้ว่ารากแก้วของเราคืออะไร เพื่อจะได้นำความรู้และหลักการมาใช้ให้ตรงกับงาน ซึ่งผมมองว่าเราไม่อาจใช้หลักการใดหลักการหนึ่งเพียงอย่างเดียวได้ เพราะความรู้มีหลากหลายมิติและหลายด้าน สำหรับศิลปวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์ผมเห็นหลายมุม ทั้งข้อดี-ข้อเสีย และปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นจุดด้อย จึงอยากให้กำลังใจคนทำงาน เราจำเป็นต้องมีความรู้ด้านอื่นเพื่อออกนอกกรอบไปสู่แนวทางใหม่ ๆ ที่เป็นการพัฒนางาน ต้องร่วมมือกับหลายองค์กรเพื่อให้วงการศิลปวัฒนธรรมไปต่อได้ เป็นการนำคุณค่าทางวัฒนธรรมมาเพิ่มเป็นมูลค่า จนเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม
มีปรัชญาการทำงานอย่างไรจึงประสบความสำเร็จเป็น ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี ได้ในวันนี้
การทำงานให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมี 2 สิ่งคือ มีใจที่จะทำ ความตั้งใจจริงและมุ่งมั่นอุตสาหะจะทำให้ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และหาแนวทางพัฒนางานของตัวเองและหาความรู้ในหลายมิติ เพื่อเอามาส่งเสริมงานของเรา นอกจากนี้ การร่วมมือกับองค์กรหรือเครือข่ายก็จะทำให้วงการศิลปวัฒนธรรมมีมูลค่า จนเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม
“บ้านดำ” ภาชนะห่อหุ้มจิตวิญญาณของถวัลย์ ดัชนี “BAANDAM” THE HISTORIC ART MUSEUM OF THE NATIONAL ARTIST THAWAN DUCHANEE วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ต้องการสื่ออะไร
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีความสำคัญและเป็นเรื่องที่กว้างมาก ที่เป็นศูนย์รวมของทุกสรรพสิ่งที่เป็นสหวิทยาการทั้งหมดในชีวิตของอาจารย์ถวัลย์ เป็นงานที่ทำให้เข้าใจวิธีคิดในการสร้างบ้านดำทั้งในด้านรูปแบบ เนื้อหา และที่มา ที่ได้จากปากคำของอาจารย์ถวัลย์เอง ทำให้วิทยานิพน์เรื่องนี้เต็มไปด้วยองค์ความรู้ มีความสมบูรณ์ถูกต้องและตรงกับความเป็นจริง ซึ่งยังไม่เคยมีใครได้ทำมาก่อน ผมบอกกับอาจารย์ถวัลย์แต่แรกเมื่อเรียนพิพิธภัณฑ์ที่สถาบันฯ ว่าจะทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ ซึ่งธรรมชาติของอาจารย์ถวัลย์เป็นคนชอบพูดติดตลกและมักไม่ตอบเมื่อมีผู้ตั้งคำถาม แต่กับการศึกษาเรื่องนี้อาจารย์ถวัลย์ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยช่วยคิด ช่วยเขียนและทำให้ออกมาในรูปของงานวิชาการ เช่น การตั้งชื่อบ้าน แนวคิดในการสร้าง การวางผังจากนครวัด นครธม ซึ่งอาจารย์ถวัลย์ได้รับแรงบันดาลใจจากประเทศอินโดนีเซีย เมียนมา เขมร หรือลาว ผมจึงทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ด้วยความตั้งใจและมีความสุขมากที่ได้เอาหัวใจและความสำคัญทั้งหมดของบ้านดำออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม เป็นความทรงจำที่ดีระหว่างผมกับสถาบันฯ และระหว่างผมกับอาจารย์ถวัลย์ และเป็นประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างในชีวิตผมไปตลอดกาล

ในฐานะศิษย์เก่ามองเห็นบทบาทหน้าที่ของ RILCA ในปัจจุบันอย่างไร
ภารกิจของสถาบันฯ เป็นการทำงานที่ไม่ต่างอะไรกับการปิดทองหลังพระ ผมบอกเสมอว่าจบพิพิธภัณฑ์ศึกษาจากที่นี่ อยากให้สถาบันฯ เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก การที่ผมได้รับความรู้ด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ ทำให้คนทำงานศิลปะอย่างผมที่ใช้สมองแค่ฝั่งเดียว รู้ว่าจริง ๆ แล้ว โลกใบนี้ยังมีเรื่อนอื่นให้รับรู้อีกมาก ซึ่งผมคิดว่าพิพิธภัณฑ์เป็นจุดแข็งของสถาบันฯ เป็นแหล่งผลิตบุคลากรด้านศิลปวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญและเป็นความต้องการของตลาด เป็นองค์กรสำคัญที่จะสร้างบุคลากรเพื่อทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ซึ่งประเทศเรายังต้องการคนทำงานด้านพิพิธภัณฑ์อีกมาก เพื่อพัฒนางานด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศให้เติบโต
หากจะใช้ศิลปวัฒนธรรมเพื่อทำงานด้านส่งเสริมสุขภาวะของคนในสังคม ควรเป็นรูปแบบใดจึงเหมาะสมและประสบความสำเร็จ
พิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องของความยั่งยืน เป็นวัฒนธรรมที่ต้องมีการสืบทอดต่อไปในอนาคต การทำหรือสร้างพิพิธภัณฑ์สักแห่งจึงต้องคำนึงถึงหลายสิ่ง และจำเป็นที่จะต้องดูบริบททางวัฒนธรรมหรือสังคมนั้นก่อน ว่าการมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจะส่งเสริมอะไรได้บ้าง และหากไม่มีจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเหตุที่พิพิธภัณฑ์หลายแห่งไปต่อไม่ได้เพราะชุมชนไม่รัก ไม่ให้ความร่วมมือ ทำให้เกิดปัญหาไม่เข้าใจระหว่างกันของคนในชุมชนและพิพิธภัณฑ์ ดังนั้น เราต้องส่งเสริมคนในชุมชนให้เข้าใจและรักในสิ่งที่เราทำก่อน อย่างพิพิธภัณฑ์บ้านดำซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จ เกิดจากการที่ผมไม่นึกถึงตัวเอง ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางว่า พิพิธภัณฑ์บ้านดำเป็นของฉัน ฉันต้องบริหารจัดการทุกอย่าง ผมมองว่าพิพิธภัณฑ์บ้านดำเป็นเพียงกุญแจดอกเดียว ไม่เคยมีรั้ว ไม่เคยปิด เป็นแหล่งบ่มเพาะที่มีพนักงานเป็นคนท้องถิ่น เราดูว่าคนในชุมชนจะได้ประโยชน์อะไรจากพิพิธภัณฑ์ สำคัญที่สุดคือ ต้องเสียสละให้ส่วนรวม
ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี จึงเป็นลูกไม้ใต้ต้นที่สืบทอดเจตนาการตอบแทนคุณแผ่นดิน เช่นเดียวกับที่อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ที่ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างของการเป็น “ผู้ให้” หากมีญาณใดที่อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี จะรับรู้ได้ คงภาคภูมิใจอย่างที่สุดที่ลูกชายคนเดียวได้รับรางวัลจากการทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติและส่วนรวม ตามรอยพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และ เกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”
