ความรู้ที่อยากให้กับใจที่อยากช่วย

ปิยวรรณ เกาะแก้ว

รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา วัฒนธรรมศึกษา ได้รับการยกย่องจากสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลให้เป็นอาจารย์ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตน ตามแนวทาง “จรรยาบรรณอาจารย์” และมีคุณธรรมจริยธรรมอันดีงาม เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นอาจารย์ ตัวอย่างของสภาคณาจารย์ ประจำปี 2564

นับเป็นเวลากว่า 20 ปีของการปฎิบัติงานในฐานะบุคลากรของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ที่ได้ทุ่มเทและอุทิศตนเพื่อสร้างผลงานทางวิชาการและสร้างมหาบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคมจนเป็น ที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน โดยได้ใช้ความรู้ทั้งสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ และประสบการณ์ของการทำงาน วิจัยด้านวัฒนธรรมในประเด็นสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์และผู้ย้ายถิ่น และวัฒนธรรมกับการดูแลผู้สูงอายุ

จุดเริ่มของการทำงานที่สถาบันฯจนมาเป็นรองศาสตราจารย์ดร.” ในปัจจุบัน

ความใฝ่ฝันวัยเด็กอยากเป็นพยาบาลค่ะ จึงทำงานเป็นพยาบาลวิชาชีพอยู่ในโรงพยาบาลที่ต่างจังหวัด ต่อมาได้สมัครเข้าศึกษาต่อ ในระดับบัณฑิตศึกษา แขนงวิชา “วัฒนธรรมสาธารณสุข” ที่สถาบันฯ เพราะเห็นว่าความรู้สายวิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่อาจตอบโจทย์เรื่อง การดูแลรักษาสุขภาพและความเจ็บป่วยได้ แต่เมื่อจบกลับไปก็พบว่าต้องทำงานบริหารด้วยคือเป็นหัวหน้าพยาบาล ซึ่งไม่ใช่งานที่ชอบ ดังนั้น เมื่อรองศาสตราจารย์ ดร.เสาวภา พรสิริพงษ์ ชักชวนให้มาทำงานที่สถาบันฯ จึงอยากใช้ความรู้เพื่อหาประสบการณ์ โดยตอนแรก มีแผนจะทำงานเพียงสองปี แต่ด้วยเสน่ห์ของงานวิจัยที่มีโจทย์ใหม่ ๆ ท้าทายอยู่ตลอดเวลา ทำให้ยังคงยึดเส้นทางนักวิชาการมาจนถึงปัจจุบัน

เหตุผลหรือแรงจูงใจที่เปลี่ยนใจให้ทำงานต่อจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่ารักในวิชาชีพพยาบาล แต่ด้วยลักษณะงานที่ต่างกัน ซึ่งงานวิชาการทั้งการสอนและวิจัยจะเปลี่ยนไปในแต่ละวัน มีความอิสระในการทำงาน เราเป็นผู้กำหนดทั้งเรื่องการสร้างสรรค์ผลงาน ความสนใจ ตารางงาน การทำงานเป็นลักษณะของการหาความรู้ ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของ งานวิชาการ ด้วยภาระหน้าที่ของนักวิจัยหรือนักวิชาการคือการถ่ายทอด ความรู้แก่ผู้อื่น กระตุ้นนักศึกษาให้คิดเป็นตามหลักวิชาการ และสามารถ ชี้นำสังคมได้ ซึ่งไม่ว่าวิชาชีพใดก็ล้วนเป็นงานที่ทำเพื่อผู้อื่นเป็นสำคัญ ทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ทำก็ยังคงเกี่ยวเนื่องกับประเด็นทางสุขภาพ และสุขภาวะที่ไม่เคยห่างหายไปจากความสนใจ

อาจารย์มองว่านักวิจัยที่ดีควรเป็นอย่างไร

โดยส่วนตัวเห็นว่า นักวิจัยที่ดีควรมีหลักการที่สำคัญ 4 เรื่อง คือ 1. ชอบหาคำตอบใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพราะจะทำให้โจทย์วิจัยน่าสนใจหรือ อาจเป็นการแก้ปัญหาให้สังคม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นนักวิจัยที่ดี 2. เชื่อมโยงบริบทของความเป็นไทยสู่ระดับนานาชาติ ซึ่งจะทำให้เห็นปัญหา ที่หลากหลายและต่างสภาวะเพื่อการนำไปสู่คำตอบที่รอบด้าน 3. มีความต่อเนื่องและเกาะติด เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญให้กับตัวนักวิจัย และสร้างองค์ความรู้ที่ลุ่มลึกให้แก่แวดวงวิชาการ 4. ต้องไม่รักความสบาย การทำงานวิจัยเป็นการหาคำตอบเพื่อส่วนรวม ทุนวิจัยคือภาษีประชาชน ซึ่งต้องบริหารให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ไม่ย่อท้อ เมื่อต้องทำวิจัยในพื้นที่ยากลำบากหรือพบปัญหาอุปสรรค

หลักคิดหรือแนวทางในการสร้างนักศึกษาให้เป็นนักวิชาการที่มีคุณภาพเพียบพร้อมด้วยความรู้และคุณธรรม

การเรียนระดับบัณฑิตศึกษาเป็นการต่อยอดความรู้ให้นักศึกษาจาก ปริญญาตรี โดยคำนึงถึงองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ พื้นฐานความรู้เดิมของ นักศึกษา ศาสตร์เฉพาะทางของหลักสูตรที่จะเพิ่มเติมให้กับนักศึกษา และ เป้าหมายในอนาคตที่นักศึกษาคาดหวังเมื่อสำเร็จการศึกษา นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือ การปลูกฝังความมีวินัย ใฝ่รู้ และความรับผิดชอบ การเรียนใน ระดับบัณฑิตเปรียบเสมือนการตีเหล็ก ซึ่งเหล็กต้องร้อนจึงจะตีขึ้นเป็นรูปร่างได้ นักศึกษาต้องมีความสนใจใฝ่รู้ กระตือรือร้นค้นคว้าด้วยตัวเอง อาจารย์เป็นเพียงผู้ชี้แนะและหนุนเสริมอย่างเอาใจใส่ ซึ่งทั้งครูและ ศิษย์ต้องทำงานและรับผิดชอบร่วมกัน

ผลงานที่ภาคภูมิใจในชีวิตและมีความสุขทุกครั้งที่นึกถึงใน 3 ด้าน

ด้านวิจัย : ส่วนตัวมีความสุขทุกครั้งเมื่อได้ทำงานวิจัยข้ามวัฒนธรรม ทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมอื่น โดยเฉพาะงานชิ้นแรกในฐานะนักวิจัย คือ “สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ : ฮกเกี้ยน” เป็นการศึกษาชีวิตคนไทยเชื้อสาย จีนฮกเกี้ยน รู้สึกตื่นเต้นเหมือนเป็นนักสืบที่ค้นหาคำตอบ ค้นหารากเหง้า ศึกษาสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตชาวฮกเกี้ยน และอีกงานที่ต้องไปฝังตัวอยู่ ในหมู่บ้านกะเหรี่ยงชายแดนไทย-พม่าเป็นแรมเดือนเพื่อศึกษาวิถีชีวิต สุขภาพ และการตายของเด็ก เป็นพื้นที่กันดาร ไม่มีไฟฟ้าและสิ่งอำนวย ความสะดวก แต่เป็นประสบการณ์ท้าทายที่สร้างความประทับใจและมักนำ มาถ่ายทอดในวิชาระเบียบวิธีวิจัยอยู่เสมอ ส่วนงานวิจัยที่ภูมิใจจะเป็นงาน ที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์จริง ๆ โดยเฉพาะงานกลุ่มแรงงานต่างชาติด้าน การสร้างสมรรถนะทางวัฒนธรรมเพื่อการเข้าถึงบริการสุขภาพ 

ด้านการเรียนการสอน : การเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาเป็น การนำความรู้และประสบการณ์เรื่องเดียวกันของผู้เรียนกับผู้สอนมา แลกเปลี่ยนกัน ไม่มีถูกผิด แต่เรียนรู้ไปด้วยกัน ความภูมิใจจึงไม่ใช่การที่ ดูแลให้นักศึกษาได้รับรางวัล แต่ได้จากการที่นักศึกษาจบไปแล้วแต่ยังกลับมา ขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำด้านวิชาการที่เขาสามารถนำไปใช้ในการทำงานได้ ถือเป็นความภูมิใจยิ่งกว่าที่ยังเป็นที่พึ่งของศิษย์ได้ เป็นความสุขใจที่เห็น ลูกศิษย์เติบโตและเจริญก้าวหน้าในชีวิต

ด้านการบริการวิชาการ : หลักสูตร “พฤฒปัญญา : ความสุขของผู้สูงวัย” เป็นโครงการ ที่ประทับใจมากค่ะ โครงการนี้มีแต่กัลยาณมิตรมาแบ่งปันกัน ทำงานกันอย่างเต็มที่ ทั้งจาก อาจารย์ของสถาบันฯ ที่เกษียณไปแล้ว และรองศาสตราจารย ์นายแพทย์ปัญญา ไข่มุก ที่ให้เกียรติ เป็นวิทยากรทุกรุ่น น้องๆ สายสนับสนุนและอาจารย์ในสถาบันฯ เป็นหลักสูตรที่มีแต่ความสุข สนุกสนาน ทำให้ผู้สูงอายุมีพื้นที่พบปะสังสรรค์ ได้ท่องเที่ยว ได้ทำอาหาร เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม นับเป็นงานบริการวิชาการที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัยได้อย่างดีค่ะ

ในฐานะที่อาจารย์มีผลงานวิชาการเป็นที่ยอมรับและมีประสบการณ์ในการสร้างความร่วมมือกับองค์กรระดับนานาชาติอาจารย์คิดว่าการทำงานกับองค์กรต่างประเทศมีความน่าสนใจอย่างไร

สำหรับตัวเอง การมีเครือข่ายมาจากการสมัครทุนในประเทศที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และยุโรป ซึ่งมีความน่าสนใจมากเลยค่ะ ช่วยให้มีโอกาสทำงานและสร้าง เครือข่าย สามารถนำผลมาต่อยอดงานวิจัยได้ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา เพราะเครือข่าย ต่างประเทศมีความล้ำหน้าที่เป็นประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งประโยชน์ที่ได้จากการมีเครือข่าย มีหลายรูปแบบ อาทิ 

  • เห็นแนวโน้มในอนาคตของประเทศในเรื่องต่าง ๆ เช่น การจัดการแรงงานต่างชาติ การบริหาร จัดการสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากเครือข่ายต่างประเทศเหล่านี้ต่างก็ผ่านสถานการณ์ของปัญหา มาก่อน ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่า อนาคตเราต้องพบเจออะไร อะไรจะเกิดขึ้น และควรมี ระบบบริหารจัดการอย่างไร
  • เห็นมุมมองที่แตกต่างกัน ทำให้ได้เรียนรู้มุมมองและแนวคิดที่มีความหลากหลาย และสามารถ นำมาสร้างโจทย์วิจัยที่น่าสนใจ หรือการศึกษาวิจัยในประเด็นเปรียบเทียบระหว่างประเทศ • เห็นธรรมชาติ และวิธีทำงานที่มีรูปแบบแตกต่างกัน มีตัวอย่างดี ๆ ที่นำมาสร้างสรรค์ การทำงานวิชาการของเราได้  โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่เน้นการทำงานเป็นทีม ความรับผิดชอบ และการเอาจริงเอาจังในการทำงาน

อะไรคือความท้าทายในการทำงานกับองค์กรต่างประเทศ

การไปทำวิจัยหรือทำงานเป็นโอกาสที่จะสร้างเครือข่ายต่างประเทศ ความท้าทาย คือ ทำอย่างไรให้สามารถรักษาเครือข่ายให้มีความต่อเนื่องและยืนยาว เช่น การพัฒนา โครงการวิจัยร่วมกัน การเขียนงานวิชาการร่วมกัน หรือนำเสนองาน ก็จะช่วยให้เครือข่ายคงอยู่ และทำงานร่วมกันได้อย่างต่อเนื่อง

ฝากทิ้งท้ายสำหรับผู้ที่มีความสนใจทำงานร่วมกับองค์กรในต่างประเทศ

เริ่มต้นจากการถามตัวเองว่าสนใจในประเด็นอะไร ต้องการมีเครือข่ายกับใคร หรือ มีใครทำงานใกล้เคียงกับสิ่งที่เราสนใจ แล้วอาจใช้ช่องทางติดต่อทางอินเทอร์เน็ตโดยมี ผู้ที่อ้างอิงได้  หรืออาจใช้ช่องทางการเข้าร่วม Conference  ที่สามารถนำเสนอตัวเอง ให้เป็นที่รู้จัก และหาเครือข่ายจากผู้ที่เข้าร่วมประชุม หรืออีกทางหนึ่งคือ ทุนแลกเปลี่ยน อาจารย์/นักวิจัย ไม่ว่าจะเชิญชาวต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยหรือตัวเราเองได้ทุนไป ต่างประเทศ ก็จะเป็นโอกาสให้ได้ทำงาน ได้รู้จัก และสร้างเครือข่ายกับนักวิชาการต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ได้ผลดีอีกวิธีหนึ่ง