Limitless Mindset เพื่อความสำเร็จในวิชาชีพ
รองศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท น้อมเนียน หรือ “อาจารย์เคนนี่” สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (ภาคภาษาอังกฤษ) จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท (สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ) จากสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาเอก (Doctor of Education สาขาวิชา TESOL and Applied Linguistics) จาก School of Education, University of Leicester สหราชอาณาจักร และอาจารย์ ยังได้รับทุนวิจัยหลังปริญญาเอก Endeavour Postdoctoral Fellowship จากรัฐบาลออสเตรเลีย ไปทำวิจัยที่ School of Education, University of Technology Sydney ประเทศออสเตรเลียอีกด้วย
ผลงานของอาจารย์ที่ปรากฏทั้งการเป็นผู้มีผลงานตีพิมพ์บทความชื่อแรกในฐานข้อมูล Scopus สูงที่สุดในรอบ 5 ปี, เป็นผู้ปฏิบัติงานดีเด่น 3 ปีต่อเนื่อง (ปี 2562-2564), เป็นผู้ผลักดันนักศึกษาให้ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติสูงสุด ในรอบ 5 ปี และได้รับการรับรองคุณภาพด้านการจัดการเรียนการสอนตามกรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพของ สหราชอาณาจักร (UKPSF) ในระดับ Senior Fellow รวมถึงได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่ง “นายกสมาคมครู ผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย” (Thailand TESOL) ทั้งหมดคือรางวัลอันสูงค่าที่รองศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท น้อมเนียน ได้รับขณะทำหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม วิชาเอกการสอนภาษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
ในการประกันคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานของอว. กำหนดให้บุคคลที่เป็นอาจารย์ต้องเป็นผู้ “มีความรู้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ” อาจารย์มีวิธีปฏิบัติตนอย่างไรในการสร้างคุณลักษณะดังกล่าว
จุดเริ่มต้นของการเป็นครูมาจากผมรักในวิชาชีพครูครับ กว่า 20 ปี ในการทำงานที่มหาวิทยาลัยมหิดลแห่งนี้ ผมได้รับโอกาสให้พัฒนา ความรู้และทักษะมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการสร้างองค์ความรู้ งานวิจัย ประสบการณ์ และการสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ผมมีความเป็น “ครูคุณภาพ” และผมได้ใช้ความรู้ ความสามารถที่สั่งสมมาถ่ายทอดต่อไปยังลูกศิษย์ โดยเฉพาะ ในเรื่องของภาษาอังกฤษ ซึ่งการเป็นครูคุณภาพนั้นไม่เพียงแต่รัก ในอาชีพ แต่ต้องฝึกฝนและพัฒนาทักษะให้เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาที่สอนด้วย
สิ่งหนึ่งที่ผมรำลึกไว้เสมอคือ ไม่ว่าจะทำอะไรให้มองว่าเป็น ความโชคดีที่ได้รับโอกาสให้พัฒนาตนเอง ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงผมที่ได้รับเท่านั้น แต่ได้ถูกส่งต่อไปยังลูกศิษย์และ องค์กรด้วย ดังพระราชปณิธานของสมเด็จพระราชบิดาฯ ที่ว่า “ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเปนที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เปนกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกมาแก่ท่านเอง”
มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรในการพัฒนาตนเองให้เป็นไปตามเป้าหมายที่อว. กำหนด
ผมมองว่าทุกองค์กรมีปัญหา แต่ไม่ว่ามีปัญหาอะไร ผมจะคิดถึง เป้าหมายในการทำงานก่อนว่า เราต้องการทำเพื่ออะไร สิ่งเหล่านั้น ทำให้ผมลืมอุปสรรคและไม่ใส่ใจกับสิ่งเล็กน้อยที่เข้ามาบั่นทอน กำลังใจในการทำงาน เพราะที่สุดแล้วทุกปัญหาก็จบลงด้วยตัวของ มันเอง และมีปัญหาใหม่ ๆ เข้ามาทดสอบเราเสมอ เป็นความท้าทาย ความสามารถในการแก้ปัญหาของเราครับ สิ่งสำคัญคือ เราต้องปรับ Mindset และทัศนคติให้สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้บน อุดมการณ์ที่เราตั้งไว้
ในฐานะที่อาจารย์ได้รับ “การรับรองสมรรถนะการจัดการเรียนการสอนตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพของสหราชอาณาจักร (UKPSF)” อาจารย์มีแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างสมรรถนะของผู้เรียนท่ามกลางสังคมพหุภาษา–พหุวัฒนธรรมอย่างไร
จากสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การผลิต บัณฑิตจำเป็นต้องมีความเข้าใจบริบททางสังคมวัฒนธรรมด้วย และต้องปรับวิธีจัดการเรียนการสอนให้เข้ากับสถานการณ์ ว่าควรเป็นอย่างไร โดยนำเอาความเป็นปัจจุบันมาบอกเล่าให้ ศิษย์ได้รับรู้และเรียนรู้ ให้ฝึกคิด วิเคราะห์ แยกแยะเป็น และ ฝึกทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งการสอนโดยใช้ประสบการณ์จริงที่นำหัวข้องานวิจัยทั้งการสอน ภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม มาเป็นกรณีศึกษา จะทำให้ผู้เรียนมีทักษะนี้ติดตัวไป ทำให้มีความมั่นใจเมื่อต้อง เข้าสู่สนามแข่งขันในวิชาชีพที่ตนเองเลือก
ยิ่งไปกว่านั้น Mindset ของผู้เรียนและผู้สอนก็จำเป็นต้องปรับ ให้ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาตลอดเวลา โดยการปรับ Growth Mindset ให้เป็น Limitless Mindset เพื่อการเติบโต เปลี่ยนให้มีมุมมองที่ไม่มีขีดจำกัด เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ มองว่าอุปสรรคไม่ใช่ปัญหา แต่เพื่อการพัฒนาตนให้ดีขึ้น ซึ่งเป็น สิ่งที่ทำให้เราอยู่รอดในทุก ๆ ยุค ไม่เพียงแต่ยุค Disruption จากเทคโนโลยีหรือจากโควิด แต่ยังมีคลื่นความท้าทายอีกมาก ที่เราต้องก้าวข้าม เป็น Learning Curve ที่ทำให้เราเติบโตและ เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
ในฐานะ “นายกสมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย” อาจารย์มีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของครูสอนภาษาอังกฤษให้มีมาตรฐานอย่างไร
กว่า 40 ปีของการก่อตั้งสมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่ง ประเทศไทย (Thailand TESOL) คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ และอดีตนายกสมาคมฯ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและ พัฒนาครูผู้สอนภาษาอังกฤษมาตลอด ด้วยเล็งเห็นว่า พื้นฐาน สำคัญของการสอนคือ ครูผู้สอน โดยเฉพาะในระดับปฐมวัย จึงได้ พัฒนาและให้ความรู้แก่ครูผู้สอนภาษาอังกฤษผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น Workshops, Webinars, และ International Conference
สำหรับผมได้ร่วมเป็นสมาชิกมากว่า 20 ปี และเมื่อได้รับความ ไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ จึงใช้โอกาสนี้ดำเนิน นโยบายต่อเนื่องในการเพิ่มพูนทักษะและพัฒนาองค์ความรู้แก่ครู ผู้สอนภาษาอังกฤษ แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด19 ทำให้มีข้อจำกัดหลายด้าน ผมจึงใช้วิธีจัดกิจกรรมในรูปแบบ ออนไลน์เป็นครั้งแรก โดยจัดการประชุมนานาชาติในรูปแบบ ออนไลน์ และ Webinars ซึ่งผลที่เกิดตามมาคือ ทำให้เห็นช่องทาง ในการจัดกิจกรรมเพื่อขยายออกไปสู่ภูมิภาคและระดับสากล ทำให้ครูอาจารย์ในต่างประเทศมีโอกาสเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งกันและกันได้ เป็นการก้าวข้าม Boundary ของทางภูมิศาสตร์ และ Time Zone ที่การเรียนรู้จะไม่ถูกจำกัดแค่ในห้องสี่เหลี่ยม เป็นการเพิ่มโอกาสการพัฒนาตนเอง มองเห็นโลกกว้างขึ้น และมี Connection กับต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วยครับ ประโยชน์โดยรวม จึงครบถ้วนทั้งครูผู้สอนและผู้เรียน ตรงกับ SDG เป้าหมายที่ 4 ของ UNESCO ที่ว่า การศึกษาที่เท่าเทียมและเสมอภาค คือ “การศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
มีความคิดเห็นอย่างไรต่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษาที่ยังไม่สามารถทำให้ผู้เรียนสามารถนำมาใช้ในการสื่อสารได้จริง
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนครับว่า “การใช้ภาษา” (Language Use) คืออะไร เพราะใช้ได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับวิธีการ หรือรูปแบบในการใช้ ซึ่งการฟัง พูด อ่าน เขียน เป็นทักษะที่ มนุษย์พึงมี แต่อาจพัฒนาได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับบริบทว่ามี ความจำเป็นมากน้อยเพียงใด ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาจึงควรเลือก ใน Skill ที่ต้องการครับ ประกอบกับการศึกษาพื้นฐานของ ประเทศไทยเราใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่ใช้ใน การเรียนการสอนมากกว่าการใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการพัฒนา กระบวนการต่าง ๆ จำเป็นต้องมี 3 สิ่ง คือ 1. เข้าใจความต้องการ ของตนเองก่อน 2. หาแหล่ง-พื้นที่เรียนรู้ 3. ครูผู้สอนช่วยชี้ทาง หรือช่วยหาแหล่งเรียนรู้ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยผู้เรียนให้พัฒนา ภาษาอังกฤษได้
อาจารย์คิดว่า “คุณลักษณะของผู้เรียน” และ “ความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต” ในปัจจุบันที่จะสามารถพัฒนาให้สอดคล้องกับ SDGs ควรเป็นรูปแบบไหนอย่างไร
SDGs เป็นเรื่องที่องค์กรไทยในระดับชั้นนำหรือองค์กรนานาชาติ ให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืนเป็นอย่างมาก ซึ่งทางการศึกษาจุดเริ่มคือ มาจากนโยบายระดับชาติ ว่าจะส่งเสริมให้ ทุกคนมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันได้อย่างไร ทั้ง 17 เป้าหมาย ในฐานะที่ผมทำงานในองค์การศึกษา เห็นว่าสำคัญที่สุด คือ ต้องให้ความรู้กับคนทุกระดับ แม้แต่เด็กเล็ก โรงเรียนคือพื้นฐาน สำคัญ เพราะช่วยต่อยอดความรู้ด้านความยั่งยืนให้แก่เยาวชน ของชาติ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพและสิ่งแวดล้อม ที่กำลังเป็น ปัญหาสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ซึ่งนอกจากโรงเรียนแล้ว สังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและ ภาคเอกชน ก็ต้องร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจด้วย เพราะหาก ไม่รู้เรื่องเหล่านี้ก็จะกลายเป็นคนล้าหลังได้
ในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้ที่มีผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูล Scopus สูงที่สุดในรอบ 5 ปีอาจารย์มีเทคนิคอะไรในการสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและมีแนวทางต่อยอดผลงานสู่นวัตกรรมทางการศึกษาที่สอดคล้องกับ SDGs อย่างไร
เทคนิคในการสร้างผลงานตีพิมพ์นานาชาติต้องดูตัวเองก่อนครับ ว่าสนใจงานวิจัยอะไร มีความเชี่ยวชาญด้านไหน คุณภาพงานวิจัย ที่มีอยู่สามารถนำไปเผยแพร่ได้ในระดับใด และวารสารที่เข้าข่าย ที่จะนำผลงานวิจัยไปตีพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับในระดับนั้นมีอะไรบ้าง ให้ดูเกณฑ์ของวารสารว่ามี Requirement อะไร งานของเรามี คุณภาพสอดรับกับวารสารนั้นหรือไม่ จากนั้นจึงส่งบทความไปยัง วารสารที่สนใจ
สำหรับตัวเองนั้นเมื่อเริ่มต้นก็ยังไม่มีความมั่นใจ จึงลองฝึกและ เรียนรู้ ยอมรับการ Rejection จากวารสารและพัฒนาตัวเอง พัฒนางาน และการเขียน จะเห็นว่า การจะมีผลงานบทความ วิชาการระดับนานาชาติได้ ต้องเข้าใจคุณภาพงานของตัวเอง หาวารสารที่สอดคล้องกับงานวิจัยที่ตัวเองมี เปิดใจให้กับผลลัพธ์ ที่จะตามมา ดังนั้น ขอให้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาตนเอง ไม่หยุด การเรียนรู้ที่จะตีพิมพ์ ขยันส่งบทความไปยังวารสาร เป็นการเก็บ คะแนนจากผลงานไปเรื่อย ๆ เสมือนน้ำซึมบ่อทราย และทุกครั้งที่ได้รับ Feedback จากวารสารต้องนำมาคิด วิเคราะห์ และพัฒนาด้วย รวมถึงว่าการประสบความสำเร็จในการได้ตีพิมพ์ บทความในวารสารวิชาการของผมนั้นอยู่ที่นโยบายทั้งของมหาวิทยาลัย สถาบันฯ และสภาพแวดล้อมรอบตัวคือ เพื่อน ร่วมงาน ลูกศิษย์ ที่เอื้อต่อการได้รับการตีพิมพ์ และจากการที่ผมได้เป็นบรรณาธิการวารสาร THAITESOL Journal ทำให้มีประสบการณ์ในการพิจารณาคุณภาพผลงานวิชาการ ทำให้เข้าใจองคาพยพหรือ Ecosystem ของการตีพิมพ์ บทความนานาชาติในวารสารต่างประเทศครับ
ในส่วนแนวทางต่อยอดผลงานสู่นวัตกรรมทางการศึกษาที่สอดคล้องกับ SDGs งานวิจัยของผมเป็นเรื่องของการใช้ภาษา การสื่อสาร การสอน ซึ่งได้มีการผลิตหนังสือภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยวแพในจังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นผลผลิตจาก งานวิจัยที่ไปลงพื้นที่ เมื่อหนังสือถูกเผยแพร่ก็มีผู้ให้ความสนใจและนำไปใช้ในการปฏิบัติงานของตำรวจท่องเที่ยวและไกด์ นำเที่ยว จากนั้นมีการนำไปต่อยอดในรูปแบบของเนื้อหาด้านภาษาในแพลตฟอร์ม http://www.eng24.ac.th ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษา และเมื่อผลงานวิจัยได้ออกสู่แพลตฟอร์มนานาชาติ ก็มีอาจารย์ต่างประเทศให้ความสนใจและติดต่อมา เกิดเป็นเครือข่ายและต่อยอดงานวิจัยใน Field ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบัน มีการเชื่อมโยงกับงาน SDG ในระดับนานาชาติคือ งานวิจัยประเภทการท่องเที่ยว และการเป็นผู้ประกอบการ โดยได้รับทุน จาก TOSHIBA ที่ดำเนินการร่วมกับ Sunway University ประเทศมาเลเซีย และเครือข่ายประเทศเพื่อนบ้านทวีปเอเชีย
อยากให้อาจารย์ฝากแนวคิดในการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบัน
เราคือ ค่าเฉลี่ยของคน 5 คนที่เราใช้เวลาอยู่ด้วยหรือคนที่เราคบด้วย ดังนั้น สิ่งแวดล้อมจะเป็นส่วนสำคัญในการ สร้างตัวตนเราขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่จะบอกกับตัวเอง เพื่อน ๆ และลูกศิษย์เสมอคือ เวลาในชีวิตของเรามีน้อย มีจำกัด “จงเลือกใช้เวลา ใช้ชีวิตกับคนที่เราให้คุณค่ากับเขา และเขาก็เห็นคุณค่าของเรา” เช่นกัน คนที่เราเลือกคบจะนำพาเรา ไปถึงเป้าหมายในชีวิตนั้นได้ และทำให้เรามีทิศทางในการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับเป้าหมายของตัวเอง ขอเป็นกำลังใจให้กับทุก ๆ คนครับ ขอบคุณครับ…