ริลก้า เวิลด์ : นวัตกรรมการเรียนรู้ร่วมกันแบบสนับสนุนภาระงานด้วยโลกเสมือนจริงสามมิติเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาไทยของผู้เรียนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาในยุคปกติใหม่


หัวหน้าโครงการ:

รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรพล วิบูลยศริน

นักวิจัย:

  • รองศาสตราจารย์ ดร.ชรพล วิบูลยศริน สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤดี กมลสวัสดิ์ ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
  • ดร.กนกพรรณ วิบูลยศริน ม.ราชภัฏจันทรเกษม
  • ดร.พรรัตน์ ถิระนันท์ The University of Hong Kong, Hong Kong
  • ดร.ภูมิพัฒน์ บุญกิตานนท์ Looloo Technology, Thailand

ระยะเวลาดำเนินการ:

15 มีนาคม 65 – 15 มีนาคม 66

ที่มาและความสำคัญ

ในงานวิจัยนี้มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารของผู้เรียนชาวต่างชาติตามนโยบายภาษาแห่งชาติที่ได้กำหนดให้จัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2561) ดังนั้น ในการศึกษาระยะต้นของโครงการวิจัยนี้จึงเน้นการเรียนทักษะการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารภาษาไทยโดยทั่วไปมากกว่าการเรียนที่เน้นไวยากรณ์ นวัตกรรมโลกเสมือนจริงสามมิติ ริลก้า เวิลด์ หรือ RILCA World ซึ่งมาจากคำว่า Redesign of Instruction for Language and Communication Achievement จึงเป็นการออกแบบการเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อการสื่อสารแนวใหม่ที่เน้นการใช้ภาษาบนโลกเสมือนจริงสามมิติด้วยการจัดการเรียนรู้ร่วมกันแบบสนับสนุนภาระงานเป็นหลักเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการใช้ภาษาและการสื่อสารสำหรับผู้เรียนชาวต่างชาติที่ศึกษาภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศไม่ว่าจะที่ใดก็ตามบนโลกแห่งความเป็นจริงใบนี้

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสำรวจองค์ประกอบที่เหมาะสมสำหรับการออกแบบโลกเสมือนจริงสามมิติเพื่อการสอนภาษา
  2. เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ร่วมกันแบบสนับสนุนภาระงานด้วยโลกเสมือนจริงสามมิติเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาไทยของผู้เรียนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา
  3. เพื่อประเมินประสิทธิภาพของนวัตกรรมการเรียนรู้ร่วมกันแบบสนับสนุนภาระงานด้วยโลกเสมือนจริงสามมิติและประสิทธิผลของการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาไทยของผู้เรียนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา

ผลผลิต

ผลงานวิจัยจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่

  1. ประโยชน์สำหรับผู้เรียนชาวต่างชาติ คือ มีนวัตกรรมโลกเสมือนจริงสามมิติตามแนวคิดการเรียนรู้ร่วมกันแบบสนับสนุนภาระงานเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาไทยให้มีคุณภาพสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายภาษาแห่งชาติ พ.ศ. 2561-2564 ในด้านที่ 1 “นโยบายภาษาไทยสำหรับนักเรียนไทยและคนไทย รวมทั้งภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติในฐานะภาษาต่างประเทศ” ที่มุ่งจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ โดยเฉพาะกับผู้เรียนที่มีภาษาแม่แตกต่างกัน
  2. ประโยชน์สำหรับผู้สอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ คือ มีแนวทางในการออกแบบโลกเสมือนจริงสามมิติตามแนวคิดการเรียนรู้ร่วมกันแบบสนับสนุนภาระงานเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาไทยในมิติต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีองค์ประกอบและกระบวนการในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม
  3. ประโยชน์สำหรับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ คือ มีต้นแบบนวัตกรรมการเรียนรู้ร่วมกันแบบสนับสนุนภาระงานด้วยโลกเสมือนจริงสามมิติเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาไทยของผู้เรียนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาในยุคปรกติใหม่ที่เอื้อประโยชน์ให้สถาบันการศึกษาอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศที่จัดการเรียนการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนชาวต่างชาติมีวิธีการเรียนรู้ภาษาไทยนอกชั้นเรียน โดยเฉพาะในห้วงภาวะวิกฤตที่ผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ร่วมกันแบบเผชิญหน้าในห้องเรียนได้