เราควรอยู่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างไร: การสื่อสารเพื่อสร้างสัมพันธภาพและความไว้วางใจ

พวงเพชร เกษรสมุทร และปัทมา พัฒน์พงษ์
Share on :

การพัฒนาที่ยั่งยืนคือแนวทางการพัฒนาที่ตอบสนอง ความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลดทอนความสามารถ ในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง (Brundtland Report) ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ การเติบโตทาง เศรษฐกิจ ความครอบคลุมทางสังคม และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 193 ประเทศลงนามในกรอบการพัฒนา ของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังภายในปี พ.ศ.2573

โครงการวิจัย ภาษา การสื่อสาร และบริบทสังคม วัฒนธรรม : สัมพันธสารวิเคราะห์การใช้ภาษาของผู้มีประสบการณ์ โรคซึมเศร้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อการเฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา กำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและ การสร้างนวัตกรรม (บพค.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ปีงบประมาณ 2563 ดำเนินการวิจัยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 : มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เน้นสร้าง หลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับ คนทุกวัย และเป้าหมายที่ 10 : ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความไม่ เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ

ผลการวิจัย “คู่มือรูปแบบการสื่อสารภาวะซึมเศร้า” เป็นแนวทางหนึ่ง ในการเสริม สนับสนุนความเป็นอยู่ร่วมกันที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพจิต ของครอบครัวที่มีผู้มีภาวะซึมเศร้า/ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (SDG3) และเป็นช่องทาง ในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้าใจที่เป็นธรรมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า (SDG10) โรคซึมเศร้านั้นไม่ใช่โรคจิตหรือโรคประสาท แต่เป็น “โรค” ความผิดปกติทางอารมณ์ มีสาเหตุ ปัจจัยการเกิดโรค มีกลไกการเกิดโรค มีพัฒนาการเกิดโรค มีอาการ ผลการตรวจร่างกายเฉพาะ และมีวิธีการรักษา เฉพาะ “โรค” ที่บ่งชี้ว่าเป็นความผิดปกติทางการแพทย์ จำเป็นต้องได้รับการ ดูแลจากแพทย์

ทั้งนี้ หากบุคคลในสังคมเปิดใจ เรียนรู้ธรรมชาติของโรคซึมเศร้า ก็จะทำให้ทุกคนในสังคม โดยเฉพาะผู้มีภาวะซึมเศร้า/โรคซึมเศร้าได้รับ การปฏิบัติทั้งทางกายภาพและทางจิตอย่างเท่าเทียม เสมอภาค บุคคล เหล่านี้ก็จะได้รับการโอบอุ้มจากสังคมรอบตัวด้วยความเข้าใจ โดยไม่มีใคร ถูกละเลยหรือถูกเลือกปฏิบัติ

คู่มือรูปแบบการสื่อสารภาวะซึมเศร้า” เสนอแนวทางในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ดังต่อไปนี้

สร้างสัมพันธภาพและความไว้วางใจ

จากการวิเคราะห์การสื่อสารของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า/โรคซึมเศร้า พบว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม/สังคม รู้สึกเป็นส่วนเกิน ไม่มีตัวตน หรือเป็นตัวประหลาด ชอบแยกตัวออกจาก ผู้อื่น/สังคม การดูแลผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า/โรคซึมเศร้าจึงต้องเริ่มจาก การสร้างสัมพันธภาพที่ดีอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า/ ผู้ป่วยได้รับรู้ถึงความใส่ใจ ความห่วงใย เกิดความไว้วางใจและกลับมามี สัมพันธภาพที่ดีกับครอบครัว เพื่อน ผู้ใกล้ชิดอีกครั้ง (Reconnectedness) โดยการใช้คำพูดหรือภาษาที่แสดงถึงความห่วงใย

นอกจากคำพูดหรือภาษาพูดที่สื่อสารต่อกันแล้ว ภาษาท่าทาง นับเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง ครอบครัว เพื่อน ผู้ใกล้ชิด ควรมีท่าทาง น้ำเสียง การแสดงออกที่เป็นมิตร ไม่คุกคามด้วยสายตา ท่าทาง น้ำเสียง ให้การต้อนรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า/โรคซึมเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และสังคม

การสื่อสารทางบวกทั้งภาษาพูดและภาษากายร่วมกับการรับฟัง ด้วยความเข้าใจของบุคคลใกล้ชิดหรือบุคคลที่มีความหมายต่อผู้ที่มีภาวะ ซึมเศร้า/โรคซึมเศร้า จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการฟื้นหายจากภาวะซึมเศร้า /โรคซึมเศร้าและเป็นปัจจัยปกป้องต่อการฆ่าตัวตายได้

ตัวอย่างคำพูด/การสื่อสารเพื่อสร้างสัมพันธภาพและความไว้วางใจ

• แม่สังเกตดูเหมือนหนูไม่ค่อยสบายใจ แม่เป็นห่วงหนูนะ มีอะไรที่หนูพอจะบอกเล่าให้แม่ฟังได้ แม่ยินดีนะ เราจะได้ช่วยกันหาทางออก
• ช่วงนี้ดูเธอเครียด ๆ นะ มีอะไรเกิดขึ้นกับเธอในช่วงนี้ เล่าให้เราฟังได้นะ เผื่อเราจะช่วยแบ่งเบาความทุกข์ของเธอได้บ้าง เรายินดี

พูดคุย รับฟัง และเข้าใจ

ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า/โรคซึมเศร้ามีแนวโน้มที่จะมีความคิดลบ ๆ ต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม รู้สึกผิด ไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย ให้ความสำคัญกับคำพูดที่กระทบกระเทือนจิตใจจนทำให้เขารู้สึกด้อย คุณค่าในตนเอง บางรายต้องเผชิญกับอาการของภาวะซึมเศร้า/โรคซึมเศร้า มานานจนรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ดังคำกล่าว “มันเหนื่อยนะ เหนื่อยไปถึงระดับจิตวิญญาณ” “ทำไมเราไม่ตาย ๆ ไปซะเลย ทำไมเรา ต้องมาทรมานอะไรแบบนี้ด้วย”

การพูดคุย รับฟังด้วยความเข้าใจ ไม่ตัดสิน ตลอดจนการยอมรับ อย่างไม่มีเงื่อนไขเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยรับรู้ถึงความรัก ความปรารถนาดีจากครอบครัว เพื่อน ผู้ใกล้ชิด หากบุคคลได้รับรู้ว่า ในชีวิตของเขามีคนที่รักและเข้าใจเขาอย่างแท้จริง ชีวิตของเขาก็จะมีค่า มีความหมาย ความรักความเข้าใจจากบุคคลรอบตัวจึงเป็นปัจจัยปกป้อง การฆ่าตัวตายได้ทางหนึ่ง

ตัวอย่างคำพูด/การสื่อสารที่สะท้อนความใส่ใจ ความรัก และความห่วงใย

การสื่อสารในลักษณะนี้จะช่วยให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า/โรคซึมเศร้า ได้บอกเล่าความไม่สบายใจที่เขากำลังเผชิญ เปิดโอกาสให้เขาสำรวจตนเอง และเข้าใจตนเองมากขึ้น

• ฉันเป็นห่วงเธอนะ อยากรับฟังความไม่สบายใจของเธอ
• เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร

ตัวอย่างคำพูด/การสื่อสารที่ส่งเสริมคุณค่า/ความเชื่อมั่นในตนเอง

• ที่ผ่านมามีเรื่องอะไรที่ทำสำเร็จหรือทำแล้วรู้สึกภูมิใจบ้าง
• เรื่องที่เคยรู้สึกว่ายาก/สำเร็จยาก ตอนนั้นผ่านมาได้อย่างไร

ตัวอย่างคำพูด/การสื่อสารเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา

• คิดว่าจะจัดการกับความไม่สบายใจในช่วงนี้ได้อย่างไร
• ตอนนี้มีใครที่พอจะเป็นผู้ช่วยเหลือได้บ้าง มีคนที่พอจะช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน

ตัวอย่างคำพูดทางลบที่ควรหลีกเลี่ยง

• ทำไมเป็นคนแบบนี้ มีแต่เรื่อง มีแต่เรื่องตลอดเลย
• ฉันไม่เคยเห็นใครเรียนอ่อนเท่านี้มาก่อนเลย เธอเรียนอ่อนที่สุดเท่าที่ฉันเคยพบเจอมา
• ฉันผิดหวังมากในตัวเธอ

คำพูดทางลบที่ครอบครัว เพื่อน ผู้ใกล้ชิดสื่อสารออกไป นอกจาก ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า/โรคซึมเศร้าจะรู้สึกไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ไม่เข้าใจแล้ว ยังกระทบต่อความรู้สึกที่มีต่อตนเอง เช่น รู้สึกผิด ไม่มีคุณค่า ไม่มี ความสามารถ รู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น เป็นต้น

ทำความเข้าใจกับโรคซึมเศร้า

ผู้ใกล้ชิดต้องเข้าใจอาการและการรักษาโรคซึมเศร้าของผู้ป่วย โรคซึมเศร้า ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของเขา โดยสามารถหาความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าจากหนังสือ คู่มือ สื่อออนไลน์ หรือถามจากแพทย์ผู้รักษา

ช่วยเหลือในการทำกิจกรรม/กิจวัตรประจำวัน

ส่งเสริมให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า/โรคซึมเศร้าทำกิจกรรมที่เขา เคยทำเป็นปกติก่อนที่จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เช่น ไปทำงาน เล่นกีฬา ไปออกกำลังกาย แต่อย่าคะยั้นคะยอมากจนเกินไปหากเขายังไม่พร้อม

เช่นเดียวกับกิจวัตรประจำวัน บางครั้งผู้ป่วยซึมเศร้ามี ความยุ่งยากในการทำกิจวัตรประจำวัน จนคนในครอบครัวเข้าใจว่าผู้ป่วย ขี้เกียจ เผลอตำหนิ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกด้อยค่า ผู้ใกล้ชิดต้องเข้าใจว่าพฤติกรรม ดังกล่าวเป็นอาการของโรคซึมเศร้า ต้องสังเกตพฤติกรรม ใส่ใจ กระตุ้น เตือนอย่างอ่อนโยน หรือให้การช่วยเหลือให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตร ประจำวันที่ควรทำตามลำดับในแต่ละวัน รวมทั้งการรับประทานยา การออกกำลังกาย ให้กำลังใจ หรือให้การเสริมแรงทางบวกเมื่อผู้ป่วย ทำได้มากขึ้น

ตระหนักถึงสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย

จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องสังเกตและ ตระหนักถึงสัญญาณหรือความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เช่น คำพูดไม่อยาก มีชีวิต/อยากตาย จดหมายลาตาย ร่าเริงผิดปกติจากเดิมที่ผู้ป่วยเศร้า อย่างมาก การสะสมวัสดุสิ่งของที่จะนำมาใช้ทำร้ายตัวเอง ผู้ใกล้ชิด ต้องประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของผู้ป่วย

การยอมรับในตัวผู้มีภาวะซึมเศร้าและ/หรือโรคซึมเศร้า อย่างไม่มีเงื่อนไข หมายถึง การยอมรับความคิดความเชื่อ การตัดสินใจ อารมณ์ และพฤติกรรมของเขา โดยไม่ตัดสินถูก-ผิด แต่ไม่ได้ หมายความว่าเราเห็นด้วยกับทุกอย่างที่เขาทำ เพียงแค่เข้าใจว่าเขาคิด รู้สึกอย่างไร ในบริบทแวดล้อมแบบไหน เขาจึงตัดสินใจเช่นนั้น และ ให้การยอมรับในความเป็นตัวตนของเขา การรับฟังด้วยความเข้าใจ ไม่ตัดสิน ให้การยอมรับ ให้เกียรติ ให้คุณค่าในความเป็นบุคคลของเขา จะช่วยเหลือเยียวยาจิตใจในเบื้องต้นได้ นอกจากนี้ การสังเกต สัญญาณเตือนการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ใกล้ชิดควรให้ความสำคัญ เพื่อป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น หากผู้ป่วยมีพฤติกรรมทำร้าย ตัวเอง หรือบอกชัดเจนว่าจะฆ่าตัวตาย ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อให้ การช่วยเหลือ และเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายต่อไป ในฉบับหน้าจะกล่าวถึง 7 สัญญาณเตือนการฆ่าตัวตายผ่านภาษาบนสื่อสังคมออนไลน์

อ้างอิง
Encyclopedia Britannica. (2022). Brundtland Report as publication by World Commission on Environment and Development. สืบค้นจาก https://www.britannica.com/topic/Brundtland-Report