แผนที่ภาษาและวัฒนธรรมชาติพันธุ์ประเทศไทย

ณัฐมน โรจนกุล
Share on :

แผนที่ภาษาและวัฒนธรรมชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยหรือเว็บไซต์แผนที่ภาษาฯ ได้รับการพัฒนาขึ้น ในโครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศด้านภาษาและวัฒนธรรมชาติพันธุ์ในประเทศไทย เพื่อสร้างฐานข้อมูล ที่รวบรวมกลุ่มภาษาและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย และแสดงภาพความหลากหลายของผู้คนที่มีภาษาพูด วิถีชีวิต และ วัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่ต่างผสมผสานอยู่ร่วมกันในสังคมพหุภาษา-พหุวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน

การศึกษาสำรวจกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยได้เริ่มต้นในปี 2536-2547 คณะอาจารย์และนักวิจัยจากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำโครงการแผนที่แสดง ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย สนับสนุนการวิจัย โดยสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของการศึกษาวิจัยด้านภาษาศาสตร์ชาติพันธุ์และการจัดทำแผนที่ด้วยระบบ สารสนเทศทางภูมิศาสตร์ หรือ GIS (Geographic Information System) นักวิจัยใช้แบบสอบถามสำหรับการสำรวจและเก็บข้อมูลประชากรที่พูด ภาษาต่าง ๆ ในชุมชน มีทั้งจำนวนกลุ่มภาษา ประชากร รวมทั้งพิกัด ทางภูมิศาสตร์และชื่อหมู่บ้าน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่รวบรวมได้ถึง 70+ ภาษา 66,272 หมู่บ้าน 7,284 ตำบล 924 อำเภอ ใน 76 จังหวัด และซึ่งมีการจัดการข้อมูลด้านภาษาและจำนวนประชากร ให้มีความสัมพันธ์กับตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ เพื่อระบุที่ตั้งชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ที่กระจายตัวอยู่บนพื้นที่ต่าง ๆ ผลจากการศึกษาวิจัย โครงการนี้พบว่าในประเทศไทยมีกลุ่มภาษามากถึง 70 กว่ากลุ่ม โดยจำแนกตามลักษณะโครงสร้างทางภาษาได้ 5 ตระกูลภาษา ได้แก่ ตระกูลไท ตระกูลออสโตรเอเชียติก ตระกูลออสโตรนีเชียน ตระกูลจีน-ทิเบต และตระกูลม้ง-เมี่ยน นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังพบว่า มีกลุ่มภาษาจำนวน 15 กลุ่ม ที่มีผู้พูดจำนวนน้อยจึงทำให้ภาษา อยู่ในสภาวะวิกฤตรุนแรง ในขณะเดียวกันยังพบภาษาตาม แนวชายแดนที่มีจำนวนผู้พูดเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งการค้นพบนี้ทำให้ มีการศึกษาและค้นหาแนวทางฟื้นฟูภาษาที่กำลังอยู่ในภาวะใกล้สูญ และการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาในโรงเรียนที่มีนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ ในงานวิจัยต่อมา

การกระจายตัวของผู้คนแต่ละกลุ่มภาษาล้วนสัมพันธ์กับ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาเฉพาะถิ่นของกลุ่มคนใน ถิ่นที่อยู่ต่าง ๆ ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต เห็นถึงความสำคัญของฐานข้อมูลจากการสำรวจผู้คนทั่วประเทศ จึงมีแนวคิดที่จะนำฐานข้อมูลด้านภาษา ประชากร และถิ่นอาศัยที่ ระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ผู้ใช้งานสามารถสืบค้นข้อมูลได้ทั้ง ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยแบ่งเป็น 3 มิติ ได้แก่ ภาษา พื้นที่ และโครงการวิจัยด้านการฟื้นฟูภาษาฯ โดยใน “เชิงภาษา” ประกอบด้วย ตระกูลภาษา ภาษาในภาวะวิกฤต ภาษาตามแนวชายแดน และภาษามือ ที่ปรากฏข้อมูลตามขอบเขตพื้นที่จังหวัด อำเภอ และตำบล ด้านพื้นที่ สามารถค้นหาได้ถึง 5 ระดับ ได้แก่ ระดับภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ด้านโครงการวิจัย จะแสดงผลเฉพาะจุดที่มีทีมวิจัย ชุมชนทำงานร่วมกับนักวิจัยของศูนย์ฯ

การจัดทำเว็บไซต์แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ใน ประเทศไทยสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแพร่หลาย และเป็นข้อมูลพื้นฐานในการบูรณาการต่อยอดความรู้ในแวดวงภาษา ชาติพันธุ์ การศึกษา หรือศาสตร์ด้านอื่น ๆ รวมทั้งยังช่วยเพิ่ม ประสิทธิภาพในการเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานได้ด้วยอุปกรณ์และ เทคโนโลยีที่ทันสมัยผ่านช่องออนไลน์ให้เข้าถึงได้ง่าย ตามเป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 16 เป้าหมายย่อย 16.10 ในการสร้างหลักประกันว่า สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ และมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมและ สร้างความเข้าใจในความหลากหลายของภาษาและผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่คนในสังคมควรทำความเข้าใจและ ช่วยกันรักษาให้บรรลุตามเป้าหมายที่ 11 เป้าหมายย่อย 11.4 ในการปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ของโลก