นวัตกรรม ICE – GAME ส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมในเกาะลันตา

สรัญญา กฤษณานุวัตร มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์ และรณกร รักษ์วงศ์
Share on :

จากธรรมนูญขององค์การยูเนสโก ตอนหนึ่งที่ว่า “การเผยแพร่การศึกษาและวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ล้วนเป็น ไปเพื่อสร้างความเป็นธรรม เสรีภาพ และสันติภาพแก่ประชากรโลก” ซึ่งนำมาสู่คำมั่นสัญญาในการที่จะส่งเสริม ความเข้าใจอันดีระหว่างชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การจัดการศึกษากับวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องบูรณาการเข้าด้วยกัน ดังนั้นแนวทางในการจัดการศึกษา ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงการเปิดพื้นที่ เปิดโอกาส และให้ความสำคัญ กับความรู้ของทุกกลุ่มวัฒนธรรมอย่างทั่วถึงในพื้นที่เหล่านั้น

เกาะลันตา เป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งประชากรมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม โดยมี การแลกเปลี่ยนและผสมผสานระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ มาอย่างยาวนานมากกว่าร้อยปี ทั้งกลุ่มคนอูรักลาโวยจ คนไทยเชื้อสายจีน คนไทยพุทธ และไทยมุสลิม และสามารถอยู่ร่วมกันโดยคงอัตลักษณ์และประเพณีสำคัญของแต่ละ กลุ่มไว้ได้อย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นประเพณีลอยเรือ หรือ ‘อารี ปาจัก’ ของกลุ่มอูรักลาโวยจ, งานวันเมาลิด และ ประเพณีฮารีรายาของกลุ่มคนไทยมุสลิม1, พิธีเช้งเม้ง/ชิงหมิงหรือการไหว้เจ้าของกลุ่มคนจีน (ฮกเกี้ยน) ในเกาะลันตา, รวมถึงประเพณีสารทเดือนสิบของคนไทยพุทธ ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และมีการร่วม กิจกรรมระหว่างกันเป็นเรื่องปกติ สามารถพบเห็นความหลากหลายของกลุ่มคนเหล่านี้ได้โดยดูจากงาน “ลานตา ลันตา” ซึ่งเป็นงานประจำปีของเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มคน ในเกาะลันตา ได้ถูกนำมาบูรณาการเป็นหลักสูตร และแผนการเรียนรู้ ประกอบสื่อที่ส่งเสริม การเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมในเกาะลันตา โดยมี นวัตกรรม ICE-GAME ซึ่งเป็นการ์ดเกมและ บอร์ดเกมต่าง ๆ ที่ผสมผสานความหลากวัฒนธรรม ของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ในเกาะไว้หลายรูปแบบ ได้แก่ UNO – เกมการ์ดความรู้พหุวัฒนธรรมลันตา ซึ่งแบ่งเป็นสี ๆ ตามหมวดประวัติศาสตร์ หมวด สถานที่สำคัญ หมวดภาษา หมวดประเพณี หมวดอาหารตามกลุ่มวัฒนธรรมของคนในเกาะ ลันตา ซึ่งผู้เรียนหรือผู้เล่นจะต้องอ่านเกร็ดความ รู้ในระหว่างเล่น ทำให้ได้รับความรู้ไปพร้อมกับ การแข่งขันกับเพื่อน  BINGO – ที่นี่ลันตา เป็นแผ่นเกมขนาดเล็กซึ่งระบุชื่อ สถานที่สำคัญในเกาะลันตา และการ์ดความรู้ของสถานที่ต่างๆ โดยผู้เล่นจะได้เรียนรู้รายละเอียด ที่มา และความสำคัญของ สถานที่ในเกาะลันตาจากการ์ดความรู้ เช่น ชื่อหมู่บ้าน ชื่อหาด ชื่ออ่าว ชื่อโรงเรียน และได้สนุกสนานจากการลุ้นว่าแผ่นเกมที่ ตนเองถืออยู่จะมีชื่อสถานที่ครบแถวก่อนเพื่อน ๆ หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีเกมบันได – งูพหุวัฒนธรรมลันตา ซึ่งเป็นบอร์ดเกม ที่ผู้เล่นจะได้เรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเกาะ ผ่านการเดินทางรอบแผนที่เกาะลันตา ไปพร้อมกับการเสริม ความรู้ผ่านการ์ดความรู้หมวดต่าง ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต ศาสนา ประเพณีและเทศกาล เป็นต้น

นวัตกรรม ICE-GAME เกมส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่าง วัฒนธรรม เกิดขึ้นภายใต้โครงการ ‘การจัดการศึกษาแบบทวิ- พหุภาษาและการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมในเกาะลันตา’2 ของ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล อันมี เป้าหมายในการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน ทุกกลุ่มวัฒนธรรมโดยคำนึงถึงต้นทุนทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิตและประเพณีของประชากรในพื้นที่ลันตา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสากลขององค์การ ยูเนสโก SDG4 คือ เป้าหมายด้านการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ครอบคลุมทุกกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเท่าเทียม และเพื่อสร้างสังคม ที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างกันและทำความเข้าใจใน ความแตกต่าง เพื่อเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน อันจะนำ ไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริงในบริบทพหุภาษา-พหุวัฒนธรรม ในปัจจุบัน

อ้างอิง
1 พรชัย นาคสีทอง และ อนินทร์ พุฒิโชติ. 2558. พลวัตรทางพหุสังคมและพหุวัฒนธรรมของผู้คนในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (พ.ศ.2522-2553). วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (สิงหาคม 2557 – มกราคม 2558), หน้า 117-153.
2 ชื่อโครงการภาษาอังกฤษ: Mother tongue-based Multilingual and Intercultural Education (MTBMLE-ICE) in Koh Lanta project ดำเนินการโดย ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรม ในภาวะวิกฤต  สนับสนุนโดยมูลนิธิ Pestalozzi Children’s Foundation (PCF) สวิตเซอร์แลนด์