ออกจากหลุมดำ กับดักชีวิตของคนคิดฆ่าตัวตาย
“เป็นภาระ … ไม่เป็นส่วนหนึ่ง … ความสามารถในการฆ่าตัวตาย
ไร้ค่า … ว่างเปล่า … สิ้นหวัง … การเข้าถึงอาวุธ”
โครงการวิจัย ภาษา การสื่อสาร และบริบทสังคมวัฒนธรรม: สัมพันธสารวิเคราะห์การใช้ภาษาของผู้มีประสบการณ์โรคซึมเศร้า ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อการเฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ปีงบประมาณ 2563 พบว่าผู้มีภาวะซึมเศร้า และ/หรือโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มสื่อสารความคิด ความรู้สึก เชิงลบ ซึ่งการสื่อสารทั้งหมดนี้คือ “สัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย”
บุคคลที่มีความคิดฆ่าตัวตาย บ่อยครั้งที่เขามีอารมณ์เศร้าหมองโดยไม่ทราบสาเหตุและไม่มีสิ่งกระตุ้น ในภาวะอารมณ์ที่เศร้าหมอง เช่นนี้ มักจะท่วมท้นด้วยคำพูดหรือความคิดลบที่มีต่อตนเองต่อผู้อื่น และต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว จึงทำให้เขาตกอยู่ในห้วงลึกแห่งความทุกข์ใจที่ ไม่สามารถจะหาทางออกใดในการแก้ปัญหาได้ ยิ่งคิดลบก็ยิ่งจมดิ่ง จนไม่สามารถรับรู้ถึงคุณค่าของตนเองมองไม่เห็นความหมายของการมีชีวิต
บุคคลมีความคิดฆ่าตัวตาย อธิบายภาวะเช่นนี้ว่า เขาตกอยู่ใน “หลุมดำ” และติดอยู่ใน “กับดัก” ที่ทำให้เขาเป็นทุกข์ที่หาทางออก ไม่ได้ ดังคำกล่าวที่แสดงให้เห็นภาพและระดับของความทุกข์ใจว่า “เป็นทุกข์ระดับจิตวิญญาณ” มันยากมากที่จะออกจากความทุกข์ในกับดัก ของหลุมดำนี้ และวัฏจักรนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนไม่สามารถที่จะตัดวงจรนี้ได้ และปรากฏการณ์นี้เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาเลือกที่จะ ทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายเพื่อให้หลุดพ้นจากบ่วงทุกข์ที่เกิดขึ้น
จากการวิจัยพบว่าบุคคลที่มีความคิดฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มักจะมีอาการ/ภาวะ/โรคซึมเศร้ามาก่อนหน้านั้นแล้ว ในบุคคลกลุ่มนี้ ความต้องการการฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วกระทำการฆ่าตัวตายในทันที ส่วนใหญ่มักจะมีความคิดเกิดขึ้น แล้วความคิดนั้นก็จางไปบ้าง บางครั้งก็ปรากฏเด่นชัดขึ้นอีก โดยเฉพาะในยามที่จมดิ่งกับความเศร้าและหาทางออกไม่ได้
แนวทางในการดูแลบุคคลที่มีความคิดฆ่าตัวตาย
การที่บุคคลที่ท่านรักนั้นมีความคิดหรือกระทำการฆ่าตัวตาย มันเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน อย่าเพิ่งโกรธคนที่ท่านรัก และอย่าเพิ่งตำหนิว่าเป็นความผิดของตัวท่าน แนวทางในการดูแลบุคคลที่มีความคิดฆ่าตัวตาย มีดังนี้
- ลดความสามารถในการเข้าถึงการตาย หากบุคคลที่ท่านรักมีความคิดหรือกระทำการฆ่าตัวตาย ท่านต้องใส่ใจดูแลอย่างใกล้ชิด ความคิดหรือการกระทำดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือตลอดเวลา ฉะนั้นการเก็บวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เชือก อาวุธ หรือของมีคมที่สามารถใช้ในการทำร้ายตนเองได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เพื่อไม่ให้การเห็นวัสดุ สิ่งของ หรือ อาวุธเหล่านี้เป็นปัจจัยกระตุ้นการทำร้ายตนเอง
- ท่านสามารถปรับ/ต่อเติม/เสริมแต่งความสัมพันธ์ระหว่างท่านและบุคคลที่ท่านรักใหม่ได้ด้วยหัวใจ ขอให้ท่านทบทวนการแสดงออกของความรักของท่านที่ผ่านมาว่าเป็นรูปแบบใด ส่งเสริมหรือขัดแย้งต่อความสัมพันธ์ระหว่างท่านและบุคคลที่ท่านรัก ไม่ตำหนิตัวเองหรือบุคคลที่ท่านรัก ขอแค่ยอมรับในสิ่งที่ผ่านมาและเดินหน้าต่อไปโดยปรับแต่งความสัมพันธ์ใหม่
- หาเวลาทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างท่าน บุคคลที่ท่านรัก และ/หรือสมาชิกในครอบครัว การทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ได้หวังผลลัพธ์จากกิจกรรม เพียงแค่ใช้กิจกรรมเป็นสื่อกลางในการสร้างความสัมพันธ์ ความรัก ความเข้าใจระหว่างท่าน บุคคลที่ท่านรัก และ/หรือสมาชิกในครอบครัว เป็นการช่วยให้บุคคลที่ท่านรักสามารถกลับมาเชื่อมต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ (Connectedness)
- สังเกต ใส่ใจ ถามไถ่ พร้อมทั้งประเมินความต้องการฆ่าตัวตายเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม เช่น เมื่อท่านสังเกตเห็นบุคคลที่ท่านรักเศร้าหมอง บ่นท้อแท้สิ้นหวัง เก็บตัว ร้องไห้ หรือเมื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงจากเศร้า อยากตาย เปลี่ยนเป็นอารมณ์ดี ร่าเริง มีความสุข เพื่อที่ท่านจะได้ให้การช่วยเหลือดูแลได้อย่างเหมาะสมตามอาการ
- ค้นหาสิ่งที่มีความหมายในชีวิตของบุคคลที่ท่านรัก (Meaning of Life) ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ เป้าหมาย ความใฝ่ฝัน แรงบันดาลใจ ฯลฯ การที่บุคคลที่ท่านรักได้ใช้เวลากับสิ่งที่มีความหมายในชีวิตของเขา จะช่วย สร้างแรงจูงใจในการมีชีวิต และสิ่งที่มีความหมายในชีวิตจะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวดึงรั้งบุคคลที่ท่านรักจากการกระทำ การฆ่าตัวตายได้
- เสริมการตระหนักในคุณค่าของตนเองแก่บุคคลที่ท่านรัก โดยการเปิดโอกาสให้บุคคลที่ท่านรักได้ทำในสิ่ง ที่เขามีศักยภาพ มีความสามารถ ชื่นชมและเสริมแรงทางบวกในสิ่งที่เขาทำได้ ให้กำลังใจและให้การสนับสนุนตาม สมควร เพื่อสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น ยอมรับในความเป็น บุคคล ยอมรับความแตกต่างทางความคิดและการกระทำของเขา การรับฟังและยอมรับความมีตัวตนของบุคคลที่ ท่านรักจะสร้างความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม/ของครอบครัว/ของสังคม (Sense of Belonging) ความรู้สึก มีคุณค่าในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเป็นปัจจัยปกป้องภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย
- ส่งต่อผู้ที่มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตายเข้าสู่ระบบบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะช่วยป้องกัน/ลดความคิดและการกระทำได้ ยิ่งรักษาเร็วยิ่งดี ยิ่งทิ้งไว้นานผลกระทบทางลบยิ่งมาก
ประเด็นสำคัญ ขอให้ท่านระลึกว่า การพูดคุยเรื่องการฆ่าตัวตายไม่ได้กระตุ้นให้บุคคลที่ท่านรักคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ถ้าเขา ไม่ได้คิดมาก่อน แต่ถ้าเขาคิดมาก่อนหรือกำลังคิดอยู่ การพูดคุยของท่านจะเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลที่ท่านรักได้ระบายความทุกข์ ออกมา และเป็นการเปิดโอกาสให้ท่านสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมรับรู้ เข้าใจและให้การช่วยเหลือบุคคลที่ท่านรักได้ทันเวลา อาจจะดีกว่า การปล่อยให้บุคคลที่ท่านรักเผชิญความทุกข์ใน “หลุมดำ” และ “กับดัก” เพียงลำพัง
ตัวอย่างคำพูดเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
“ฉันเข้าใจในเรื่องราวความทุกข์ของเธอนะ ฉันขอถามนิดนะ เธอเคยมีความรู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่บ้างหรือไม่”
“ที่เธอบอกว่าบางครั้งไม่อยากมีชีวิตอยู่นั้น ไม่ทราบว่าเธอเคยมีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองบ้างหรือไม่ อย่างไร”
“ที่เธอบอกว่า วันจันทร์นี้เธอจะไม่อยู่แล้ว หมายความว่าอย่างไร”
“เธอคิดหรือวางแผนอะไรไว้”
สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นปัจจัยเสริมการฆ่าตัวตาย ได้แก่ ความคิดลบ ความรู้สึกไม่มีคุณค่า/เป็นภาระแก่ผู้อื่น การมองไม่เห็น ความหมายของการมีชีวิต และไม่สามารถเชื่อมโยงทางด้านจิตใจกับผู้อื่นได้ (Loss of Psychological Contact) ฉะนั้น การดูแลบุคคลที่ ท่านรักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายจึงไม่ใช่การลงมือทำแค่เพียงครั้งเดียว วันเดียว เดือนเดียว แต่เป็นการสั่งสม สร้าง และเสริมความสัมพันธ์ ที่ดีระหว่างท่านกับบุคคลที่ท่านรัก ให้บุคคลที่ท่านรักรับรู้ถึงความรักที่ท่านมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ความห่วงใย ความปรารถนาดี และความมี คุณค่าของเขาในสายตาของท่าน ทำให้บุคคลที่ท่านรักรับรู้ว่าท่านพร้อมจะเข้าใจและอยู่เคียงข้างเขา ทำให้บุคคลที่ท่านรักรับรู้ว่า ท่านพร้อมที่จะจูงมือเขาออกจาก “หลุมดำ” ที่เป็นกับดักในชีวิตของเขา