รู้จัก “ครูพงศ์”

“วีระพงศ์ มีสถาน” เป็นนักปฏิบัติการวิจัย (ผู้ชำนาญการพิเศษ) ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการใช้ภาษาไทย เป็นศิษย์เก่าระดับปริญญาโท สาขาวิชาภาษาศาสตร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มีผลงานโดดเด่นจนได้รับรางวัล “ศิษย์เก่าดีเด่น บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2561” มีผลงานตีพิมพ์ที่น่าสนใจ อาทิ สำนวนไทย ที่ไปที่มา, ปรุงชีวิต ให้สุข, วิศวะมหิดล นาช่างของแผ่นดิน, ฅนราชบุรี, พจนานุกรมลาว-ไทย, สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ฯลฯ แต่สิ่งที่ทำให้หลายคนรู้จัก “วีระพงศ์ มีสถาน” คือการเป็น วิทยากรอบรมเทคนิคการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติมาแล้ว 29 รุ่น ด้วยวิธีการถ่ายทอดความรู้แบบ “แม่สอนลูก” ที่นำเอาหลักการ ทางภาษาศาสตร์มาผนวกเข้ากับความรู้ด้านจิตวิทยาการสอน และจิตวิทยาการเรียนรู้ ในการเพิ่มทักษะให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจ หลักภาษาไทย นอกจากนี้ ยังเป็นผู้รู้ด้านภาษา-วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยได้ถ่ายทอด ความรู้ให้แก่นักศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษา ทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงการเป็นวิทยากร-พิธีกร “ท่องเที่ยว ไทลื้อ 3 แผ่นดิน” “เรียนภาษาลาวระยะสั้น 2 วันก็อ่านได้” “จัดการท่องเที่ยววัฒนธรรมสำคัญฉะนี้” “ไทย-ไท สายสัมพันธ์ผู้คนในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้” “สอนอย่างมีความสุข ยุคอาเซียนเป็นหนึ่ง” ฯลฯ และยังสามารถบอกเล่าความรู้งานวิชาการให้เป็นภาษาชาวบ้านที่ คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย เห็นได้จากการให้ความรู้ผ่านสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทำความรู้จัก “ครูพงศ์” ด้วยคำตอบนี้
ประวัติและการใช้ชีวิตที่บอกเล่าตัวตนและผลงาน
ชื่อวีระพงศ์ มีสถาน ครับ ซึ่งคนในองค์กรจะเรียก “อาจารย์วี” แต่คนภายนอกเรียก “ครูพงศ์” ในวัยเด็กได้รับแรงกระตุ้นดี ๆ ที่เป็น พลังแห่งการให้จากครู จึงเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเป็นครู อยากสอน จึงเลือกเรียนศึกษาศาสตร์โดยไม่สนใจวิชาอื่น โดยเริ่มชีวิต การเป็นครูเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสอนภาษาไทย ให้ชาวต่างชาติด้วย จากนั้นได้เรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และหากจะให้นิยามตัวเองในวันนี้ “วีระพงศ์” ก็คือผู้รักภาษาไทยอย่างไม่หอบหวง และอยู่กับภาษาไทยอย่างมี ความสุข

“ภาษา” นอกจากจะบอกเล่าความรู้สึก ความต้องการ และถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ของผู้คนแล้ว อาจารย์คิดว่ายังมีเหตุผลใดที่ทำให้ภาษายังคงความสำคัญและจำเป็นที่ต้องรักษาให้คงอยู่ และมีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลงไป
ภาษาเป็นนวัตกรรมของมนุษย์ที่มีความสำคัญ ไม่ว่ามนุษย์กลุ่มใด ต่างก็มีพัฒนาการทางภาษาของตนเองทั้งสิ้น ซึ่งรู้สึกใจหายทุกครั้ง ที่ได้ยินว่ามีภาษาสูญหาย เนื่องจากไม่มีมนุษย์คนใดจะสามารถ Create ภาษานั้นให้กลับมาใหม่ได้ อย่างเช่น “ภาษากะเตียว” ในพื้นที่อำเภอ ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในปัจจุบันไม่มีคนกะเตียวแล้ว เหลือแต่ คำศัพท์ที่นักภาษาศาสตร์ได้เก็บคำเอาไว้ และมีชื่อคลอง เรียกว่า คลองกะเตียวเป็นหลักฐาน
(ต่อ) อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดภาษาใหม่ หรือสูญหาย
ธรรมชาติของภาษาก็มีเกิด-มีดับ มีความทันสมัย-ล้าสมัย เช่น ในบท พระราชนิพนธ์ไกลบ้านของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 หรือภาษาในพระคัมภีร์ไบเบิล ที่เราอ่านไม่เข้าใจเพราะเป็นภาษาเก่า และภาษา ยังเป็นเรื่องของยุคสมัยด้วย เช่น ภาษาสมัยพ่อขุนรามคำแหง ดังนั้น ภาษาจึงเปรียบเสมือนชีวิตมนุษย์ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามเวลาและ สถานการณ์ เมื่อใดก็ตามที่ภาษาหยุดนิ่ง นั่นคือ “ภาษาตาย” นอกจากนี้การใช้ภาษาหรือศัพท์ที่ผู้เขียนกลอนหรือโคลงสร้างศัพท์ใหม่ แทนคำพื้นฐานเดิมที่เรียกว่า “กวีสิทธิ์” ก็มีส่วนให้ภาษาคงอยู่หรือ สูญหายได้เช่นกัน ซึ่งการสร้างศัพท์ใหม่ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ถ้าสร้างขึ้นมาแล้วไม่มีคนเข้าใจหรือร่วมใช้ด้วย คนที่คิดภาษานั้น ก็จะกลายเป็นคนบ้าไปโดยปริยาย ซึ่งการเรียนภาษาศาสตร์ทำให้ เห็นและเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงของภาษาที่เกิดขึ้น

ในการเรียนภาษาไม่ว่าภาษาใด อาจารย์คิดว่าอะไรเป็นทักษะสำคัญและจำเป็นต่อการเรียนภาษา
การเรียนภาษาต้องใช้อวัยวะ 3 ส่วนเพื่อออกเสียงนั่นคือ ลิ้น ปาก หู โดย “ใช้ลิ้นให้เป็นธรรมชาติ” “ทำปากให้อ่อน” โดยฝึกทำปากเหยียด ห่อ กลม บิดเบี้ยวเพื่อให้เกิดเสียงต่าง ๆ อย่างเสียง สระอี หากทำ รูปปากให้กลม ๆ ก็จะเกิดเสียงสระเสียงหนึ่งในภาษาจีน และยัง ต้องมี “หูที่ดี” ซึ่งอาจารย์ภาษาศาสตร์ได้เตือนไม่ให้ใส่หูฟังเวลา เดินตามท้องถนน หรืออยู่นอกห้องที่มีเสียงรบกวน เพราะต้อง เร่งเสียงให้ดังขึ้น ทำให้แก้วหูกระทบกระเทือนจากเสียงที่ดังเกินไป และให้ผู้เรียนตัดความกังวลเรื่องไวยากรณ์ภาษา เพราะจาก ประสบการณ์การสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ พบว่าวิธีสอนแบบ “แม่สอนลูก” โดยการให้ทำซ้ำ ๆ ได้ผลดีกว่าเรื่องไวยากรณ์ที่ นักภาษาศาสตร์เชื่อว่าทำให้เก่งภาษาซึ่งไม่เป็นจริง

(ต่อ) และจากประสบการณ์ในการเป็นผู้สอนภาษาไทย ให้กับชาวต่างชาติ อาจารย์เห็นว่ามีความเหมือนและ ความต่างอย่างไรระหว่างผู้เรียนที่เป็นคนไทยกับ ผู้เรียนที่เป็นชาวต่างชาติ
ต่างอย่างเห็นได้ชัดครับ เนื่องจากคนไทยได้ยินและเลียนเสียงจาก พ่อแม่และคนแวดล้อมตั้งแต่เกิด ต่างกับผู้เรียนชาวต่างชาติที่ไม่รู้ภาษาไทยที่เป็นศัพท์พื้นฐาน ในการสอนจึงแนะนำผู้เข้าอบรมให้สอน ที่ตัวเนื้อภาษา ไม่ต้องสอนละเอียด ไม่ต้องสอนศัพท์กระจุกกระจิก ที่ไม่ได้ใช้ โดยเฉพาะตำราเรียนภาษาไทยที่ใช้สอนคนไทย อย่างเช่น “อีกาปะงู งูตีอีกา ปูนาเดิน เซไปเซมา” หรือ “กระชุก้นทะลุ” เพราะคำเหล่านี้คนไทยเท่านั้นที่อ่านและจินตนาการได้ ทำให้ต้อง ออกแบบตำราสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติเป็นการเฉพาะ โดยเรียงลำดับว่าควรสอนอะไรก่อน-หลัง เพื่อให้ผู้เรียนมี Language Tools หรือเครื่องมือทางภาษา เช่น “อันนี้ภาษาไทยเรียกว่าอะไร” และสอนด้วยความรักและเข้าใจ เนื่องจากการออกเสียงของชาวต่างชาติ ในระยะแรกจะยังไม่ชัดเจน ครูต้องสังเกตผู้เรียนว่าควรแก้ไขอะไร
(ต่อ) ความเหมือนของคนไทยและคนต่างชาติในการเรียนภาษา
เป็นเรื่องของการออกเสียงมากกว่า แต่ในความเหมือนก็มีความต่าง โดยคนต่างชาติในโซนเอเชียและยุโรปมีความต่างกัน คนต่างชาติ ในบางภาษาอาจไม่มีตัวสะกดเหมือนเรา ขณะที่คนเอเชียหลายประเทศ มีเสียงตัวสะกดที่ไม่เหมือนคนยุโรปและคนไทย ดังนั้นตอบได้ว่า การออกเสียงต่างกัน 100%

ปัจจุบันพบว่า เกิดความผิดเพี้ยนทางภาษามากขึ้น โดยเฉพาะภาษาเขียน อาจารย์คิดว่าวิธีการใดที่ทำให้ คนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษา โดยคำนึงถึงความถูกต้อง และควรปรับปรุงหลักสูตร การเรียนการสอนภาษาไทยอย่างไร เพื่อลดปัญหานี้
ภาษาที่เราใช้มีสองแบบคือ “ภาษาปาก” กับ “ภาษาทางการ” หรือ “ภาษาราชการ” ซึ่งในชีวิตประจำวันเราใช้ภาษาปากกันมากกว่า และด้วยธรรมชาติของคนมักหนีความจำเจจึงสร้างแบบแผน หรือ ศัพท์ใหม่ ๆ ขึ้น และด้วยเหตุที่เราไม่อาจบังคับทุกคนให้ใช้ภาษาให้ถูกต้องได้ จึงเป็นไปได้ยากที่จะรักษาภาษาไว้ไม่ให้ผิดเพี้ยน เราจึง เห็นคำศัพท์ที่เขียนผิดเป็นคำที่เขียนถูกและใช้กันเป็นปกติในเวลาต่อมา และก็เป็นธรรมชาติของภาษาอยู่แล้ว โดยที่ “สิ่งใดที่ผิดไปนาน ๆ จะกลายเป็นถูก” เช่นคำว่า สมมติ ความจริงต้องออกเสียงว่า สะ-มะ- มะ-ติ แต่เราออกว่า /สม-มุด/ ต่อมาจึงเติมสระอุ เข้าไว้ด้วย เปลี่ยน รูปเขียนเป็น “สมมุติ” ในที่สุด ซึ่งหลักการทางภาษาแบบนี้มิได้เกิด แต่ภาษาไทยเท่านั้น ภาษาจีน อังกฤษ หรือญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน
ส่วนการปรับหลักสูตรเพื่อแก้ปัญหาโดยส่วนตัวเห็นว่าควร “อบรม ครูภาษาไทยอย่างเข้มงวดเพื่อเป็นแม่แบบ” และ “ลดธรรมเนียมนิยม” ที่เป็นความรู้โบราณที่เรียนแล้วไม่ได้ใช้ไม่ควรสอน เพราะเสียเวลา และไม่มีประโยชน์ เช่น คำสุภาพในแบบเรียนภาษาไทยของนักเรียน ชั้นประถมศึกษา อย่างเรียกแตงโมว่า ผลอุลิด, เรียกปลาสลิดว่า ปลาใบไม้ แบบนี้ไม่ต้องสอน ที่สำคัญคือ ควร “ให้ครูสอนภาษาไทย เรียนภาษาศาสตร์” ด้วย เนื่องจากภาษาศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ ทางภาษา มีความเกี่ยวข้องกับกายภาพ ทั้งการออกเสียง การฟัง เป็นการนำเอาความจริงที่เกิดกับภาษามาช่วยประกอบการสอน

จุดเริ่มต้นและความสนใจที่ทำให้อาจารย์เป็นผู้รอบรู้ใน “เรื่องราวของเรื่องลาว” ซึ่งได้ปรากฏผลงานออกมาให้เห็นทั้งทางด้านภาษาและวัฒนธรรม
พื้นเพเป็นคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือครับ มีวิถีชีวิตในแบบ “กินข้าวเหนียว เคี้ยวปลาแดก” ท่ามกลางวัฒนธรรมลาว ใช้ภาษา ลาวเป็นภาษาถิ่น โดยจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ภาษาลาวเริ่มจากการเรียน ภาษาไทยเป็นวิชาเอก ทำให้ได้อ่านวรรณกรรมเก่า ๆ ของไทย อาทิ ลิลิตพระลอ ลิลิตตะเลงพ่าย ที่มีการใช้คำศัพท์ภาษาลาวที่เป็นลาว เดิม ทำให้ได้เรียนรู้และซึมซับภาษาลาว จึงได้คิดทำพจนานุกรม ภาษาลาว-ไทย ฉบับแรกของประเทศไทยที่เป็นการรวบรวมเอา คำศัพท์ภาษาลาวด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์ลาว วารสารลาว จดหมายลาว และการสื่อสารกับคนลาว เก็บคำศัพท์ลงคอมพิวเตอร์ โดยใช้เวลากว่า 4 ปีครึ่งจึงสำเร็จ
และเนื่องจากในปีนี้จะเกษียณอายุราชการ จึงขอเชิญชวนมาร่วม ชมภาพและฟังเรื่องลาวในชื่อ “แลลาวลอดเลนส์” ที่จะจัดขึ้นปลาย ตุลาคม 2567 เป็นการเล่าเรื่องลาวในทัศนะของตนเองที่คลุกคลี กับงานภาษาและวัฒนธรรมลาวจากหลายสถานที่ โดยกิจกรรม นี้จะมีทั้งการบรรยายและแสดงภาพถ่ายในรูปแบบ Online และ Onsite ซึ่งเป็นการถ่ายภาพในฐานะที่เป็น “นักมานุษยวิทยา” เป็นภาพธรรมชาติที่สะสมจากงานภาคสนาม ไม่มีการจัดฉากแต่อย่างใด

อาจารย์มีแนวคิดในการใช้ชีวิต อย่างไรให้มี “ความสุขและอิสระ” ท่ามกลางสังคมปัจจุบัน ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
มองโลกและปรับใจให้ยอมรับกับทุกสิ่ง ที่มันเป็น ไม่เอาใจไปฝากไว้กับใครหรือ อะไร มีความสุขกับการให้และช่วย ไม่ว่า จะเป็นช่วยหาคำตอบในสิ่งที่มีผู้อยากรู้ เพราะทุกคำถามทำให้เราโตขึ้น หรือการ ให้น้ำใจบนท้องถนนเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็น ความสุขได้ เพราะเชื่อเสมอว่า “จิตที่ให้ ย่อมสบายกว่าจิตที่จะเอา”
