นักวิจัย ผู้ประยุกต์ใช้ ‘ภาษาศาสตร์’ เพื่อพัฒนาการศึกษาเด็กชาติพันธุ์
ดร.มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์ เป็นนักวิจัยประจำศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (สาขาภาษาไทย) จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปริญญาโท (สาขาภาษาศาสตร์) จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาเอก (สาขาภาษาศาสตร์) จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบัน ดร.มิรินด้าได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาบูรณาการทั่วไป ประจำปี 2565 จากสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
ผลงานของ ดร.มิรินด้า เป็นการดำเนินงานโครงการวิจัยซึ่งได้รับทุนวิจัยจากแหล่งทุนนานาชาติ และเป็นงานวิจัยเชิงพัฒนาในด้านการจัดการศึกษาที่ใช้ต้นทุนทางภาษาและวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการรู้หนังสือ (การอ่านออก เขียนได้) สำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางในประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากงานวิจัยด้านการจัดการศึกษาที่ใช้ภาษาแม่และวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นฐาน ทั้งในรูปแบบทวิ-พหุภาษา (MTB-MLE) สำหรับเด็กไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่ชายแดนใต้ และเด็กชาวเลอูรักลาโวยจในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ รวมถึงการปรับประยุกต์ใช้การสอนภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง (TSL) สำหรับบุตรหลานแรงงานข้ามชาติในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากและจังหวัดระนอง และการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม (ICE) สำหรับนักเรียนหลากกลุ่มวัฒนธรรมในโรงเรียน 14 แห่งบนเกาะลันตา และยังมีผลงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรวม 28 โครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน ผลจากการดำเนินงานดังกล่าวทำให้เกิดนวัตกรรมเรียนรู้ภาษาแม่/ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยจำนวนมากกว่า 1,500 ชิ้น โดยมีโรงเรียนที่เป็น เครือข่ายวิจัยจำนวน 63 แห่ง และมีครูที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการสอนมากกว่า 270 คน และนักเรียนที่ได้รับประโยชน์จำนวนมากกว่า 5,800 คน
จุดเริ่มต้นของการเข้ามาเป็น “นักวิจัย” ที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล แห่งนี้
เริ่มทำงานเป็นนักเขียนบทสารคดี (Copy Writer) ให้กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ประมาณปีกว่าค่ะ ต่อมาทราบจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ว่ามหาวิทยาลัยมหิดลต้องการนักวิจัยด้านภาษาศาสตร์ จึงมีโอกาสเข้าพบ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์” ตอนที่อาจารย์อธิบายการทำงานการฟื้นฟูภาษาร่วมกับชุมชนที่พูดภาษาถิ่นหรือภาษาชาติพันธุ์ซึ่งไม่ใช่ภาษาไทย ก็เกิดความสงสัยว่าเหตุใดชาวบ้านจึงมารวมตัวกันแล้วมาทำกิจกรรมภาษาทั้ง ๆ ที่พวกเขาน่าจะสนใจการหาเลี้ยงปากท้องหรือความเป็นอยู่ของตัวเองมากกว่า อาจารย์สุวิไลท่านก็บอกว่า “เวลาที่เจ้าของภาษาให้ความสนใจในภาษาของตัวเองนี่แหละคือสิ่งสำคัญ” เพราะการจะหาคนแบบนี้และยอมเสียสละเวลามาทำงานเพื่อให้ภาษาของตนเองยังคงใช้อยู่ต่อไปนั้นเป็นเรื่องยาก พอเห็นถึงประเด็นนี้จึงทำให้เราอยากรู้ว่าอาจารย์ใช้วิธีอะไรหรือกระบวนการใดที่จะทำให้เจ้าของภาษาหลายกลุ่มลุกมาฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของตัวเอง จุดนี้เองจึงเป็นการเริ่มต้นการทำงาน “นักวิจัยภาษาศาสตร์ชาติพันธุ์” ที่มหาวิทยาลัยมหิดล
ทำไมจึงเลือกเรียนภาษาศาสตร์ ที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อก้าวเข้ามาทำงานที่ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤตประมาณ 3-4 ปี ก็เห็นถึงโอกาสที่จะได้ศึกษาต่อปริญญาเอก โดยเป้าหมายในการเรียนภาษาศาสตร์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกแตกต่างไปตามภาระงานที่ทำในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ในระดับปริญญาโท เราจะเรียนเพื่อวิเคราะห์ตัวภาษาในด้านความหมายพฤติกรรมการใช้ภาษากับการวิเคราะห์เชิงสังคม ซึ่งเราจะสนุกไปกับการวิเคราะห์หรือเล่นกับตัวภาษา แต่เมื่อมาเรียนที่มหิดลเราจะมุ่งเน้นไปที่การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางภาษาเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนกลุ่มต่าง ๆ ที่ประสบกับปัญหาด้านภาษาหรือปัญหาที่เกี่ยวโยงกับภาษา ซึ่งต้องนับว่าเป้าหมายและรูปแบบเช่นนี้เป็นจุดเด่นของหลักสูตรภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ที่มหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษาภาษาศาสตร์ต้องเรียนรู้และพูดคุยกับเจ้าของภาษาชาติพันธุ์ที่ไม่ได้พูดภาษาไทยหรือไทยถิ่น นับได้ว่าเป็นความท้าทายและความตื่นเต้นอีกรูปแบบหนึ่งที่นักศึกษาจะต้องหาวิธีสื่อสารพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อมูลภาษาถิ่นหรือภาษาชาติพันธุ์ในแง่มุมที่ตนเองต้องการให้ได้ เรียกได้ว่าเป็นการใช้ทักษะหลาย ๆ ด้านมาประยุกต์กับการเรียนรู้ภาษาศาสตร์ภาคสนาม
ความรู้ภาษาศาสตร์ด้านใดบ้างที่นำมาใช้บ่อยครั้ง ทั้งตอนลงพื้นที่ภาคสนามและการทำงานวิจัยต่าง ๆ
ถ้าจะให้พูดจริง ๆ คือใช้หลายด้านและบางครั้งเราก็ใช้ความรู้เหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว เช่น ความรู้ด้านระบบเสียง ความรู้เกี่ยวกับฐาน-กรณ์ที่ใช้ในการออกเสียง หน่วยเสียงสำคัญของภาษา ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นประโยชน์ในการทำงานพัฒนาระบบเขียนภาษาแม่หรือภาษาถิ่นโดยใช้อักษรไทย ซึ่งศูนย์ดำเนินการไว้เกือบ 30 ภาษา นอกจากนี้ยังมีความรู้เกี่ยวกับตระกูลภาษาก็ทำให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์เชิงเครือญาติของภาษาต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงร่องรอยทางประวัติศาสตร์และเส้นทางการอพยพโยกย้ายของผู้พูดภาษาเหล่านั้นว่ามีความเกี่ยวข้องกัน และตระกูลภาษาก็ทำให้เราสามารถเชื่อมโยงและจดจำลักษณะทางภาษาที่เหมือนกันของภาษาที่อยู่ในตระกูลเดียวกันได้โดยง่าย เช่น ภาษา มลายูปาตานี ในพื้นที่ชายแดนใต้ กับภาษาอูรักลาโวยจ ในเกาะลันตา กระบี่ซึ่งเป็นพื้นที่วิจัยภาคสนามในอดีตและปัจจุบัน
ทั้งนี้ในหลักสูตรภาษาศาสตร์จะมีวิชาที่เรียกว่า “ภาษาศาสตร์ ภาคสนาม” ที่เป็นเหมือนเวทีจำลองให้นักศึกษาภาษาศาสตร์ได้มีโอกาสนำความรู้ที่เรียนมาปรับประยุกต์ใช้ก่อนที่จะลงพื้นที่จริง เพื่อทำงานวิจัยวิทยานิพนธ์ของตนเอง หรือก่อนที่จะลงพื้นที่ทำงานโครงการวิจัยร่วมกับคนในชุมชนในอนาคต ซึ่งหากขาดวิชานี้ไปก็จะขาดประสบการณ์ในการเรียนรู้และทำความเข้าใจผู้คนในสังคมที่เราหาโอกาสมาพบอีกครั้งได้ยาก
(ต่อ) และภาษาศาสตร์เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตและดำรงอยู่ของผู้คนอย่างไร
สำหรับตัวเองมองว่าการเรียนภาษาศาสตร์ไม่ใช่การเรียนทักษะภาษาใดภาษาหนึ่งเพื่อใช้ในการสื่อสาร แต่เป็นการเรียนเพื่อวิเคราะห์ตัวภาษาและรวมไปถึงกลุ่มผู้ใช้ภาษาเหล่านั้นด้วย หากเราอยากเข้าใจภาษาใดก็ต้องทำความเข้าใจผู้คนที่ใช้ภาษานั้น ๆ ในทางกลับกันหากเราอยากเข้าใจผู้คนกลุ่มวัฒนธรรมใด ๆ ควรเรียนรู้ภาษาและระบบคิดจากการใช้ภาษาของพวกเขาเหล่านั้นด้วย โดยส่วนตัวแล้วมองว่านักภาษาศาสตร์ที่ทำงานกับ กลุ่มคนหลากหลายภาษาก็จะเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของคนในสังคมได้มากขึ้น และเป็นพื้นฐานที่ดีในการยอมรับความแตกต่างทั้งในด้านแนวคิด วิถีชีวิต ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมของคนในสังคมได้ดียิ่งขึ้น
ในฐานะของ “ศิษย์เก่าดีเด่น” ประเภทบูรณาการทั่วไป “การบูรณาการที่ดี” ควรเป็นอย่างไร และมีหลักใน “การทำงานที่เป็นการบูรณาการแบบยั่งยืน” อย่างไร
การบูรณาการที่ดีคือการใช้ความรู้ที่มีอยู่มาวิเคราะห์ใช้กับบริบทพื้นที่ โดยมองไปข้างหลังและข้างหน้าพร้อมกัน กล่าวคือ พิจารณาความสอดคล้องระหว่างปัญหาที่พบกับความรู้ที่มีอยู่ว่าตรงกับแนวคิดหรือทฤษฎีที่เรียนมาตัวไหนบ้าง และวิเคราะห์ว่าจะแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาอย่างไร ซึ่งความแตกต่างในรายละเอียดของบริบทไม่ว่าจะเป็นเชิงพื้นที่ ภาษา วัฒนธรรม ทำให้จำเป็นต้องปรับแนวคิดและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น ความรู้เกี่ยวกับการจัดการศึกษาแบบทวิภาษาสำหรับเด็กและเยาวชนมลายูในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่สามารถใช้ทวิภาษาในรูปแบบเดียวกันได้สำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนอูรักลาโวยจในพื้นที่เกาะลันตา เนื่องจากที่มาและสาเหตุของปัญหาที่ต่างกันของ แต่ละพื้นที่ส่งผลให้ต้องปรับประยุกต์องค์ความรู้และกลไกในการทำงานแตกต่างกัน
มีหลักการอย่างไรให้เป็นการบูรณาการแบบยั่งยืน
จากประสบการณ์วิจัยตลอด 17 ปี พบว่าความยั่งยืนคือความยืดหยุ่น ความยั่งยืนไม่ได้หมายถึงการทำในรูปแบบเดิมซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน แต่ความยั่งยืนหมายถึงความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปตามบริบทและสถานการณ์ โดยเป้าหมายและแนวคิดหลักยังต้องคงอยู่ ดังนั้นการบูรณาการแบบยั่งยืนคือความยืดหยุ่นตลอดเวลา เช่น ลำดับการใช้ภาษาในการเรียนรู้แบบทวิภาษาของเด็กที่พูดภาษามลายูถิ่นในพื้นที่ชายแดนใต้จะใช้ภาษามลายูปาตานีก่อนภาษาไทย แต่สำหรับการเรียนรู้ทวิภาษาสำหรับเด็กอูรักลาโวยจในเกาะลันตามีการใช้ภาษาไทยปักษ์ใต้หรือภาษาไทยควบคู่ไปกับ ภาษาอูรักลาโวยจ เพราะเด็กยังใช้ภาษาอูรักลาโวยจได้ไม่คล่องนัก ดังนั้นแม้ว่าจะใช้รูปแบบทวิภาษาเหมือนกันแต่ลำดับภาษาและสัดส่วนเวลาย่อมแตกต่างกัน
คำว่า “เจ้าของภาษา” มีความสำคัญอย่างไรต่อการอนุรักษ์ภาษา
ปกติเราจะเรียกคนที่พูดภาษาใดก็ตามว่าเจ้าของภาษา แต่ในลักษณะของงานวิจัยที่ดำเนินการอยู่ คำว่า “เจ้าของภาษา” ยังกินความไปถึงคนในกลุ่มนั้น ๆ ที่ร่วมกันพัฒนาและฟื้นฟูภาษาให้ใช้ได้อย่างยาวนานขึ้น ดีขึ้น เพื่อไม่ให้ภาษาและวัฒนธรรมสูญหายไป นอกจากนี้ในเป้าหมายแรกของสมรรถนะการส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม (หรือ ICE: Intercultural Education) ได้กำหนดให้ผู้เรียนต้องมีความเป็น “เจ้าของภาษา” ในภาษาและอัตลักษณ์ของตัวเอง ที่มิใช่แค่พูดภาษานั้นได้แต่ยังหมายรวมถึงการรัก การหวงแหน ที่จะปกป้องภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งการรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของภาษาจะสามารถช่วยขับเคลื่อนและยกระดับภาษานั้น ๆ ได้
ทำอย่างไรให้ “การอนุรักษ์ภาษา” เป็นเรื่องสำคัญ ที่ไม่ถูกมองข้ามหรือปล่อยให้ตายจากไปตามเวลา
โดยส่วนตัวแล้ว การอนุรักษ์ภาษา หมายถึง การบูรณาการภาษา โดยไม่เพียงแค่ใช้ภาษาในการสื่อสาร แต่ควรใช้องค์ความรู้ของภาษาท้องถิ่นบูรณาการเข้าสู่เรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนำเรื่องวิถีชีวิต ภาษา และวัฒนธรรมไปผูกโยงกับด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะทำให้การเรียนรู้เรื่องภาษาไม่ถูกมองข้าม และมองเห็นขุมทรัพย์หรือความลับบางอย่างทางวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวภาษาแม่และภาษาท้องถิ่นที่อยู่ในตัวเจ้าของภาษา
จากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับ “การอนุรักษ์ภาษา” ท่านอยากบอกอะไรกับสังคมเกี่ยวกับภาษาถิ่น นับวันจะจางหายไปตามกาลเวลา
อยากจะกระตุ้นให้คนทั่วไปหันมาสนใจในภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชนเผ่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งเรื่องราวที่แฝงอยู่ในภาษาและภูมิปัญญาเหล่านี้มีความน่าสนใจ สร้าง Content ที่ดีและน่าสนใจต่อการนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีเพื่อเผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน เช่นเดียวกันสำหรับเจ้าของภาษาที่ตระหนักว่าภาษาของตนเองก็มีคุณค่า ต้องการถ่ายทอดและอนุรักษ์ไว้ ควรนำเทคโนโลยีและสื่อโซเชียลมีเดียมาช่วยในการถ่ายทอดภาษา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของกลุ่มตนเองให้เป็นที่รู้จัก และสร้างรายได้จากช่องทางออนไลน์ หากเจ้าของภาษารู้จักเลือกใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ก็จะช่วยเผยแพร่อัตลักษณ์ของกลุ่มให้เป็นที่รู้จักได้ โดยการใช้ภาษาของตัวเองหรือควบคู่กับภาษาราชการและภาษาอังกฤษ เช่น การสอนภาษา การเขียนการ์ตูน การทำสารคดี พิธีกรรม ตำนานท้องถิ่น อาหารท้องถิ่น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ตัวภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มต่าง ๆ ไม่หายไป และทำให้ตัวภาษาท้องถิ่นหรือการอนุรักษ์ภาษาได้รับการพัฒนามากขึ้น