นักภาษาศาสตร์ ผู้วางแผน ‘ภาษา’ และ ‘การศึกษา’
ของเด็กในบริบทพหุวัฒนธรรมชายแเดนใต้
ดร.ยูเนียนสาสมีต้า สาเมาะ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรภาษามลายูและมลายูศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นนักวิจัยที่สถาบัน วิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ความเชี่ยวชาญของอาจารย์คือ ภาษามลายู ภาษาอาหรับ การจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษา การจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมและประเด็นภาษากับ อัตลักษณ์ โดยมีงานวิจัยที่สนใจและทำอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับประเด็นการจัดการศึกษาแบบทวิ- พหุภาษาและการจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม ในส่วนของงานสอนที่รับผิดชอบมี 3 รายวิชา คือ ภาษามลายู ภาษาศาสตร์ ภาษามลายูเบื้องต้นและมลายูร่วมสมัยในอาเซียน ความสำเร็จจากการทำงานที่อาจารย์รู้สึกภาคภูมิใจและเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติก็เป็นงานการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ได้รับรางวัล “ผลงานประดิษฐ์ คิดค้นประจำปี พ.ศ. 2555 โดยสภาวิจัยแห่งชาติ” และรางวัล “King Sejong Literacy Prize ปี ค.ศ.2016” โดย UNESCO
ความรู้ด้านภาษาศาสตร์ที่ท่านได้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันฯ มีส่วนช่วยในการทำงานของท่านอย่างไรบ้าง
ความรู้ภาษาศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนเมื่อตอนที่อยู่ที่มหิดลนั้นมีประโยชน์มาก ๆ และมีส่วนช่วยให้ผมสามารถทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านการศึกษาของเด็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งล้วนมาจากความรู้ที่ได้มาจากมหิดล นอกจากความรู้แล้วมหิดลยังสร้างให้ผมกล้าที่จะคิดนอกกรอบ ซึ่งนำไปสู่การทำงานด้านภาษาศาสตร์ประยุกต์และงานบูรณาการข้ามศาสตร์ที่ไม่ซ้ำใคร และกลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้ผมสามารถคิดงานใหม่ได้อยู่เรื่อย ๆ
จุดเริ่มต้นความสนใจเรียนรู้ภาษาและภาษาศาสตร์มลายูกับอาหรับ และการจัดการศึกษาแบบทวิ/พหุภาษาจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
จุดเริ่มต้นเกิดจากความชอบบวกกับความฝันในวัยเด็กที่อยากจะเก่งหลาย ๆ ภาษา ซึ่งภาษามลายูกับภาษาอาหรับก็เป็นภาษาที่ผมเรียนตั้งแต่เด็ก จึงทำให้รู้สึกว่าน่าจะเรียนรู้ได้ไม่ยากมาก ตั้งแต่นั้นมาก็เลยกลายเป็นสิ่งที่ตัวเองสนใจและมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ภาษาทั้งสองมาโดยตลอด พอโตขึ้นก็ยิ่งรู้สึกว่าภาษาดังกล่าวมีความสำคัญกับตนเองมากขึ้นจนนำมาสู่การเลือกเรียนเอกภาษาอาหรับในตอนปริญญาตรี จากนั้นได้มีโอกาสไปเรียนต่อปริญญาโทในสาขาวิชาภาษามลายูที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย การที่ได้เรียนในสาขาภาษาอาหรับและภาษามลายูทำให้ผมเกิดความมั่นใจและมีความตั้งใจว่าสักวันผมจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอาหรับและมลายู หลังจากนั้น พอผมได้ทำงานที่ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเข้าไปมีส่วนรับผิดชอบงานด้านการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาก็รู้สึกชอบ เพราะสามารถใช้ความรู้ที่ตนเองมีอยู่อย่างเต็มที่ อีกทั้งรู้สึกว่าเป็นงานที่เป็นประโยชน์มาก ๆ สุดท้ายผมก็ทำงานนี้อย่างต่อเนื่องมากกว่า 12 ปี
อาจารย์มีความคิดเห็นว่า “สื่อสร้างสังคม” กับ “สังคม สร้างสื่อ” สังคมไทยมีความเอนเอียงไปในทิศทางใด และจะก่อให้เกิดผลกระทบกับสังคมหรือผู้คนอย่างไร
เป็นไปได้ทั้ง 2 ด้านเท่า ๆ กันค่ะ โดยเฉพาะด้านสื่อที่มีส่วนสร้างสังคม สื่อได้ทำหน้าที่ในการหล่อหลอมสังคม ชี้นำสังคมและความสนใจของผู้คนว่าควรสนใจเรื่องอะไร ใครทำอะไร และด้วยเหตุที่สื่อมีจำนวนเพิ่มขึ้นและเข้าถึงได้ง่าย ความรวดเร็วของการสร้างกระแสโดยสื่อ บวกด้วยผู้คนที่ลงมาเล่นกับสื่อ ภาพการทำงานของสื่อที่มีมากมายและหลากหลาย จึงเป็นตัวกำหนดบทบาทและอิทธิพลต่อสังคมไปโดยปริยาย แต่อีกด้าน สังคมก็เป็นตัวสร้างสื่อด้วยเช่นกัน เนื่องจากคุณภาพทางความคิดและมุมมองของคนในสังคมได้ปั้นสื่อให้เป็นแบบเดียวกับที่สังคมนั้นเป็น นั่นคือ “สังคม เป็นเช่นไร สื่อก็เป็นแบบนั้น” และ “สื่อเป็นแบบไหน ก็มาจากสังคมนั่นเอง” เช่นสังคมที่รอรับความช่วยเหลือ ก็มาจากวิธีคิดของคนในสังคมนั้น สื่อจึงฉายภาพและเรื่องราวที่สังคมนั้นเป็น ดังนั้นสื่อและสังคมจึงสลับกันทำหน้าที่ไปมาเป็น “สังคมสร้างสื่อ” และเป็น “สื่อสร้างสังคม” ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคมหรือผู้คนจำต้องปรับไปด้วยกันและในฐานะที่เป็นอาจารย์ด้านการสื่อสาร มองว่าสื่อมีความสำคัญและสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้หากได้รับข้อมูลที่เพียงพอและสมดุล ไม่หนักหรือเอนเอียงในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันเราจะพบว่าการนำเสนอข่าวสารส่วนใหญ่ยังขาดการคัดกรอง แต่เน้นนำเสนอข่าวตามกระแสหรือประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้คนมากกว่าจะเน้นที่คุณภาพและประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ
การใช้ภาษาที่ต่างกันของคนในสังคมเดียวกัน ก่อให้เกิดผลอะไรได้บ้างในเรื่องของการสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
ส่วนตัวน่ะเป็นมุมมองแบบที่ไม่ได้คิดอะไรมาก ผมมองว่าการใช้ภาษาที่แตกต่างกันของคนในสังคมเป็นสิ่งสวยงามและสะท้อนถึงความหลากหลายของกลุ่มคนในสังคมนั้น ๆ แต่หากจะมองเจาะลึกลงไปในประเด็นของการสื่อสารหรือการสร้างความสัมพันธ์ แน่นอน การใช้ภาษาที่แตกต่างกันของคนในสังคมอาจจะเป็นกำแพงหรืออุปสรรคในการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์หากไม่มีบรรยากาศของการเรียนรู้ภาษาที่มีอยู่ในสังคมตรงนั้น เพราะ “ภาษาถือเป็นกุญแจของการสื่อสารและการเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน” และนำไปสู่ความเข้าใจกันและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีบริบทของการใช้ภาษาที่แตกต่าง ของกลุ่มคนในสังคมยิ่งจะต้องทลายกำแพงหรืออุปสรรคทางภาษาให้ได้ โดยจะต้องเสริมสร้างทักษะให้คนในพื้นที่สามารถใช้หรือสื่อสารภาษาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาษามลายูถิ่น ภาษาไทยกลาง และภาษาไทยปักษ์ใต้ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างของการสื่อสารและความเข้าใจกัน และนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้บริบทพหุภาษา-พหุวัฒนธรรมในพื้นที่
ในอนาคตจะมีจำนวนประชากรกลุ่มนี้สูงมาก อาจารย์มีข้อแนะนำอย่างไรให้คนที่กำลังก้าวสู่ “การเป็นผู้สูงวัย” ให้มีชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุขทั้งกายและใจ
คำถามคือเราจะอยู่อย่างไรเมื่อต้องเป็นผู้สูงอายุ คำตอบแรกทางกายต้องมีแผน ต้องวางแผนว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขและพึ่งพาตัวเองได้ เพราะจะทำให้เรามีอิสระในการใช้ชีวิต โดยไม่หวังให้ใครมาช่วยเหลือหรือเลี้ยงดู ซึ่งเงินเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องเตรียมตั้งแต่วันนี้ ก่อนถึงวันที่เราจะก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุ ต่อมาคือทางใจ ต้องมีความสบายใจ หมายถึงอยู่คนเดียวได้โดยไม่เหงา เพราะเมื่อเหงาก็จะเปิดรับสื่อ เมื่อเปิดรับสื่อก็ถูกสื่อหลอก ความสบายใจจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องค้นหาตัวเองให้พบว่าชอบอะไรให้เลือกทำสิ่งนั้น ทำแล้วต้องมีความสุข ทำแล้วไม่เครียด เป็นงานอดิเรก เลี้ยงหมา หรืออะไรก็ได้ที่เป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตที่นำมาซึ่งความไม่เหงาและไม่เครียด
ในฐานะที่ท่านอยู่ในวงการภาษาศาสตร์ ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับความจำเป็นของการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ทั้งในแง่ของการพัฒนาและการอนุรักษ์
ในฐานะนักภาษาศาสตร์ ผมมองว่าการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากจะพบว่ายิ่งนานวันภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นก็ยิ่งถดถอยลงไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมจะต้องตระหนักในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งลุกขึ้นมาอนุรักษ์และพัฒนาภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง เพราะภาษาและวัฒนธรรมถือเป็นมรดกที่สำคัญของแต่ละกลุ่มชน และเราในฐานะที่เป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมดังกล่าวจะต้องมีความรับผิดชอบโดยการอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป เพราะมันคือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเราคือใคร นอกจากนี้ภาษาและวัฒนธรรมยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาและเศรษฐกิจ เป็นต้น
ในการทำงาน ท่านประสบปัญหาหรืออุปสรรคใดบ้าง และมีแนวทางในการแก้ปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไร
ปัญหาในการทำงานของผมคือการขาดการสนับสนุนงานทวิ- พหุภาษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากหน่วยงานหรือผู้บริหารระดับนโยบายในพื้นที่ ปัญหานี้ส่งผลทำให้ทวิ-พหุภาษาไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งเพราะงานดังกล่าวมีการดำเนินงานอย่างสมบูรณ์และพร้อมสำหรับการนำไปต่อยอดและขยายผล สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ สร้างกระบวนการทำงานในรูปแบบของเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานระดับนโยบายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบของคณะกรรมการขับเคลื่อนงานทวิ- พหุภาษาในเชิงยุทธศาสตร์และนโยบาย จากนั้นจัดให้มีการประชุมปฏิบัติการเพื่อร่วมแสวงหารูปแบบและแนวทางในการสร้างความยั่งยืนให้กับงานทวิ-พหุภาษา ผ่านการผลักดันและให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เป็นต้น
ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรว่า “คนรุ่นใหม่คือพลังแห่งอนาคต” และในฐานะที่ท่านได้รับรางวัลศิษย์เก่ารุ่นใหม่ ท่านจะมีแนวทางอย่างไรในการฟื้นฟูและธำรงรักษาภาษาท้องถิ่น เพื่อให้คนรุ่นใหม่มองเห็นคุณค่าและความสำคัญ
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า “คนรุ่นใหม่คือพลังแห่งอนาคต” แล้วก็เป็นพลังสำคัญในการกำหนดการคงอยู่หรือสูญหายไปของภาษาท้องถิ่นในอนาคตด้วย เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่จะต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาท้องถิ่น หนึ่งในแนวทางที่ผมคิดว่าสามารถทำได้ไม่ยากคือการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับคุณค่าและความสำคัญของภาษาท้องถิ่นแก่คนรุ่นใหม่ โดยเน้นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกสนุกและเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เช่น การใช้เรื่องเล่า หรือการแสดงบทบาทสมมุติ เป็นต้น ในขณะเดียวกันจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสหรือเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงทักษะความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาท้องถิ่น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของภาษาท้องถิ่น พร้อมทั้งเกิดความรู้สึกอยากที่จะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาท้องถิ่น