ประวัติห้องสมุด


พ.ศ.2517 ก่อตั้งขึ้นมาพร้อมกับ “โครงการศูนย์ศึกษาวิจัยภาษาและวัฒนธรรมอาเซียอาคเนย์” เมื่อปี 2517 โดยมีพื้นที่ห้องสมุดรวมอยู่ในบริเวณที่ทำการของโครงการฯ ณ ตึกอำนวยการ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช
พ.ศ.2524 โครงการฯ ได้รับการยกฐานะเป็น “สถาบัน” เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2524 ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหิดล มีชื่อเป็นทางการว่า “สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท”
พ.ศ.2526ย้ายที่ทำการมาอยู่ ณ ชั้น 2 อาคารคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งเป็นเพียงห้องอ่านหนังสือขนาดเล็ก
พ.ศ.2527 เริ่มมีบรรณารักษ์ประจำคนแรก คือ นางสาวมารศรี สอนมั่น ห้องสมุดได้ปรับเปลี่ยนระบบการจัดหมวดหมู่หนังสือให้เป็นไปตามระบบมาตรฐานสากล และได้มีบริการยืมระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ทำให้งานบริการของห้องสมุดพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ภายใต้กรอบการบริหารงานของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท การจัดหาสิ่งพิมพ์ในช่วงระยะเริ่มแรก – ปี 2531 มุ่งเน้นจัดหาในสาขาภาษาศาสตร์ (ภาษาศาสตร์และภาษาเอเชียอาคเนย์) ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับมหาบัณฑิตหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวที่เปิดการเรียนการสอน และการวิจัยในขณะนั้น
พ.ศ.2529 โอนย้ายไปสังกัดสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิด พ.ศ. 2530 โดยให้มีการดำเนินงานที่เป็นรูปแบบในมาตรฐานเดียวกัน และใช้ทรัพยากรต่างๆ ร่วมกันอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด
พ.ศ.2532 ห้องสมุดขยายการจัดหาสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามหลักสูตรการเรียนการสอน การวิจัยของสถาบันฯ ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ เช่น หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา หลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการสื่อสารและการพัฒนา(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นหลักสูตรภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม) และหลักสูตรพหุวัฒนธรรมศึกษา(นานาชาติ)
พ.ศ.2535 ย้ายที่ทำการชั่วคราวอีกครั้งหนึ่งไปอยู่ ณ ชั้น 3 อาคารเรียนรวมบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
พ.ศ.2542 ปรับเปลี่ยนระบบการดำเนินงานห้องสมุดเป็นระบบห้องสมุดอัตโนมัติ (Automated Library) เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นทรัพยากรห้องสมุดผ่านระบบสื่อสารอินเตอร์เน็ต ได้ทุกวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย และเริ่มให้บริการยืม-คืน ด้วยระบบ Barcode และในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2542 ห้องสมุดได้ย้ายที่ทำการถาวรมาอยู่ ณ ชั้น 1 อาคารภาษาและวัฒนธรรมสยามบรมราชกุมารี ณ ปัจจุบัน
พ.ศ.2552 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ห้องสมุดสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย” ตามชื่อสถาบันที่ได้ปรับเปลี่ยนใหม่ และในเวลาต่อมาสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ปรับโครงสร้างการดำเนินงานใหม่พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น “หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล” เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 โดยห้องสมุดสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียมีสถานะเป็นห้องสมุดในสังกัด “สำนักงานเครือข่ายบริการ” ของหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล

หัวหน้าห้องสมุด

1.นางสาวมารศรี สอนมั่น   พ.ย. 2527 – มี.ค. 2547
2.นางทิพวรรณ อินทมหันต์มี.ค. 2547 – ต.ค. 2547
3.นางสาวเทพิน จิรคุณเตชะต.ค. 2547 – ก.พ. 2557
4.นางกาญจน์ศิริ พูนทอง ก.พ. 2557 – ต.ค.2564
5.นางสาววิชุภรณ์ บุญธนะไพศาลวงศ์ ต.ค. 2564 – ปัจจุบัน

ภารกิจ


ห้องสมุดสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย เป็นแหล่งทรัพยากรสารสนเทศที่ให้บริการทางด้านภาษาและวัฒนธรรมเอเชียที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน การศึกษาเรียนรู้ และการค้นคว้าวิจัยแก่ อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย โดยเน้นให้บริการ : ด้านภาษาและภาษาศาสตร์ของประเทศในแถบเอเซียและของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ด้านวัฒนธรรมศึกษา(มานุษยวิทยาการแพทย์ พิพิธภัณฑ์ศึกษา มานุษยวิทยาดนตรี สังคมวัฒนธรรมศึกษา พัฒนาชนบทศึกษา อินเดียศึกษา) ด้านภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม(การสอนภาษา การแปล การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมเพื่อการบริหาร) ด้านพหุวัฒนธรรมศึกษา(นานาชาติ) ตามหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับมหาบัณฑิต และดุษฏีบัณฑิต รวมถึงหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนภาษา-วัฒนธรรมไทยสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ตลอดจนให้บริการแก่คณะ/สถาบัน/วิทยาลัยต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดล และบุคคลทั่วไป โดยสามารถเข้าถึงทรัพยากรห้องสมุดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบเครือข่ายห้องสมุดมหาวิทยาลัยมหิดล

ห้องสมุดมีภารกิจที่สำคัญ คือ

  1. ดำเนินงานห้องสมุดให้ตอบสนองยุทธศาสตร์หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย
  2. จัดหาทรัพยากรสารสนเทศให้ตรงตามหลักสูตรการเรียนการสอนและการวิจัยของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โดย
    • 2.1 จัดซื้อด้วยเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
    • 2.2 จัดซื้อด้วยเงินอุดหนุนจากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย และบัณฑิตวิทยาลัย
    • 2.3 ได้รับอภินันทนาการจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
  3. จัดเตรียมทรัพยากรสารสนเทศให้พร้อมเพื่อการบริการ
    • 3.1 ตรวจรับ คัดแยก ลงทะเบียน และเตรียมตัวเล่มสิ่งพิมพ์ให้พร้อมออกให้บริการ
    • 3.2 สร้างระเบียนบรรณานุกรม ระเบียนฉบับ วิเคราะห์หมวดหมู่และกำหนดหัวเรื่องทรัพยากรสารสนเทศลงในฐานข้อมูลระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Sierra
    • 3.3 ซ่อมแซม บำรุงรักษาทรัพยากรสารสนเทศที่ชำรุด
  4. ให้บริการห้องสมุดแก่ผู้ใช้บริการ
    • 4.1 บริการยืม-คืน ทรัพยากรสารสนเทศ ทั้งภายในห้องสมุด ระหว่างห้องสมุดภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล
    • 4.2 บริการจัดหาสำเนาเอกสารจากแหล่งต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
    • 4.3 บริการแนะนำการใช้ห้องสมุด การใช้ฐานข้อมูล การสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศ
  5. ประชาสัมพันธ์ข่าวสารห้องสมุดและข่าวสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Group line, Group mail, Facebook fan page เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ส่งเสริมการใช้บริการและการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดได้ตรงความต้องการ สะดวก รวดเร็ว ทันสมัย

ทรัพยากรประกอบหลักสูตร ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย

หมายเหตุ: จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรม EndNote 21 ก่อนใช้งาน EndNote Library หากยังไม่ได้ติดตั้งโปรแกรม สามารถดูวิธีติดตั้งและดาวน์โหลดโปรแกรม EndNote 21 ได้ที่ https://www.li.mahidol.ac.th/endnote/

พื้นที่รับผิดชอบ


พื้นที่โดยรวม 201.6 ตารางเมตร
พื้นที่ส่วนให้บริการ 151.2 ตารางเมตร
พื้นที่ส่วนปฏิบัติงาน 50.4 ตารางเมตร
จำนวนที่นั่งอ่าน 28 ที่นั่ง

การติดต่อ


นางสาววิชุภรณ์  บุญธนะไพศาลวงศ์

บรรณารักษ์

นางสาวนัทธมน  ขุนพรหม

ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด (ผู้ชำนาญงาน)

ชั้น 1 อาคารภาษาและวัฒนธรรมสยามบรมราชกุมารี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล