หนังสือไทยยวนบ้านท่าเสา : เอกสารเก่าและภาษา
หนังสือ “ไทยยวนบ้านท่าเสา : เอกสารเก่าและภาษา” เป็นผลผลิตจากโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณของ ชาวไทยยวนในเขตภาคกลาง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากเงินรายได้สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2564 โดยมีอาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุข เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่ายอีก 2 หน่วยงานมาร่วมด้วย คือ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ดังมีรายชื่อผู้เข้าร่วม โครงการดังต่อไปนี้
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
อาจารย์ ดร.ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง
อาจารย์ ดร.จตุพร โคตรกนก
อาจารย์ ดร.อุเทน วงศ์สถิตย์
อาจารย์อาภาโสม ฉายแสงจันทร์
อาจารย์พอพล สุกใส
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
อาจารย์ดอกรัก พยัคศรี
นอกจากนี้ยังได้รับความกรุณาจากผู้ที่เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มาร่วมเขียนเนื้อหาในเล่ม ได้แก่ พระมหากวีศักดิ์ ญาณกวิ (วาปีกุลเศรษฐ์) เปรียญธรรม 9 ประโยค วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร, พระครูสังฆรักษ์พนัส ทิพฺพเมธี วัดน้ำลัด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน, นายอนุรักษ์ ก้านจันทร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล, ครูยศพล ไชยโกษี โรงเรียนวัดอินทาราม เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร, นายศักดิ์นรินทร์ พิมพ์วันคำ นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ สถาบันวิจัย ภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย และนางสาวกตัญญุตา มณีพงศ์ นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจารึกภาษาไทยและภาษา ตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
พื้นที่ในการดำเนินโครงการคือ บ้านท่าเสา ตำบลห้วยม่วง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เมื่อเสร็จสิ้นโครงการจึงได้ พิมพ์หนังสือที่แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของการดำเนินงานในพื้นที่ดังกล่าว หนังสือประกอบไปด้วยเนื้อหา 5 บท ชื่อแต่ละบทมีเสียง สัมผัสคล้องจองกัน ได้แก่ ประวัติชุมชน ภาษาของคนบ้านท่าเสา ผ้าห่อคัมภีร์และทะเบียนเอกสารเก่า เกร็ดเรื่องราวท้ายใบลาน และ พระนิพพานสูตรเครื่องหมายกตัญญู ดังมีรายละเอียดดังนี้
บทที่ 1 ประวัติชุมชน
บทนี้มีอาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุข เป็นผู้เขียน เนื้อหากล่าวถึงประวัติหมู่บ้าน พิธีกรรม และประเพณีของชาวไทยยวน บ้านท่าเสา โดยสังเขป
บทที่ 2 ภาษาของคนบ้านท่าเสา
บทนี้มีผู้เขียน 2 คน คือ นายศักดิ์นรินทร์ พิมพ์วันคำ และอาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุข เนื้อหากล่าวถึงภาษาของคนบ้านท่าเสา คือ ภาษาไทยยวน ซึ่งปัจจุบันกำลังถูกแทรกแซงจากภาษาอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเสียงวรรณยุกต์และคำศัพท์ เนื้อหาในบทนี้จึงเป็นหลักฐานที่ช่วยสนับสนุน ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
บทที่ 3 ผ้าห่อคัมภีร์และทะเบียนเอกสารเก่า
บทนี้มีผู้เขียน 2 คน คือ นายอนุรักษ์ ก้านจันทร์ และอาจารย์ ดร.ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง ในบทนี้นายอนุรักษ์เขียนเกี่ยวกับรายละเอียดของผ้าห่อคัมภีร์ที่พบที่วัดท่าเสาว่า ประกอบไปด้วยผ้า ชนิดใดบ้างและข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับผู้สร้างงานศิลป์ประเภทนี้ ส่วนอาจารย์ ดร.ศิริสารได้เขียนเกี่ยวกับ ลักษณะของเอกสารโบราณที่พบที่วัดท่าเสาว่ามีลักษณะทางกายภาพอย่างไร พร้อมทั้งแสดงรายการ ทะเบียนเอกสารโบราณทั้งหมดที่ได้รับการทำสำเนาดิจิทัลแล้ว
บทที่ 4 เกร็ดเรื่องราวท้ายใบลาน
บทนี้มีผู้เขียน 4 คน คือ อาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุข, อาจารย์ ดร.ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง, อาจารย์พอพล สุกใส และนางสาวกตัญญุตา มณีพงศ์ ในบทนี้นางสาวกตัญญุตา มณีพงศ์ เป็นผู้ปริวรรต ข้อความท้ายใบลานทั้งหมดของวัดท่าเสา โดยมีอาจารย์ ดร.ศิริสารและอาจารย์พอพลเป็นผู้ตรวจทาน รอบที่สอง จากนั้นอาจารย์ ดร.ยุทธพรจึงตรวจทานในรอบสุดท้าย พร้อมทั้งสรุปให้เห็นภาพรวมของ เนื้อหาทั้งหมดที่ปรากฏในข้อความท้ายใบลานของวัดท่าเสา เนื้อหาที่ปรากฏได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ เกร็ดประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของคนบ้านท่าเสาในอดีตได้อย่างน่าสนใจ
บทที่ 5 พระนิพพานสูตรเครื่องหมายกตัญญู
บทนี้มีผู้เขียน 3 คน คือ พระมหากวีศักดิ์ ญาณกวิ (วาปีกุลเศรษฐ์), พระครูสังฆรักษ์พนัส ทิพฺพเมธี และครูยศพล ไชยโกษี พระมหากวีศักดิ์เขียนเรื่องข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่อง พระนิพพานสูตรและปริวรรตคัมภีร์เรื่องพระนิพพานสูตร ฉบับอักษรขอมไทย พระครูสังฆรักษ์พนัส ปริวรรตคัมภีร์ใบลานเรื่องพระนิพพานสูตร ฉบับอักษรธรรมล้านนา และครูยศพลปริวรรตคัมภีร์
ใบลานเรื่องพระนิพพานสูตร ฉบับอักษรธรรมลาว เหตุที่คัดเลือกเรื่องพระนิพพานสูตรมานำเสนอในหนังสือเล่มนี้เพราะเป็นวรรณกรรมที่ พบมากที่สุดในบรรดาคัมภีร์ต่าง ๆ ของวัดท่าเสา ชาวบ้านเชื่อว่า หากถวายคัมภีร์พระนิพพานสูตรไว้ในพระพุทธศาสนาแล้วอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ผู้ล่วงลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิดามารดา ผู้ที่ล่วงลับไปนั้นก็จะพ้นจากทุกขเวทนาได้ แล้วก็จะไปเสวยสมบัติในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชาวบ้าน จึงนิยมถวายคัมภีร์เรื่องนี้มากกว่าคัมภีร์อื่น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณธรรมด้านความกตัญญูกตเวทีของคนบ้านท่าเสาได้อย่างชัดเจน หนังสือเล่มนี้ได้จัดพิมพ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วและจะมีการเปิดตัวหนังสือในงานจัตุรัสวัฒนธรรม (MU Cultural Quarter’s) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566