Film Authorship in Contemporary Transmedia Culture: The Paratextual Lives of Asian Auteurs
Amsterdam University Press, Copyright Year 2023
หนังสือ “Film Authorship in Contemporary Transmedia Culture” เกิดขึ้นจากความสนใจของผู้เขียนด้านการเติบโตของ ผู้กำกับภาพยนตร์เอเชียในเวทีภาพยนตร์โลกในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ในระดับที่เรียกได้ว่าผู้กำกับภาพยนตร์กลายเป็นแบรนด์ที่จดจำของ ภาพยนตร์เอเชียมากกว่าตระกูลภาพยนตร์ (Genre) ดารานักแสดง หรือสตูดิโอ หนังสือขยายพรมแดนการศึกษาผู้กำกับภาพยนตร์ ผ่านแนวคิดประพันธกรหรือ Authorship ซึ่งเป็นแนวคิดเก่าแก่ แพร่หลายในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในแวดวงนักวิจารณ์ภาพยนตร์ และมีความสำคัญในการสถาปนาภาพยนตร์ให้เป็นศิลปะ โดยให้สถานะผู้กำกับเป็นดั่งประพันธกรหรือศิลปิน จนนำไปสู่การเกิดขึ้น ของสาขาวิชาภาพยนตร์ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก
หนังสือเล่มนี้ตั้งต้นโดยการกล่าวถึงทิศทางงานวิจัย ยุคหลังประพันธกร (Post-authorship) ซึ่งตั้งคำถามกับภาวะ ทางอำนาจของผู้กำกับ โดยเข้าไปสำรวจพลวัติทางสังคม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อการเติบโตของผู้กำกับกลุ่มใด กลุ่มหนึ่งในเทศกาลและตลาดภาพยนตร์ในแต่ละยุคสมัย กระบวนการศึกษาประพันธกรแบบสะท้อนย้อนคิด (Self- reflexive Authorship) เกี่ยวกับชุดคุณค่าต่าง ๆ ที่กำกับ การรับรู้ของภาพยนตร์เอเชียข้ามชาติ นำไปสู่การทำความเข้าใจ กับสถานะของผู้กำกับภาพยนตร์เอเชียที่เกี่ยวโยงกับภูมิศาสตร์ การเมือง รสนิยมผู้เสพภาพยนตร์ข้ามชาติ การเปลี่ยนแปลงของ พื้นที่สื่อและผู้มีส่วนร่วม ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับ การต่อรองและการสร้างตัวตนของผู้กำกับเองผ่านสารนอกตัวบท (Paratext) และมิติความทรงจำและความทับซ้อนเชื่อมโยงของ เอกสารดังกล่าวผ่านแนวคิด “พาลิมเสส” (Palimpsest)
หนังสือตีพิมพ์ใน “Transmedia Series” สำนักพิมพ์ Amsterdam University Press บทที่ 1 – 3 ของหนังสือกล่าวถึง การสร้างชื่อเสียงในยุคที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับ ผู้กำกับในบริบทข้ามสื่อ (Transmedia) ในพื้นที่ที่แตกต่างกันไป โดยศึกษาผ่านบริบทของเทศกาลภาพยนตร์ ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ (Distributor) และกลุ่มผู้ชมข้ามชาติ กระบวนการผลิตเนื้อหาและ การผลักดันผู้กำกับเหล่านี้เกี่ยวโยงกับการเติบโตของสื่อดิจิทัล บทบาทของโปรแกรมเมอร์ภาพยนตร์ นักวิจารณ์ ซิเนไฟล์/แฟน และวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (Participatory Culture) ที่นำไปสู่ การโลดแล่นข้ามสื่อของเนื้อหาต่าง ๆ อาทิ สูจิบัตร บทความ มิวสิควิดีโอ มีม และแฟนอาร์ท (Fan Art) ส่วนที่สองของหนังสือ ในบทที่ 4 – 6 กล่าวถึงภาวะการเป็นดาราของผู้กำกับ (Star-auteur) ที่แต่ละคนต่างตระหนักดีเกี่ยวกับสถานะความเป็น บุคคลสาธารณะ และความเป็นศิลปินของตนเอง และนำไปสู่ การเลือกนำเสนอภาพและสื่อสารเกี่ยวกับตนเอง (Self-projection) ผ่านรูปแบบและช่องทางที่ออกแบบเองได้ อาทิ หนังสั้น วิดีโอ แนะนำงาน ภาพถ่าย หนังสือสะสม รวมถึงบทสัมภาษณ์ และ การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ ผู้เขียนอภิปรายมิติดังกล่าวผ่าน กรณีศึกษาผู้กำกับภาพยนตร์ไทย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และผู้กำกับภาพยนตร์ฮ่องกง หว่อง กาไว เนื้อหาส่วนนี้ยัง อภิปรายประเด็นเรื่องชื่อเสีย(ง)ที่ถูกตั้งคำถามในยุค #MeToo ผ่านกรณีศึกษาของผู้กำกับเกาหลีใต้ คิม คี-ดุก เพื่อสะท้อน ให้เห็นถึงมิติจริยศาสตร์ของประพันธกร สภาวะการคงอยู่ใน ประวัติศาสตร์ และการคอลเอาต์ (Call-out) เพื่อถอดถอนชื่อ ของผู้กำกับคนใดคนหนึ่งจากพื้นที่สาธารณะ
ทั้งนี้ ผู้เขียนหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะสะท้อนการทำงาน สหศาสตร์ในสาขาภาพยนตร์ศึกษา สื่อศึกษา และวัฒนธรรมศึกษา และสะท้อนให้เห็นมิติพื้นที่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นหมุดหมายสำคัญในการขับเคลื่อนภาพยนตร์เอเชียใน บริบทข้ามชาติต่อไป
อ่านหนังสือเพิ่มเติมได้ทาง
https://www.aup.nl/en/book/9789462987531/film-authorship-in-contemporary-transmedia-culture