ประวัติความเป็นมา


สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2517 มีฐานะเป็นโครงการบัณฑิตศึกษาในสังกัดของบัณฑิตวิทยาลัย โดยใช้ชื่อว่า “โครงการศูนย์ศึกษาวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์” เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยมหิดลได้เล็งเห็นความจำเป็นของการผลิตนักวิชาการที่มีความรู้และความเข้าใจในศาสตร์และวิธีวิทยาทางภาษาศาสตร์ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์กับผู้คนที่มีเชื้อสาย เผ่าพันธุ์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตที่แตกต่างกัน จึงสนับสนุนการจัดตั้งโครงการศูนย์ศึกษาวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ขึ้น โดยมี อาจารย์ ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล เป็นผู้อำนวยการคนแรก และเปิดรับนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาษาศาสตร์ (ภาษาศาสตร์และภาษาเอเชียอาคเนย์) รุ่นแรก ในปี พ.ศ. 2519 นับเป็นหลักสูตรระดับมหาบัณฑิตหลักสูตรแรกที่ริเริ่มศึกษาภาษาเอเชียอาคเนย์

การดำเนินงานของโครงการศูนย์ศึกษาวิจัยภาษาและวัฒนธรรมอาเชียอาคเนย์เริ่มแรกได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือจากสถาบันภาษาศาสตร์ภาคฤดูร้อน (Summer Institute of Linguistics: SIL) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ส่งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาศาสตร์เอเชียอาคเนย์มาช่วยสอนและให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ด้วยบทบาทและผลงานของการดำเนินงานของโครงการฯ มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ จนได้รับการยกฐานะเป็นสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 มีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหิดล และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย” เมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจของสถาบันฯ ที่มีการขยายขอบเขตงานกว้างขวางมากขึ้น

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียได้รับอนุมัติให้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาทางด้านภาษาและวัฒนธรรม รวม 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพหุวัฒนธรรมศึกษา (นานาชาติ) หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม 

คณาจารย์และนักวิจัยของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียได้ศึกษาค้นคว้าและผลิตผลงานวิจัยชิ้นจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำไปปรับให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและต่อยอดองค์ความรู้ทั้งทางด้านการวิจัย การศึกษาด้านภาษา วัฒนธรรม และการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับสังคมทั้งในระดับชาติและนานาชาติ องค์ความรู้จากผลงานวิจัยหลายชิ้นนำมาใช้เพื่อต่อยอดในการพัฒนาประเทศและใช้ขับเคลื่อนผลักดันเป็นนโยบายระดับชาติอีกด้วย งานวิจัยและโครงการต่าง ๆ ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ครอบคลุมการศึกษาความหลากหลายของกลุ่มคนทั้งในเขตสังคมเมืองและสังคมต่างจังหวัด ตลอดจนสังคมประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะงานวิจัยที่เน้นศึกษาเพื่อส่งเสริมการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคมพหุภาษาพหุวัฒนธรรม การศึกษากลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนเปราะบางต่าง ๆ อาทิ กลุ่มคนผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มคนชาติพันธุ์ กลุ่มคนแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มคนด้อยโอกาสอื่น ๆ ในสังคม 

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ผลงานเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม สถาบันฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการเป็นสถาบันชั้นนำในระดับนานาชาติทางด้านการศึกษาวิจัยทางด้านภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งเน้นการทำงานวิจัย การศึกษา และการบริการวิชาการที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมในประเทศไทย รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมความเข้มแข็งของสังคมพหุภาษาพหุวัฒนธรรม สนับสนุนการทำงานขับเคลื่อนและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามแนวทางขององค์กรสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ในการสร้างเสริมและพัฒนาความเข้าใจอันดีระหว่างผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ สถาบันฯ ยังมีบทบาทในการสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ และเผยแพร่วัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ รวมไปถึงวัฒนธรรมอินเดียและจีนให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายกว้างขวางมากขึ้นอีกด้วย จึงนับได้ว่า สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศที่ดำเนินการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับภาษา วัฒนธรรม และการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมของกลุ่มสังคมพหุภาษาพหุวัฒนธรรมที่ขยายขอบเขตไปทั้งในและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ทางสถาบันฯ เป็นแหล่งความรู้ แหล่งอ้างอิงทางวิชาการ ตลอดจนสร้างบุคลากรที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญจนเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ โดยมีผลงานได้รับรางวัลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเป็นที่ประจักษ์

ตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษ บุคลากร นักศึกษา และศิษย์เก่าของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์เชื่อมโยงไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมในทุกมิติ สนับสนุนการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ ด้วยความตระหนักร่วมกันว่า “ภาษาและวัฒนธรรมเป็นหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ปรัชญา


“ภาษาและวัฒนธรรม เป็นหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน”

วิสัยทัศน์


สถาบันชั้นนำระดับนานาชาติในการศึกษาวิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

พันธกิจ


  • วิจัยและนวัตกรรม (Research and innovation)
    มุ่งผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางสังคมด้านภาษาและวัฒนธรรมที่เป็นเลิศและชี้นำทางนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • การเรียนการสอน (Education)
    ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และการศึกษาตลอดชีวิต บนพื้นฐานการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนากำลังคนของประเทศที่มีทักษะด้านภาษาและวัฒนธรรม
  • บริการวิชาการ (Academic services)
    มุ่งมั่นบริการวิชาการที่ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญทางการวิจัยและการศึกษาด้านภาษา วัฒนธรรม การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม และศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ในระดับชาติและนานาชาติ ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม และสร้างรายได้
  • เครือข่ายพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic partnership)
    ยกระดับการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ด้านการวิจัย การศึกษา และบริการวิชาการ ในระดับชาติและนานาชาติ
  • ด้านบริหารจัดการเพื่อความมั่นคงยั่งยืนขององค์กรและเท่าทันการปรับตัวทางดิจิทัล (Management for the organizational sustainability and digital literacy and transformation)
    ส่งเสริมการปรับตัวทางดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการบริหารองค์กรและยกระดับการทำงาน

อำนาจหน้าที่และภารกิจตามกฎหมายอ่านต่อ